เจรจาโครงการไฮสปีดเทรน เชื่อม 3 สนามบิน ตั้งข้อสังเกตใครได้ประโยชน์ แล้วรัฐเสียประโยชน์จริงหรือ ...
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าโครงการเจรจาเรื่องสัญญาโครงการไฮสปีดเทรน หรือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และการลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งยังมีหลายประเด็นที่การรถไฟ ยังไม่เคลียร์ เพียงย้ำว่า การรถไฟจะไม่รับเงื่อนไขใดๆ นอกทีโออาร์เพราะหวั่นรัฐเสียประโยชน์ แต่จะหันไปเรียกบีทีเอสมาเจรจา
ทั้งนี้ มีการตั้งคำถามว่า แล้วรัฐเสียประโยชน์จริงหรือไม่ เพราะซีพีไม่เคยยื่นตัวเลข 117,200 ล้านบาท และ บีทีเอส ไม่เคยยื่นตัวเลข 169,000 ล้านบาท แต่มีบุคคลปริศนา เอาตัวเลขที่เอกชนขอรัฐสนับสนุนเท่ากันปีที่ 6-10 นำมาคิดมูลค่าปัจจุบันเอง โดยใช้ตัวเลขดอกเบี้ย Discount rate 2.375% ซึ่งดอกเบี้ยอัตรานี้ ไม่มีธนาคารที่ไหนปล่อยให้เอกชนกู้ และถ้าคิดอัตรานี้ จะเท่ากับบีทีเอสขอรัฐสนับสนุน 187,100 ล้านบาท ไม่ใช่ 169,000 ล้านบาทตามข่าว
นอกจากนั้น หากทำต้นทุนเงินกู้ให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริง โดยใช้ดอกเบี้ยที่ 5% จะเท่ากับว่า ซีพีขอรัฐสนับสนุนเพียง 90,722 ล้านบาท ในขณะที่ บีทีเอสขอรัฐสนับสนุนสูงถึง 144,508 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเสนอเกินกรอบทีโออาร์แต่แรก
และการที่ซีพี เสนอขอรัฐสนับสนุนที่ 90,722 ล้านบาท และขอให้รัฐเอาเงินส่วนที่ตำ่กว่ากรอบครมอนุมัติอยู่ 28,703 ล้านบาท มาตั้งกองทุนสำรองเงินกรณีฉุกเฉิน (Contingent Fund) จำนวน 28,000 ล้านบาท เพื่อลดความเสี่ยงโครงการ หากโครงการไม่ประสบปัญหาทางการเงิน กองทุนนี้ก็ไม่ต้องมาช่วยเหลือโครงการ ซึ่งรวมเงินที่ซีพีเสนอ รวมกับกองทุนสำรองของรัฐกรณีฉุกเฉิน ก็ยังต่ำกว่า กรอบครมอนุมัติที่ 119,425 ล้านบาท รวมถึงไม่ตอบคำถามหลายข้อจากห้องเจรจา แต่จะเร่งเชิญรายที่สองมาเจรจา ถือว่าประเทศชาติเสียประโยชน์หรือไม่.