“ศิริ” ล้อมวงประชุม กบง.ปลายเดือน เม.ย.นี้ เพื่อหามาตรการส่งเสริมให้ปั๊มน้ำมันนำร่องขายบี 10 เป็นน้ำมันทางเลือกของผู้บริโภคเดือน พ.ค.นี้ หลังค่ายผู้ผลิตรถยนต์จากสหรัฐฯและสหภาพยุโรป แจ้งว่ายังไม่พร้อมให้มีการใช้บี 10 แม้ว่าค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นยืนยันว่าสามารถใช้ได้ อ้อนคนไทยนอนไม่ค่อยหลับเพราะเครียดเรื่องราคาปาล์มสดตกต่ำ เป็นห่วงเกษตรกร แม้จะหาสารพัดมาตรการมาแก้ปม
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ในปลายเดือน เม.ย.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริม ให้มีการจำหน่ายน้ำมันดีเซลบี 10 (บี 100 ผสมน้ำมันดีเซล 10%) เพื่อเป็นน้ำมันทางเลือกให้กับประชาชน จากปัจจุบันที่กำหนดบังคับให้น้ำมันดีเซลเป็นมาตรฐานบี 7 โดยคาดว่าจะมีการนำร่องการจำหน่ายในสถานีบริการ (ปั๊ม) นำร่อง ภายในเดือน พ.ค.นี้ ขณะเดียวกัน ที่ประชุมก็จะหารือถึงความเป็นไปได้ ในการลดราคาจำหน่าย เพื่อส่งเสริมการใช้บี 10 ระยะแรกด้วย
“สมาคมผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น (JAMA) ได้มีข้อคิดเห็นในเรื่องการเพิ่มสัดส่วนผสมบี 100 ในน้ำมันดีเซลเป็นบี 10 ว่า ไม่ขัดข้องที่จะให้ใช้น้ำมันดีเซลพื้นฐานที่บี 10 ดังนั้น การหารือร่วมกับผู้ผลิตยานยนต์ในประเทศทุกยี่ห้อ เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา ค่ายรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น ก็ยืนยันว่าสามารถใช้บี 10 ได้ไม่มีปัญหา สำหรับรถยนต์ที่ผลิตตั้งแต่ปีการผลิต 2011 เป็นต้นมา หรือรถยนต์อายุไม่เกิน 6-7 ปี แต่หากเป็นรถยนต์รุ่นเก่าๆ ก็ต้องนำไปตรวจสภาพก่อน แต่ขณะที่ค่ายผู้ผลิตรถยนต์จากสหรัฐฯและสหภาพยุโรป (อียู) แจ้งว่ายังไม่พร้อมที่จะใช้บี 10 ดังนั้นผมก็จะให้สถานีบริการน้ำมันเป็นผู้เลือกว่าจะจำหน่ายบี 10 หรือบี 7
หรือจะจำหน่ายทั้ง 2 ชนิดก็ได้ เพื่อเป็นทางเลือกผู้บริโภค”
สำหรับราคาขายปลีกบี 10 จะมีการจูงใจ ด้วยการใช้มาตรการลดราคาขายปลีกมากน้อยเพียงใด ต้องให้ที่ประชุม กบง.เป็นผู้พิจารณา และขณะนี้ยอมรับว่ามีผู้เสนอให้จูงใจการใช้ระยะสั้นๆ ด้วยการเสนอให้ลดราคาขายปลีกให้ต่ำลงกว่าบี 7 ประมาณ 1 บาทต่อลิตร โดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันเข้าไปอุดหนุน แต่ขณะที่บางส่วนก็เห็นว่าไม่จำเป็นต้องลดราคาก็ได้ เพราะการใช้บี 10 เพราะต้องการเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันให้มีช่องทางการตลาดจำหน่ายปาล์มน้ำมันได้เพิ่มขึ้นจากปกติ จึงมั่นใจว่าคนไทยจะยอมรับในราคาจำหน่าย หากไม่มีการอุดหนุนได้เช่นกัน
ทั้งนี้ JAMA ได้แจ้งให้ตนทราบว่า ยังมีข้อกังวลในเรื่องของมาตรฐานน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ (บี 100) ว่าควรจะต้องมีกรดโมโนกลีเซอไรด์ไม่เกิน 0.4% ซึ่งขณะนี้ผู้ผลิตบี 100 ของประเทศไทยมีเพียง 2 รายที่ผลิตได้ตามมาตรฐานดังกล่าว ล่าสุด ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้ส่งเสริมการจำหน่ายน้ำมันบี 20 โดยราคาจะต่ำกว่าน้ำมันดีเซลปกติ 5 บาทต่อลิตร ไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค.นี้ ซึ่งล่าสุด ค่ายรถโตโยต้า และอีซูซุก็ออกมาระบุ
ว่า รุ่นรถกระบะที่ใช้บี 20 ได้ว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งเป้าหมายของกระทรวงพลังงาน ต้องการส่งเสริมการใช้เพื่อดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ให้ได้ 2.5 ล้านตันต่อปี เพื่อยกระดับราคาปาล์มสด ให้กับเกษตรกร
นายศิริ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ยอมรับว่าตนนอนไม่หลับเกือบทุกคืน ถึงกรณีที่ราคาปาล์มสดที่เกษตรกรจำหน่ายในราคาที่ตกต่ำ แม้ว่า ล่าสุดก็ยังคงตกต่ำต่อเนื่องโดยกลับมาเคลื่อนไหวที่ 1.90-2.40 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ทั้งๆที่กระทรวงพลังงานได้ออกมาตรการต่างๆในการดูดซับ CPO ด้วยการกำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ที่โรงไฟฟ้าบางปะกงจำนวน 160,000 ตัน ซึ่งกำหนดรับซื้อ CPO ที่ระดับ 18 บาทต่อ กก.และราคาปาล์มสดที่ซื้อจากเกษตรกร 3-3.20 บาทต่อ กก. โดยคาดว่าจะส่งปาล์มสดดังกล่าวให้ กฟผ. ครบตามจำนวน 160,000 ตัน ภายในสิ้นเดือน เม.ย.และจะใช้ผลิตไฟฟ้าจนหมดภายในเดือน มิ.ย.
“กระทรวงพลังงานไม่ได้เชี่ยวชาญในกระบวน การค้าขายปาล์มสด แต่มีความตั้งใจจริงที่จะช่วยเกษตรกร ในเมื่อปาล์มราคายังไม่สูงขึ้นเราก็ต้องพยายามต่อไป ส่วนกรณีมีคนระบุว่ามีไอ้โม่งมาเกี่ยวข้องกินส่วนต่างราคาปาล์มสดที่ กฟผ.รับซื้อ เรื่องนี้ น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่าไม่มีผู้ใดมีผลประโยชน์ในเรื่องดังกล่าว”
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กล่าวว่า ธพ.ได้วางเป้าหมายจะขยายกลุ่มผู้ใช้น้ำมันบี 20 ไปยังกลุ่มรถยนต์ดีเซลขนาดเล็ก โดยการเร่งหารือกับผู้จำหน่ายรถยนต์แต่ละค่าย เพื่อผลักดันการใช้น้ำมันบี 20 ในปริมาณ 15 ล้านลิตรต่อวัน และบี 7 ที่ 50 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งจะสามารถดูดซับ CPO ได้ 2 ล้านตันต่อปี ให้ได้ตามยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันของประเทศ และปัจจุบันมีสถานีที่จำหน่ายน้ำมันบี 20 จำนวน 156 สถานี และสถานที่เป็นจุดจ่ายน้ำมันสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ (Fleet) รวม 173 แห่ง.