แม้ตั้งแต่ต้นปี 62 “คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ” หรือ กกร. ที่มี รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ได้ออกประกาศให้สินค้ายาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เป็นสินค้าและบริการควบคุมประจำปี 62
รวมทั้งได้ออกประกาศ กกร.ฉบับที่ 52 กำหนดมาตรการกำกับดูแล และมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อเร็วๆนี้ โดยกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชน ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายส่ง ต้องแจ้งราคาซื้อขายยาให้แก่กรมการค้าภายใน
โดยได้กำชับว่า ราคาขายที่จะส่งมาให้กรม ต้องเป็นราคาที่บวกกำไรเพิ่มได้บ้าง แต่ไม่ใช่เอาค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเภสัชกร ค่าซื้อที่ดินเพื่อขยายกิจการโรงพยาบาล ค่าเก็บสต๊อกยา ค่าแอร์และอื่นๆอีกจิปาถะมารวมไว้ด้วย แล้วขายราคาสูงโอเว่อร์เอาเปรียบประชาชนนั้น
แต่จนถึงขณะนี้ยังมี “หมูไม่กลัวน้ำร้อน” โรงพยาบาลเอกชนจำนวนมากยังคิดค่ายาโดยบวกกำไรสูงสุดโต่ง เอาเปรียบประชาชนอย่างน่ารังเกียจ!!
จากการตรวจสอบราคายาในเว็บไซต์กรมการค้าภายใน www.dit.go.th ซึ่งเป็นราคาที่โรงพยาบาลเอกชนกว่า 300 แห่ง จากทั้งหมด 354 แห่ง ได้ส่งมาให้กรมตามที่กำหนดไว้ในประกาศ กกร.ฉบับที่ 52 นั้น พบว่าโรงพยาบาลจำนวนมากยัง “โขก” ค่ายาสูงมาก และมีกำไรเกินกว่า 1,000% ด้วยซ้ำ
ยกตัวอย่างเช่น ยาพาราเซตามอล แก้ปวด ลดไข้ ยี่ห้อ Tylenol ต้นทุนเม็ดละ 0.16-8.00 บาท โรงพยาบาลเอกชนขายตั้งแต่ 1-22 บาท, ยาไอบิวพรอเฟน แก้ปวด ลดไข้ และแก้อักเสบ ยี่ห้อ HEIDI ต้นทุนเม็ดละ 0.28-2.15 บาท แต่ขาย 1-28 บาท, ยาเซเลโคซิบ ต้านการอักเสบ บรรเทาปวดและบวม ยี่ห้อ CELEBREX ต้นทุนแคปซูลละ 3.14-44 บาท ขาย 28-246 บาท
หรือยาคาร์โบซิสเทอีน แก้ไอแบบมีเสมหะ รักษาโรคระบบทางเดินหายใจ ยี่ห้อ FLEMEX ต้นทุนเม็ดละ 1.08-4 บาท แต่ขาย 5-37 บาท, ยาเมเฟนามิค แอซิด แก้ปวดประจำเดือน ยี่ห้อ Ponstan ต้นทุนเม็ดละ 0.86-4.42 บาท ขาย 5-31 บาท เป็นต้น
พวก “หมูไม่กลัวน้ำร้อน” เช่นนี้ ในเร็วๆนี้ กรมการค้าภายในจะเชิญมาชี้แจงเหตุผลที่ขายราคาสูง ถ้าชี้แจงไม่ได้หรือเหตุผลฟังไม่ขึ้น เตรียมใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 จัดการขั้นเด็ดขาด โดยการขายสินค้าราคาสูงเกินจริงมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถึงแม้ยังมีพวกชอบ “ลองของ” อยู่ในสารบบ แต่จาก “ของขลัง” ประกาศ กกร.ฉบับที่ 52 ทำให้ราคายา และค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งปรับลดลงแล้ว เพราะหลายเสียงกระซิบบอก “นายวิชัย โภชนกิจ” อธิบดีกรมการค้าภายใน ว่า ค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งถูกลงกว่าเดิมมาก
จากที่ผ่านมา คนไทยต้องกระเป๋าฉีกหลังรักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งหากเป็นพวกเศรษฐีมีเงินถุงเงินถังคงไม่รู้สึกอะไร แต่สำหรับชนชั้นกลางลงไปที่บังเอิญเจ็บป่วยฉุกเฉินแล้วต้องเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือเดินทางสะดวกที่สุด และโรงพยาบาลนั้นเป็นโรงพยาบาลเอกชน บางรายลมจับล้มพับเจ็บหนักกว่าเดิมก็มี
ส่วนมาตรการต่อไป กรมการค้าภายใน อยู่ระหว่างจัดกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มคิดค่ายาและค่าบริการแบบแพงสุดโต่ง, กลุ่มที่คิดระดับปานกลาง และกลุ่มที่คิดแบบอนุเคราะห์ผู้ป่วย
คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางเดือน ต.ค.นี้ จากนั้นจะเผยแพร่บนเว็บไซต์ www.dit.go.th ให้ประชาชนได้ตรวจสอบก่อนใช้
บริการจะได้ไม่ “คิดผิดจนตัวตาย” เหมือนที่ผ่านมา ที่ไม่รู้ข้อมูลใดๆของโรงพยาบาลเอกชนเลย ต่อเมื่อได้หลงเข้าไปรักษาแล้วจึงได้รู้ความจริง
เมื่อดำเนินการกับยาเสร็จแล้ว ขั้นต่อไปจะทำในลักษณะเดียวกันนี้กับเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริง ทั้งราคาต้นทุน ราคาขาย ของโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่ง
“นายวิชัย” ยืนยันว่า มาตรการกำกับดูแลยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เป็นประโยชน์กับประชาชนมาก จะ
เดินหน้าทำให้เสร็จทั้งระบบ ไม่ใส่ใจว่าจะมี “มือมืด” เล่นใต้ดินเขี่ยตนให้พ้นจากตำแหน่งก็ตาม
เช่นเดียวกับ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ที่แม้เพิ่งรับตำแหน่ง “เจ้ากระทรวง” ได้ไม่กี่เดือน แต่ยืนยันหนักแน่นว่า จะเดินหน้าเรื่องนี้เช่นกัน เพราะเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง!!
สิริวรรณ พงษ์ไพโรจน์