อัทธ์ พิศาลวานิช - พิมพ์ชนก วอนขอพร - ปานปรีย์ พหิทธานุกร
หลังจากเปิดศึกรอบแรกเขย่าโลกรอบแรกไปแล้ว เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุด สัปดาห์ที่ผ่านมาประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ของสหรัฐฯ เปิดศึกรอบ 2 กับประเทศคู่ค้าใหญ่อย่างสาธารณรัฐประชาชนจีนอีกระลอก
จากรอบแรกที่สหรัฐฯได้ประกาศเพิ่มกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีนไปนับพันรายการในอัตรา 20-25% มูลค่ารวม 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และจีนได้ดำเนินการตอบโต้ทันควันด้วยการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯกว่า 600 รายการ ในอัตราและมูลค่าเดียวกัน เปิดฉากสงครามการค้าชนิด “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน”
ล่าสุด ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีกกว่า 5,700 รายการ มูลค่ากว่า 200,000 ล้านเหรียญฯ มีผลตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ทางการจีนประกาศ “ดับเครื่องชน” ในทันที ด้วยการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯกว่า 5,200 รายการ มูลค่ากว่า 60,000 ล้านเหรียญฯ พร้อมประกาศจะยื่นเรื่องร้อง “องค์การการค้าโลก” ที่สหรัฐฯใช้กำแพง
ภาษีเป็นเครื่องมือเล่นงานคู่ค้า
เมื่อ 2 ผู้นำโลกระอุสงครามการค้าเต็มรูปแบบราว “ช้างสารชนกัน” เช่นนี้ บรรดาประเทศผู้ส่งออกสินค้าทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยเราก็ไม่ต่างไปจาก “หญ้าแพรก” ที่พร้อมจะถูกหางเลขเอาได้ทุกเมื่อ “ทีมเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในวงการการค้าของไทยต่อบรรยากาศสงครามการค้าที่กำลังระอุแดดอยู่ในเวลานี้
เริ่มต้นจาก “นายปานปรีย์ พหิทธานุกร” อดีตผู้แทนการค้าไทย ที่กล่าวกับ “ทีมเศรษฐกิจ” ว่า สงครามการค้าในครั้งนี้เป็น “สงครามการค้าขนาดใหญ่สุดในประวัติศาสตร์” ที่จะยืดเยื้อมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ เหตุผลที่ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ขุดเอานโยบายที่ “ตกยุค” และ “สวนกระแสโลก” ขัดต่อหลักการสำคัญการแข่งขันและการค้าเสรีมาเล่นงานพี่ใหญ่จีนในครั้งนี้ มีเป้าหมายสำคัญ 2 ประการคือ เพื่อสร้างความนิยมทางการเมืองของตนเองเพื่อโกยคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาคองเกรส กลางเทอมในเดือน พ.ย.นี้
และอีกเป้าหมายสำคัญคือ “การหยุดความยิ่งใหญ่ของจีน” ที่กำลังไต่เพดานขึ้นเป็นผู้นำโลกแทนสหรัฐอเมริกา เพื่อรักษาและดำรงความเป็นผู้นำโลกของสหรัฐฯ ตามที่ทรัมป์ประกาศไว้ในการหาเสียงเลือกตั้ง คือ การทำให้สหรัฐฯกลับมายิ่งใหญ่ “Make America Great Again”
รวมทั้งจีนยังสร้างอิทธิพลและแสนยานุภาพทางการทหาร ขยายอาณาบริเวณไปยังทะเลจีนใต้ ขยายอิทธิพลทางการค้าไปทั่วโลก ผ่านโครงการ One belt one road (OBOR) และล่าสุดเพิ่งประกาศยุทธศาสตร์ Made in China ที่ตั้งเป้าภายในปี 2025 จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำทางนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ของโลก รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี 5 จีด้วย จีนจึงถือเป็น “ตัวอันตราย” ในสายตาของสหรัฐฯ
“เป้าหมายและเส้นทางอนาคตของจีน ทำให้ทรัมป์กลัว จึงต้องรีบสกัดเพื่อหยุดความยิ่งใหญ่ โดยอ้างการขาดดุลการค้า เพราะจีนอุดหนุนการส่งออก บิดเบือนค่าเงินหยวน ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และกล่าวหาจีนขโมยเทคโนโลยีของสหรัฐฯ จึงใช้มาตรการกีดกันการค้าขึ้นกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ซึ่งแม้จะได้รับความเสียหายทั้ง 2 ประเทศ แต่ทรัมป์มองว่าจีนจะเจ็บกว่าเพราะจีนส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯมูลค่ามหาศาล”
อย่างไรก็ตาม แม้สงครามการค้าที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องของ 2 ประเทศใหญ่ แต่ก็ส่งผลสะเทือนไปทั้งโลก เพราะมูลค่าเศรษฐกิจของจีนและสหรัฐฯรวมกันถึง 40% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือจีดีพีของโลก ทั้งยังส่งผลกระทบต่อระบบการค้าพหุภาคี ที่จะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย
ล่าสุดสถาบันการเงิน ING ได้คาดว่า การค้าระหว่างประเทศของโลกจะหดตัวลงถึง 2.5% ของมูลค่าการค้าโลกที่มีมูลค่าราว 80 ล้านล้านเหรียญฯ ขณะที่ “แจ็ค หม่า” ประเมินว่าสงครามที่สหรัฐฯพุ่งเป้าใส่จีนจะส่งผลกระทบยืดเยื้อต่อไปอีก 20 ปี และจะสร้างความเสียหายต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง!
ส่วนผลกระทบที่จะเกิดต่อไทยนั้น อดีตผู้แทนการค้าไทยมองว่า ประเทศไทยต้องประเมินสถานการณ์ให้ออก และจำเป็นต้องเร่งวางแผนรับมือ โดยไทยต้องเปิดเกมรุกมากกว่าตั้งรับ จะทำการค้าระหว่างประเทศแบบเดิมๆ ด้วยการขอผ่อนผัน ยกเว้นภาษี ลดภาษี โดยไม่มีอำนาจต่อรองใดๆไม่ได้แล้ว
โดยรัฐบาลต้องปรับยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศใหม่ร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ให้เศรษฐกิจไทยได้รับประโยชน์จากสงครามการค้าที่วันนี้มหาอำนาจทั้งสองยังไม่ได้มองเราเป็นศัตรูทางการค้า และควรเร่งหาทางออกเรื่องสินค้าที่ผลิตจากไทย ซึ่งอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่ถูกนำไปผลิตสินค้าในจีน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดรวมทั้งหาตลาดใหม่ๆรองรับ
“โอกาสยังเป็นของไทย ต้องเร่งเปิดเจรจาการค้าเสรีแบบทวิภาคีกับประเทศคู่ค้าหลัก รวมทั้งรองรับการลงทุนจากสหรัฐฯและจีนเพื่อส่งออก แต่ต้องไม่อยู่ในข่ายที่โดนกำแพงภาษีของประเทศคู่ค้า สถานการณ์นี้จะเป็นบทเรียนสำคัญในการวางแผนยุทธศาสตร์ชาติในระยะยาว เพราะโลกยุคปัจจุบัน เหตุการณ์ต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาทางเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็วฉับพลัน หากแผนระยะยาวของเราไม่มีความยืดหยุ่นพอที่จะให้รัฐบาลในอนาคตปรับตัวไปกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป อาจก่อปัญหาในการบริหารเศรษฐกิจในอนาคตอย่างมาก”
เช่นเดียวกับ “รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช” ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ให้ความเห็นต่อสงครามการค้า “สหรัฐฯ-จีน” ครั้งนี้ว่า มีแนวโน้มจะยืดเยื้อแน่นอน เพราะทั้ง 2 ประเทศยังคงมีท่าทีแข็งกร้าว โดยทุกครั้งที่สหรัฐฯประกาศจะขึ้นภาษี จีนก็ประกาศขึ้นภาษีตอบโต้ทันที
“สงครามการค้าที่เกิดขึ้นนั้น มองว่าเป็นความ “ตั้งใจ” ของประธานาธิบดีสหรัฐฯในแง่การเมืองระหว่างประเทศที่ไม่ต้องการให้จีนขึ้นมาเป็นหมายเลข 1 ของโลกตามนโยบาย “Made in China 2025” ที่ตั้งเป้าหมายจะขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของอุตสาหกรรมโลก เช่น รถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะใช้เทคโนโลยีขั้นสูง”
ขณะเดียวกัน สหรัฐฯยังต้องการแก้ไขปัญหาขาดดุลการค้ากับจีนเฉลี่ยปีละเกือบ 400,000 ล้านเหรียญฯ รวมถึงปัญหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และมีนโยบายกำหนดให้นักลงทุนต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในจีนต้องถ่ายทอดเทคโนโลยี และเปิดเผยความลับทางการค้า ซึ่งทำให้เกิดการประกาศสงครามการค้าและขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีกครั้งจำนวน 5,745 รายการ รวมมูลค่า 200,000 ล้านเหรียญฯ โดยจะเก็บในอัตรา 10% ตั้งแต่ 24 ก.ย.เป็นต้นไปและอีก 25% ในปีหน้า จากที่ก่อนหน้าขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนไปแล้วมูลค่า 50,000 ล้านเหรียญฯ
“อย่างไรก็ตาม สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะยังไม่ส่งผลกระทบถึงการส่งออกสินค้าไทยในปีนี้ เพราะดูจากมูลค่าการส่งออกของไทยจนถึงขณะนี้ยังดีอยู่ และน่าจะขยายตัวได้ตามเป้าหมาย แต่ปีหน้าเป็นเรื่องแน่นอน เพราะในสินค้าที่สหรัฐฯ จะขึ้นภาษี 200,000 ล้านเหรียญฯ เป็นการขึ้นภาษีถึง 25% เริ่มมีผลปีหน้า จึงน่าจะทำให้มูลค่าส่งออกของไทยปีหน้าลดลง 1-2% จากปีนี้ รวมถึงจะทำให้เศรษฐกิจโลกในปีหน้าลดลง 0.5-1.0% ด้วย”
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสงครามการค้า การส่งออกสินค้าไทยบางรายการ อาจได้รับประโยชน์จากการส่งออกไปทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ และสินค้าสหรัฐฯในตลาดจีนอย่างกลุ่มสินค้าเกษตร อาหารทะเล ที่เมื่อจีนขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ก็อาจหันมานำเข้าจากไทยได้
ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ยังกล่าวด้วยว่า มาตรการทางการค้าที่สหรัฐฯนำมาใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของตนนั้น มีส่วนสำคัญทำให้การค้าโลกเปลี่ยนแปลงไป เพราะแต่ละประเทศจะหันมาใช้มาตรการปกป้องตนเองแทนการเปิดเสรี ขณะเดียวกันสหรัฐฯยังต้องการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) และเจรจาการค้าแบบทวิภาคีมากขึ้น ตรงข้ามกับจีนที่จะกลับมามีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้น
“วิกฤตินี้เป็นโอกาสของจีนที่จะแสดงบทบาทการเป็นผู้นำของโลก เพราะนายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีนพูดถึงการค้าเสรีและเป็นธรรม (Free and Fair Trade) เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ แต่นายทรัมป์กลับปกป้องการค้าและธุรกิจของสหรัฐฯ ดังนั้นประเทศต่างๆจะรวมตัวกันมากขึ้นและโดดเดี่ยวสหรัฐฯ สุดท้ายที่นายทรัมป์บอกว่าอเมริกาต้องมาก่อน (America First) จะกลายเป็นอเมริกาผู้โดดเดี่ยว (America Alone)”
เมื่อแกนการค้าโลกเปลี่ยน ไทยต้องลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และหันมาพึ่งเอเชียรวมถึงจีนมากขึ้น โดยเร่งผลักดันการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา 6 ประเทศให้จบโดยเร็ว เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้า การลงทุนระหว่าง 16 ประเทศให้มากขึ้น
ไทยต้องเร่งหาตลาดใหม่ๆเพิ่มเติมเพื่อกระจายความเสี่ยงด้านการค้า การส่งออก ไม่ควรพึ่งตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป โดยตลาดที่น่าสนใจสำหรับไทย มีทั้งอินเดีย บราซิล รัสเซีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง แต่ต้องพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและหาทางดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะจากนี้ นักลงทุนสหรัฐฯที่ลงทุนในจีน หรือนักลงทุนจีนที่ลงทุนในสหรัฐฯ อาจย้ายฐานลงทุนไปประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยด้วย
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวกับ “ทีมเศรษฐกิจ” ว่ากระทรวงได้หารือกับหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อเตรียมรับมือผลกระทบสงครามการค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อกำหนดจุดยืนที่เหมาะสมของไทยท่ามกลางสงครามการค้า
โดยจากการวิเคราะห์ของ สนค.พบว่า เป็นโอกาสที่ไทยจะส่งออกสินค้าไปทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ และทดแทนสินค้าสหรัฐฯในตลาดจีนได้ โดยสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในตลาดจีนทดแทนสินค้าจากสหรัฐฯ อาทิ สินค้าเกษตร เช่น ถั่วแห้ง แผ่นยางสดรมควัน ข้าวสี ยางแท่ง, ผักผลไม้สดแช่แข็งแช่เย็นและแปรรูป เช่น กล้วย เม็ดมะม่วงหิมพานต์ มะพร้าว ฝรั่ง มะม่วง มังคุด มะละกอ สับปะรด เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป เช่น ปลาทูน่าบิ๊กอาย ปลาทูน่าท้องแถบ ปลาทูน่าครีบเหลืองสดและแช่แข็ง เนื้อปลาแช่แข็ง, อาหารปรุงแต่งและเครื่องดื่ม ข้าวสี ยางแท่ง มะพร้าว ฝรั่ง มะม่วง มังคุด น้ำผึ้งธรรมชาติ กรดซิตริก เครื่องยนต์สันดาปภายใน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้สงครามการค้าได้ทำการส่งออกสินค้าไทยบางรายการที่สหรัฐฯใช้มาตรการทางการค้าอย่างมาตรการ “เซฟการ์ด” ในสินค้าแผงโซลาร์เซลล์ และมาตรการขึ้นภาษีในสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม จนทำให้การส่งออกสินค้าเหล่านี้ลดลงไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในวงจำกัด
“แต่สินค้าที่น่าห่วงคือ ยานยนต์ และชิ้นส่วน ที่สหรัฐฯอยู่ระหว่างการพิจารณาภาษีนำเข้าที่จะประกาศในเร็วๆนี้ ซึ่งอาจทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบ เพราะไทยผลิตชิ้นส่วนจำนวนมากและอยู่ในห่วงโซ่การผลิตยานยนต์ของโลก ซึ่งเรื่องนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เตรียมทำแผนรับมือไว้แล้วเพื่อความไม่ประมาท”
ทั้งหมดเป็นบทสรุปที่ทุกภาคส่วนของไทยไม่ควรนิ่งนอนใจ และหามาตรการรับมือไว้แต่เนิ่นๆ.
ทีมเศรษฐกิจ