พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อปี 61 ยังโตตามกรอบ 1.07% ปี 62 ตั้งเป้า 0.7-1.7%

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อปี 61 ยังโตตามกรอบ 1.07% ปี 62 ตั้งเป้า 0.7-1.7%

Date Time: 2 ม.ค. 2562 17:18 น.

Video

Nokia ทำยังไง? ทุกวันนี้ถึงทำธุรกิจสบายกว่าตอนขายมือถือ | Digital Frontiers

Summary

  • ก.พาณิชย์ เผย เงินเฟ้อปี 61โตตามกรอบ 1.07% ตามราคาพลังงาน-สินค้าเกษตร-ค่าเช่าบ้านเพิ่ม ส่วนปี 62 ตั้งเป้าโต 0.7-1.7% แต่ไตรมาสแรกคาดเงินสะพัดเลือกตั้งดันขยายตัวมากกว่า 0.86%...

Latest


ก.พาณิชย์ เผย เงินเฟ้อปี 61โตตามกรอบ 1.07% ตามราคาพลังงาน-สินค้าเกษตร-ค่าเช่าบ้านเพิ่ม ส่วนปี 62 ตั้งเป้าโต 0.7-1.7% แต่ไตรมาสแรกคาดเงินสะพัดเลือกตั้งดันขยายตัวมากกว่า 0.86%...

เมื่อวันที่ 2 ม.ค.2562 น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาสินค้าและบริการ (เงินเฟ้อ) ว่า ในเดือน ธ.ค.61 เงินเฟ้อทั่วไปของไทยมีค่าดัชนีอยู่ที่ 101.73 เพิ่มขึ้น 1.07% เมื่อเทียบกับปี 60 ส่วนเมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.61 ลดลง 0.65% และเมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.60 เพิ่มขึ้น 0.36% เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 แต่เป็นการขยายตัวแบบชะลอลงเป็นเดือนที่ 4 จากการลดลงของราคาพลังงาน และราคาผลผลิตการเกษตรบางชนิดตามปริมาณผลผลิตที่ออกมาก ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการหมวดอื่นยังขยายตัวได้

สำหรับเงินเฟ้อทั้งปี 61 เพิ่มขึ้น 1.07% อยู่ในกรอบคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ 0.8-1.6% โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาพลังงาน ค่าเช่าเคหสถาน ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ เพิ่มขึ้น ในขณะที่อาหารสด โดยเฉพาะราคาผักและผลไม้ลดลงตามปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น 

”ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อปี 61 เพิ่มขึ้น 1.07% มาจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมาจากค่าเช่าบ้านที่เพิ่มขึ้น หลังจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แยกการเก็บค่าเช่าบ้านออกจากค่าน้ำ ค่าไฟ, ราคาสินค้าเกษตรสำคัญเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาหาร เพราะความผันผวนของฤดูกาล และภัยธรรมชาติ ที่ทำให้ผลผลิตลดลง แต่ความต้องการทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น จึงดันให้ราคาสูงขึ้น รวมถึงความต้องการในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่องจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และนโยบายของภาครัฐที่กระตุ้นการใช้จ่ายและเพิ่มกำลังซื้อ ทำให้ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และผลักดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นตาม”

ส่วนการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน ในปี 61 เป็นผลจากการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เช่น ก๊าซหุงต้ม ค่าขนส่ง รวมทั้งค่าเช่าสถานที่ ที่ไม่ได้ปรับขึ้นมานานแล้ว ประกอบกับกำลังซื้อและความต้องการของผู้บริโภคยังคงไปได้ดี ทำให้ผู้ประกอบการปรับขึ้นราคาสินค้าในหมวดนี้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ

ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานทั่วไป ที่หักราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดและพลังงานออกจากการคำนวณ เดือน ธ.ค.61 อยู่ที่ 102.30 เพิ่มขึ้น 0.71% เมื่อเทียบกับปี 60 ส่วนเมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.61 เพิ่มขึ้น 0.01% และเมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.60 เพิ่มขึ้น 0.68%

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวต่อถึงแนวโน้มเงินเฟ้อในปี 62 ว่า กระทรวงพาณิชย์ ประมาณการณ์เงินเฟ้อปี 62 ขยายตัว 0.7-1.7% โดยมีค่ากลางที่ 1.2% หากแยกเป็นรายไตรมาส คาดว่า ไตรมาส 1 จะเพิ่มขึ้น 0.86%, ไตรมาส 2 เพิ่ม 0.98%, ไตรมาส 3 เพิ่ม 1.27% และไตรมาส 4 เพิ่ม 1.81% ภายใต้สมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 3.5-4.5% น้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีที่ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และค่าเงินบาทอยู่ที่ 32.5-33.5 บาท/เหรียญฯ

โดยปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อปี 62 เพิ่มขึ้นมาจากราคาพลังงาน ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น, การลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่ทิศทางที่ดีขึ้น, ราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง ฯลฯ ขณะที่ราคาสินค้าอุตสาหกรรม ไม่น่าปรับขึ้น หรืออาจปรับขึ้นไม่มากนัก แม้จะมีแรงกดดันจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นจนอาจทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น เพราะยังมีการแข่งขันสูงจากสินค้านำเข้า ผู้ประกอบการอาจชะลอปรับขึ้นราคา หรือปรับขึ้นไม่มากนัก, การส่งออกไทย คาดขยายตัวได้ ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อราคาสินค้าและกำลังซื้อในประเทศ ส่วนค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งผลให้ต่อต้นทุนนำเข้าและเพิ่มรายได้จากการส่งออก จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวถึงการเลือกตั้งในประเทศประมาณเดือน ก.พ.62 ว่า น่าจะทำให้เงินเฟ้อไตรมาสแรกขยับขึ้นได้มากกว่า 0.86% เพราะจะทำให้มีเงินสะพัดจากการใช้จ่ายในการหาเสียง มีการซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการหาเสียง เช่น ไม้ทำป้ายหาเสียง ป้ายไวนิล รถกระบะ ฯลฯ ขณะเดียวกัน การเลือกตั้งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างประเทศ อาจทำให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น และช่วยดันให้การลงทุน และการส่งออกดีขึ้น ถือเป็นการเพิ่มความต้องการใช้ในประเทศ ส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้.




Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ