เปิดปรากฏการณ์ 5 จี จับสัญญาณสมรภูมิรบค่ายมือถือ

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปิดปรากฏการณ์ 5 จี จับสัญญาณสมรภูมิรบค่ายมือถือ

Date Time: 24 ก.พ. 2563 06:01 น.

Summary

  • การประมูลคลื่นความถี่ เพื่อนำไปให้บริการ 5 จี ที่เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 16 ก.พ.2563 ที่ผ่านมา นอกจากจะนำพาประเทศชาติและประชาชนชาวไทยไปสู่บริการเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายความเร็วสูง 5 จียุคใหม่

Latest

ตัวเต็ง ผู้ว่าฯ รฟม. คนใหม่ จับตาคณะกรรมการสรรหาเคาะชื่อ 25 เม.ย.นี้

การประมูลคลื่นความถี่ เพื่อนำไปให้บริการ 5 จี ที่เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 16 ก.พ.2563 ที่ผ่านมา นอกจากจะนำพาประเทศชาติและประชาชนชาวไทยไปสู่บริการเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายความเร็วสูง 5 จียุคใหม่ ที่คนทั้งโลกเชื่อว่าจะนำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งสำคัญ เป็นการก้าวไปสู่ยุคที่หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence-AI) รวมทั้งอินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (Internet of Things-IoT) เข้ามามีบทบาทอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว

การประมูลที่เพิ่งผ่านพ้นไป ยังก่อให้เกิดปรากฏการณ์ 3-4 อย่าง ที่คาดว่าจะสะท้อนให้เห็นถึงภาพการแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคม มูลค่าหลายแสนล้านบาทในอนาคตข้างหน้า เป็นการยกระดับการให้บริการไปสู่บริบทใหม่ ไม่ใช่เกมที่จำกัดเฉพาะ 3 ค่ายมือถือหลักอย่างเอไอเอส ทรูมูฟ และดีแทค อีกต่อไป

เนื่องจาก 2 รัฐวิสาหกิจโทรคมนาคม ทั้งบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท ที่เดิมเชื่อกันว่าเข้าประมูลในฐานะไม้ประดับ กลับเคาะราคาแข่งจนได้คลื่นไปครองจำนวนไม่น้อย ทุ่มเงินประมูลสูงกว่าดีแทค ซึ่งใช้เงินไปน้อยที่สุดด้วยซ้ำ

อะไรคือแรงขับเคลื่อนต่อการตัดสินใจทั้งหมด “ทีมเศรษฐกิจ” มองเห็นปรากฏการณ์ใด หลังเหตุการณ์ในครั้งนี้ และมันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างไร .... เรื่องราวเหล่านั้นกำลังปรากฏแก่สายตาคุณผู้อ่าน นับจากบรรทัดนี้

การพิสูจน์ตัวเองของเอไอเอส

เป็นอีกครั้งที่ค่ายมือถือเบอร์ 1 ของประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ได้แสดงแสนยานุภาพด้วยพลังใจ และพลังเงินตราร้อยแรงม้า ทุ่ม 42,060 ล้านบาท ซื้อคลื่น 5 จี ที่นำออกประมูลในครั้งนี้ไปครบ 3 คลื่นความถี่ ทั้ง 700 MHz (เมกะเฮิรตซ์), 2600 MHz และ 26 GHz (กิกะเฮิรตซ์)

ทำให้ประกาศตัวว่ามีคลื่น 5 จี เพื่อให้บริการมากสุดจำนวน 1,330 MHz ครอบคลุมคลื่นความถี่ต่ำ 700 MHz ซึ่งเอื้อต่อบริการครอบคลุมพื้นที่ห่างไกล จำนวน 30 MHz (รวมคลื่นเดิมที่มีอยู่) คลื่นความถี่ปานกลาง 2600 MHz จำนวน 100 MHz และคลื่นความถี่สูง 26 GHz ที่เหมาะกับการให้บริการในเมือง จำนวน 1,200 MHz

หลังชำระเงินค่าประมูลงวดแรกเป็นรายแรกสำหรับคลื่น 2600 MHz จำนวน 2,093 ล้านบาท (10% ของมูลค่าเต็มที่ประมูลได้) เมื่อวันที่ 21 ก.พ. เอไอเอส ซึ่งพร้อมยิ่งกว่าพร้อม แถมได้เปรียบด้านฐานะการเงินทุกประตู จึงคว้าใบอนุญาต 5 จีใบแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยไปครองได้สำเร็จ

โดย สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเอไอเอส ประกาศในงานแถลงข่าววันเดียวกันว่า การถือครองคลื่นความถี่ 4 จีและ 5 จี ที่มากที่สุดในอุตสาหกรรม รวมทั้งสิ้น 1,420 MHz (ไม่รวมคลื่นที่ให้บริการผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร) ทำให้เอไอเอสสามารถ ยืนหยัดความเป็นผู้นำอันดับ 1 ในประเทศได้อย่างสมภาคภูมิ จากนั้นได้กดปุ่มเปิดใช้โครงข่าย 5 จี บนคลื่น 2600 MHz ทันที ณ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ส่วนการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ เชื่อว่าจะมีขึ้นไม่นานนับจากนี้

การประกาศศักดาของเอไอเอสในครั้งนี้ ไม่ใช่การกล่าวอ้างที่เกินจริง เมื่อทุกก้าวย่างที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นว่า เอไอเอส ต้องการคงสถานะความเป็นผู้ให้บริการเบอร์ 1 และพร้อมทุ่มเพื่อบริการที่มีคุณภาพ

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ พูดกับสื่อมวลชนบ่อยครั้งว่า เอไอเอสเคยผ่านเหตุการณ์ที่กระทบต่อขวัญและกำลังใจพนักงานมาหลายครั้งหลายหน ครั้งหนึ่งที่จำฝังใจเป็นครั้งที่พ่ายแพ้การประมูลคลื่น 900 MHz (แพ้ให้แก่แจสโมบายและทรู) ทำให้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่อาจมีคลื่นไม่พอต่อการให้บริการ แม้ในที่สุดจะได้คลื่นมาครอง เพราะรับช่วงซื้อคลื่นแทน (แจสโมบายไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าคลื่นได้) แต่ต้องจ่ายในมูลค่าแพงลิบลิ่ว ไม่สมเหตุสมผล

“ครั้งนี้ เมื่อมีโอกาส เราต้องทำเต็มที่เพื่อให้ได้คลื่นมามากที่สุด เนื่องจากในยุค 5 จี จำนวนคลื่นสำคัญต่อคุณภาพบริการมาก”

นับใบอนุญาตที่กวาดไปจากการประมูลครั้งล่าสุด 23 ใบ (จาก 49 ใบ) ด้วยจำนวนคลื่นที่ประมูลไปสูงสุด 1,310 MHz และมูลค่าสูงสุด 42,060 ล้านบาท เอไอเอสพิสูจน์แล้วว่าทำจริง ลูกค้า 42 ล้านราย อุ่นใจได้

ความพยายามที่ไม่หยุดยั้งของทรู

แม้จะเป็นบริษัทที่มีปัญหาด้านสภาพคล่องด้วยมีหนี้สินจำนวนมาก วงกู้เงินเต็มเพดานตลอด แต่ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ไม่เคยยอมแพ้ เพราะ ศุภชัย เจียรวนนท์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งขยับขึ้นเป็นประธานกรรมการสั่งลุย

ครั้งนี้ก็เช่นกัน ทรู ซึ่งชูจุดแข็งเป็นผู้ให้บริการมือถือสัญชาติไทยรายเดียวที่เหลืออยู่ (แม้ยอมเจียดหุ้นราว 20% ให้ไชน่าโมบายล์จากจีน มาร่วมถือหุ้น แต่หุ้นส่วนใหญ่ยังอยู่ในมือฝั่งไทย) ได้พยายามแข่งขันกับเอเอไอเอส เบอร์ 1 อย่างเต็มที่ แน่นอนเพื่อบริการที่ดีสำหรับฐานลูกค้าของทรูกว่า 30.1 ล้านราย

ทรู ซึ่งเคยเป็นผู้ให้บริการเบอร์ 3 ตามหลังดีแทค ใช้ความพยายามที่มีอยู่ไม่จำกัด ปาดหน้าเค้กครองส่วนแบ่งตลาดขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ได้ราว 3 ปีก่อน เพื่อขยับขึ้นมาแข่งขันเคียงบ่าเคียงไหล่กับเบอร์ 1 อย่างเอไอเอส

ในการประมูล 5 จีที่ผ่านมา ทรู ในนามทรูมูฟ คว้าใบอนุญาตไปทั้งสิ้น 17 ใบ เป็นคลื่น 2600 MHz จำนวน 90 MHz และคลื่น 26 GHz จำนวน 800 MHz รวมจำนวน 890 MHzใช้เงินไปทั้งสิ้น 21,448 ล้านบาท เมื่อรวมกับคลื่นเก่าที่มีอยู่ ทำให้ทรูมีคลื่นให้บริการทั้งสิ้นรวม 990 MHz (ไม่รวมคลื่นที่ให้บริการผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร) แม้ไม่มากเท่าเอไอเอสแต่เพียงพอต่อสัดส่วนฐานลูกค้าที่มีน้อยกว่าแน่นอน

เมื่อทรูมีคลื่นมากพอ (แม้ไม่มากเท่า) เอไอเอสย่อมประมาททรูไม่ได้ และไม่ลืมว่าทรูเคยฉวยความได้เปรียบเปิดตัวบริการ 3 จี และ 4 จีปาดหน้ามาแล้ว แถมชูจุดแข็งบริการอินเตอร์เน็ตผ่านมือถือจนเอาชนะดีแทคได้สำเร็จ

ในการแถลงข่าวสัปดาห์ก่อน ทรูชูจุดแข็งว่ามีคลื่นความถี่ครอบคลุม 7 ย่าน โดยมีคลื่นความถี่ 850 MHz ที่ให้บริการร่วมกับพันธมิตร “แคท” งอกออกมา แตกต่างจากเอไอเอสและดีแทค ซึ่งไม่มีคลื่นนี้ อีกทั้งยังประกาศด้วยว่า ทรูเป็นผู้นำเปิดตัวบริการ 3 จี และ 4 จีมาแล้ว พอถึง 5 จี ย่อมต้องการเป็นผู้นำเช่นกัน แม้ว่าเอไอเอสจะชำระเงิน และชิงเปิดใช้โครงข่าย 5 จี เชิงสัญลักษณ์ตัดหน้าไปก่อน หลังจากนี้ทรูจะแก้เกมอย่างไร เป็นเรื่องต้องติดตาม

สิ่งที่ใครๆประมาททรูไม่ได้ ยังอยู่ที่ความเป็นพันธมิตรกับไชน่า โมบายล์ จากประเทศที่เปิดใช้ 5 จีแล้ว แถมมี Use Case (การใช้งานจริง) ทั้งในระดับลูกค้าทั่วไปและระดับอุตสาหกรรม ซึ่งน่าจะช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีและประสบการณ์ให้กับทรูได้มาก

ระยะปลอดภัยของดีแทค

มาถึงวันนี้ การสูญเสียมาร์เก็ตแชร์จนหล่นลงมาเป็นเบอร์ 3 ของดีแทค น่าจะมีเหตุผลหลักมาจากนโยบายของบริษัทแม่อย่าง “เทเลนอร์” ที่ต้องการรักษาขนาดกะทัดรัดของดีแทคเอาไว้ ภายใต้ฐานลูกค้าราว 20 ล้านราย เพื่อให้ดีแทค ซึ่งมีสภาพคล่องเหลือเฟือ จ่ายปันผลให้กับเทเลนอร์ได้สม่ำเสมอ จึงรักษาระดับการลงทุนไว้อย่างจำกัด

นี่น่าจะเป็นเหตุผลหลักที่ระยะหลังๆ ดีแทค ละเลยการเข้าประมูลคลื่นใหม่ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการทุ่มเงินประมูลแข่งขันรุนแรงกับอีก 2 ค่ายมือถือที่เหลือ เพราะการประมูลซื้อคลื่นถือเป็นต้นทุน

เหตุผลดังกล่าวทำให้พอเข้าใจได้ว่า ทำไมดีแทคจึงประมูล 5 จีที่คลื่นความถี่เดียว 26 GHz และประมูลไปเพียง 2 ใบอนุญาต จำนวน 200 MHz ทำให้ดีแทคมีคลื่นรวมทั้งหมด (รวมคลื่นเดิม) 270 MHz (ไม่รวมคลื่นที่ให้บริการผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร) ใช้เงินไป 910 ล้านบาท น้อยที่สุดในบรรดาผู้เข้าประมูลทั้งหมด

คลื่นที่น้อยกว่า สะท้อนให้เห็นถึงอนาคตของบริษัทที่มีความพิเศษนี้อย่างไร คงต้องถามใจลูกค้าดีแทคเท่านั้น

อเล็กซานดรา ไรช์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดีแทค ซึ่งเพิ่งหลุดออกจากตำแหน่งก่อนการประมูล 5 จีไม่ถึงเดือน เคยเล่าให้สื่อมวลชนฟังว่า เธอผ่านงานมาหลายประเทศ ไม่เคยเห็นลูกค้าที่ไหนพิเศษเท่าลูกค้าของดีแทค พวกเขาพร้อมอยู่กับดีแทคเสมอ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หลายคนเปลี่ยนใจ แต่ก็ยังไม่ปิดเบอร์ดีแทค และพร้อมกลับมาตลอดเวลา นั่นคงเป็นเพราะติดภาพลักษณ์ที่แฮปปี้ น่ารัก จริงใจ ที่ดีแทคเคยทำไว้ในอดีต

อย่างไรก็ตาม หากฟังคำแถลงของชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค ที่ได้รับมอบหมายให้เข้ามาดำรงตำแหน่งก่อนการประมูล 16 วัน จะเข้าใจแจ่มแจ้ง เพราะประกาศว่าดีแทคจะแข่งในเกมของตัวเอง

เกมของดีแทคคือการแข่งขันบนคลื่น 26 GHz ที่มี ซึ่งแม้จะชำระเงินค่าคลื่น 974 ล้านบาทแล้ว แต่แผนการให้บริการยังไม่ชัดเจน เพราะการให้บริการบนคลื่น 26 GHz ยังไม่มีโทรศัพท์มือถือรองรับ เป็นการให้บริการผ่านอุปกรณ์อินเตอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงตามบ้าน (Fix Wireless) ไม่เหมือนคลื่น 2600 MHz ที่มีมือถือรองรับแพร่หลาย

ในระยะแรก ดีแทคจึงน่าจะใช้คลื่น 5 จี เป็นหัวจักรบุกเบิกตลาดอินเตอร์เน็ตบ้านมากกว่า แตกต่างจากเอไอเอสและทรู ที่บุกตลาดลูกค้ามือถือทันที

กระนั้นก็ใช่ว่าดีแทคจะสิ้นไร้ไม้ตอก เพราะกำลังเตรียมพัฒนาเครือข่าย 4 จีให้มีความเร็วยิ่งขึ้น โดยมีคลื่นใหม่มาช่วยเสริม แม้อาจเสียโอกาสในการให้บริการ 5 จี สำหรับลูกค้าส่วนหนึ่งที่อาจอยากลอง คงต้องภาวนาให้ลูกค้ากลุ่มนั้นมีไม่มากพอที่จะทำให้สูญเสียฐานลูกค้าไปอย่างมีนัยสำคัญ และหวังว่า 4 จีที่ดีขึ้นกว่าเดิม จะดึงรั้งลูกค้าส่วนใหญ่เอาไว้ได้ เพราะตอนนี้มือถือ 5 จี ยังมีราคาสูง ลูกค้าส่วนใหญ่น่าจะยังไม่มีแรงบันดาลใจเปลี่ยนเครื่อง

ในอนาคต เมื่อ กสทช.นำคลื่น 3500 MHz ซึ่งเป็นคลื่นมาตรฐาน 5 จี ที่มีเครื่องมือถือรองรับพอๆกับคลื่น 2600 MHz ออกมาประมูล เชื่อว่าดีแทคคงจะไม่รอช้า ไม่เช่นนั้นแม้แต่
น้ำบ่อหน้า ก็คงไม่มีให้หวัง

การมาถึงของ “แคท-ทีโอที”

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้าร่วมประมูลของแคท และทีโอที เกิดขึ้นตามใบสั่งของ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่ต้องการสร้างการแข่งขันด้านราคา หาเม็ดเงินเข้ารัฐให้ได้มากที่สุด ซึ่งก็นับว่าเสร็จสมอารมณ์หมายเพราะประมูลได้เงินไปมากถึง 100,521 ล้านบาท

การประมูล 5 จีครั้งนี้ จึงถือเป็นครั้งแรกที่แคท และทีโอทีโดดเข้าร่วม โดยต้องประมูลคลื่นไม่ซ้ำกัน เพราะมีผู้ถือหุ้นรายเดียวกันหลังการประมูลเสร็จสิ้น ผลปรากฏ แคทเคาะราคาแข่งอย่างแข็งแกร่ง จนเป็นผู้ชนะในคลื่น 700 MHz จำนวน 20 MHz ในราคา 34,306 ล้านบาท กลายเป็นผู้ให้บริการที่ใช้เงินมากเป็นอันดับ 2 รองจากเอไอเอส ส่วนทีโอที ประมูลคลื่น 26 GHz ไปกรุบกริบจำนวน 400 MHz ในราคา 1,795 ล้านบาท

ก่อให้เกิดคำถามตามมาทันที โดยเฉพาะต่อข้อกังวลที่ว่า แคท ซึ่งควักเงินซื้อคลื่นไปถึง 34,306 ล้านบาท จะมีความสามารถทำธุรกิจแข่งขันกับเอกชนได้หรือไม่ เพราะการได้มาซึ่งคลื่นในครั้งนี้ มีต้นทุนที่ต้องควัก ไม่ใช่ได้มาฟรีๆ เหมือนเมื่อก่อน

โดยเหตุผลที่แคท ซึ่งอยู่ระหว่างควบรวมกับทีโอที ต้องควักเงินประมูลคลื่นในมูลค่าที่สูงกว่า เพราะมีความพร้อมมากกว่า นอกจากมีการว่าจ้างที่ปรึกษา ศึกษาถึงความเป็นไปได้ ราคาที่เหมาะสมแล้ว แคทยังมีหน้าตัก โดยบอร์ดอนุมัติกรอบวงเงินประมูลไว้ให้ไม่เกิน 40,000 ล้านบาท โดยเงินที่ใช้ มาจากสภาพคล่องที่มี เนื่องจากผลประกอบการเมื่อปี 2562 มีรายได้ 87,000 ล้านบาท กำไร 39,000 ล้านบาท

ต่อเรื่องนี้ พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของแคท อธิบายว่า เมื่อใบอนุญาตของแคทสิ้นสุดลงในเดือน ก.ย.2568 แคท (รวมทั้งทีโอที) จะไม่มีคลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการอีกต่อไป

ขณะที่ผลประกอบการของแคท สัดส่วนรายได้กว่า 50% มาจากธุรกิจมือถือ แม้ส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากการให้บริการโดยตรง แต่เป็นรายได้ที่มาจากการให้ค่ายมือถือ (ทรูมูฟ) เช่าใช้คลื่นเพื่อให้บริการ

หากไม่มีคลื่นรองรับ จะเดินต่อไปลำบาก การประมูลได้คลื่น 700 MHz มา จะทำให้แคทเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ โดยจะเน้นให้ค่ายมือถือ หรืออาจเป็นผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่าย (MVNO) เช่าใช้บริการในลักษณะขายส่ง โดยคลื่น 700 ถือเป็นคลื่นยุทธศาสตร์สำคัญ ใช้ลงทุน 5 จี ประหยัดกว่าคลื่นอื่นราว 3 เท่า ซึ่งได้เตรียมเงินลงทุนโครงข่ายไว้ต่างหากอีก 17,000 ล้านบาท

อีกไม่นาน เมื่อแคทและทีโอทีควบรวมสำเร็จ แปลงเป็นร่าง “เอ็นที” บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด นอกจากคลื่น 700 ก็จะมีคลื่น 26 GHz อีก 400 MHz ที่ทีโอทีประมูลมาเพิ่ม ทำให้มีคลื่นมากถึง 540 MHz เพียงพอในการให้บริการ ในฐานะผู้ให้บริการโครงข่ายลักษณะขายส่ง โดยหวังว่า จะพยุงองค์กรให้อยู่รอดต่อไปได้ แต่จะทำได้สำเร็จหรือไม่ ต้องดูกันแบบยาวๆ และเอาใจช่วยหนักมาก.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ