นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังเป็นประธานประชุมหารือ และมอบนโยบายด้านเศรษฐกิจเปิดเผยว่า ได้มอบให้ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เป็นประธานหัวหน้าทำงานเพื่อหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันการเงินเฉพาะกิจ สภาหอการค้าไทย ธนาคารพาณิชย์ หาแนวทางดูแลเอสเอ็มอีและกลุ่มคนตัวเล็ก โดยจะรวบรวมมาตรการต่างๆ จัดเป็นแพ็กเกจเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 ม.ค.2563
“ก่อนหน้านี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเกษตรมาก แต่ช่วงเศรษฐกิจถดถอย เอสเอ็มอีก็ได้รับผลกระทบรุนแรง จึงต้องเข้ามาดูแลเอสเอ็มอี 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเอสเอ็มอีที่แบกรับภาระอยู่มาก โดยจะช่วยเหลือกลุ่มนี้ให้อยู่รอดและฟื้นตัวได้ และกลุ่มเอสเอ็มอีที่ยังแข็งแรงอยู่ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาในอนาคต”
ทั้งนี้ หน่วยงานหลักที่จะให้เข้ามาดูแลเอสเอ็มอี คือ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งเป็นผู้ให้ค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี ทำให้ธนาคารต่างๆ มั่นใจในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้เอสเอ็มอีขนาดเล็กเข้าถึงแหล่งเงินทุน และมีโอกาสในการเข้าประมูลงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ส่วนฝั่งธนาคาร ได้มีการหารือเกี่ยวกับการผ่อนปรนเกณฑ์ต่างๆ ในการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวด รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ ว่าจะสามารถผ่อนปรนเกณฑ์บางอย่าง เพื่อให้เอสเอ็มอีขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้นหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงการคลังต้องไปหารือกับ ธปท.อีกครั้ง
“ผมอยากให้กระทรวงการคลังไปพูดคุยกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เรื่องการนำเงินบางส่วนจากกองทุนเอสเอ็มอี 10,000 ล้านบาทที่ใช้ในการปรับเปลี่ยนเอสเอ็มอีให้ก้าวทันเทคโนโลยี มาช่วยเหลือสภาพคล่องของเอสเอ็มอี “
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ออมสิน จะเข้าไปช่วยเอสเอ็มอีผ่านการปล่อยสินเชื่อโดยให้ บสย.มาช่วยค้ำประกัน และออมสิน จะเข้าไปสนับสนุนโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟท์โลนให้แก่ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์เหล่านี้ นำเงินไปปล่อยกู้ให้แก่เอสเอ็มอีอีกทอดหนึ่ง.