นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กรณีข่าวเจ้าของที่ดินบนย่านถนนรัชดาที่มีมูลค่าเป็นหมื่นล้านบาท ได้ปลูกสวนมะนาวบนที่ดินเพื่อให้เข้าข่ายการเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งเสียภาษีในอัตราตั้งแต่ 0.01-0.1% เป็นขั้นบันไดตามมูลค่าที่ดิน
ขณะที่หากปล่อยทิ้งไว้รกร้างจะต้องเสียภาษีที่ดินในกลุ่มของการเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่งมีอัตราตั้งแต่ 0.3% นั้น จะต้องดูการตีความของกฎหมายให้ดี โดยเฉพาะคำว่าที่ดินรกร้างว่างเปล่า และไม่ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ ซึ่งจะต้องมาตีความว่า การไม่ใช้ประโยชน์ตามควรแก่สภาพนั้น เป็นอย่างไร อาทิ การนำที่ดินมูลค่าสูงๆมาทำประโยชน์ในมูลค่าต่ำนั้น ถือว่าเป็นการไม่ใช้ประโยชน์ตามควรแก่สภาพหรือไม่ เป็นต้น “จากการประเมินเบื้องต้น หากที่ดินปลูกมะนาวเข้าข่ายเป็นเกษตรกรรม จะเสียภาษีราว 2 ล้านบาทเท่านั้น แต่หากไม่เข้าเกณฑ์การเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จะเสียภาษีราว 20 ล้านบาท”
สำหรับประเด็นที่มีการระบุว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะทำให้ท้องถิ่นมีรายได้ต่ำกว่าการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว โดยมีการยกกรณีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของห้างสรรพสินค้า ว่า กฎหมายใหม่ทำให้ห้างเสียภาษีน้อยกว่ากฎหมายเดิมนั้น เช่น บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา ปี 2562 เสียภาษี 43.9 ล้านบาท ภาษีปี 2563 จำนวน 8.7 ล้านบาทนั้นไม่เป็นความจริง อีกทั้งเป็นการคำนวณเฉพาะภาษีที่เป็นตัวอาคารที่คิดภาษีตามตารางเมตร ยังไม่ได้คำนวณภาษีที่คิดบนมูลค่าราคาประเมินที่ดิน ซึ่งที่ดินที่เป็นที่ตั้งห้างสรรพสินค้าส่วนใหญ่จะมีมูลค่าสูง ฉะนั้น โดยเฉลี่ยแล้วรายได้ของท้องถิ่นจะใกล้เคียงกับกฎหมายเดิม.