เผยคนไทยเริ่มมี "จิตสำนึก" ม.หอการค้าชี้คอร์รัปชันดีขึ้น-เงินใต้โต๊ะลด

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เผยคนไทยเริ่มมี "จิตสำนึก" ม.หอการค้าชี้คอร์รัปชันดีขึ้น-เงินใต้โต๊ะลด

Date Time: 17 ส.ค. 2561 10:30 น.

Summary

  • ม.หอการค้าไทยเผยดัชนีคอร์รัปชันไทยเดือน มิ.ย.61 อยู่ที่ 55 ดีขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนเมื่อเดือน ธ.ค.60 ชี้ดัชนีการสร้างจริยธรรมและจิตสำนึกอยู่ที่ 64 ดีขึ้น 4 ปีติดต่อกันและสูงสุดรอบ 8 ปี ...

Latest

­­­ปิดจบบัญชีม้าบุคคล 1.92 ล้านบัญชี 6 หน่วยงานรัฐลุย “ม้านิติบุคคล” หลังแนวโน้มพุ่ง

ม.หอการค้าไทยเผยดัชนีคอร์รัปชันไทยเดือน มิ.ย.61 อยู่ที่ 55 ดีขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนเมื่อเดือน ธ.ค.60 ชี้ดัชนีการสร้างจริยธรรมและจิตสำนึกอยู่ที่ 64 ดีขึ้น 4 ปีติดต่อกันและสูงสุดรอบ 8 ปี นับแต่ทำการสำรวจมา เหตุได้อานิสงส์จากการปราบทุจริตเงินทอนวัด อาหารกลางวันเด็ก ขณะที่เงินใต้โต๊ะลดลงเหลือ 20-25% จาก 25-35% เริ่มเห็นสัญญาณดีการแก้ทุจริต-จ่ายสินบนใต้โต๊ะของไทยแล้ว

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (CSI) ที่สำรวจเดือน มิ.ย.61 จากกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม รวม 2,400 ตัวอย่าง ทั้งประชาชน, ผู้ประกอบการ/ภาคเอกชน และข้าราชการ/ภาครัฐ ว่า ค่าดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทยอยู่ที่ 55 ดีขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนในเดือน ธ.ค.60 ที่อยู่ระดับ 52 ส่วนดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 54 เพิ่มขึ้นจาก 51 ในการสำรวจครั้งก่อน และดัชนีแนวโน้มสถานการณ์คอร์รัปชันไทยอยู่ที่ 57 เพิ่มขึ้นจาก 53 ขณะที่ดัชนีปัญหาและความรุนแรงของการคอร์รัปชันอยู่ที่ 48 แม้จะดีขึ้นจากครั้งก่อนที่อยู่ 42 แต่ยังต่ำกว่า 50 ซึ่งสะท้อนว่าประชาชนยังคงมีความกังวลอยู่ แต่หวังว่าสถานการณ์ความรุนแรงจะคลี่คลายในปีหน้า, ดัชนีการป้องกันการคอร์รัปชันอยู่ที่ 54 เพิ่มขึ้นจาก 53, ดัชนีการปราบปรามการคอร์รัปชันอยู่ที่ 55 เท่ากับการสำรวจครั้งก่อน และดัชนีการสร้างจริยธรรมและจิตสำนึกอยู่ที่ 64 ดีขึ้น 4 ปีติดต่อกัน และยังเป็นค่าดัชนีสูงสุดในรอบ 8 ปี นับตั้งแต่ทำการสำรวจในปี 53

“สาเหตุของการคอร์รัปชัน ส่วนใหญ่เกิดจากความล่าช้า/ความยุ่งยากในขั้นตอนการดำเนินงานของราชการ, กฎหมายเปิดช่องเอื้อต่อการทุจริต และความไม่เข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมาย โดยรูปแบบที่พบในการทุจริตส่วนใหญ่เป็นการให้สินบน การทุจริตเชิงนโยบาย และการใช้ตำแหน่งทางการเมืองเอื้อประโยชน์แก่พรรคพวก”

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงเห็นด้วยหรือไม่ว่าการทุจริตเป็นเรื่องไกลตัว ไม่เกี่ยวกับตัวเองโดยตรง ผู้ตอบส่วนใหญ่ถึง 99% ตอบไม่เห็นด้วย ขณะที่เมื่อถามว่า การที่รัฐบาลทุจริตแต่มีผลงานและทำประโยชน์ให้สังคมเป็นเรื่องที่รับได้ ผู้ตอบส่วนใหญ่ถึง 99% ตอบไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ เมื่อถามว่า เห็นด้วยหรือไม่ว่า การให้สินน้ำใจ (เงินพิเศษ) เล็กๆ น้อยๆ แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเรื่องไม่เสียหาย ผู้ตอบ 98% ตอบไม่เห็นด้วย

นางเสาวณีย์ กล่าวต่อว่า ส่วนความสามารถที่คนไทยจะทานทนต่อการทุจริต การสำรวจครั้งนี้ได้ 1.87 คะแนน จากเต็ม 10 ซึ่งหมายความว่า คนไทยเกลียดการทุจริต และแทบจะรับไม่ได้ ซึ่งคะแนนเข้าใกล้ 0 (เกลียดการทุจริต และ 10 คะแนน ทนต่อการทุจริตได้) จากครั้งก่อนที่ได้ 2.03 คะแนน และคนไทยยินดีมีส่วนร่วมป้องกันปัญหาและต่อต้านการทุจริตมากขึ้น”

สำหรับคะแนนดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันของไทยปี 60 อยู่ที่ 37 คะแนน จาก 35 คะแนน ในปี 59 โดยอยู่ในอันดับที่ 96 จาก 180 ประเทศทั่วโลก และอันดับ 17 ในเอเชีย โดยดีขึ้นจากปี 59 ที่อยู่อันดับ 101 ของโลก และอันดับ 19 ของเอเชีย

ด้านนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ดัชนีคอร์รัปชันภาพรวมดีขึ้นจากปีก่อน เพราะทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหา โดยเฉพาะค่าดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาคประชาชน สื่อมวลชน และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมถึงภาคธุรกิจปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ กฎหมายฉบับใหม่ที่ออกมาทำให้การปราบปราม หรือการฟ้องร้องในคดีทุจริตมีความรวดเร็วมากขึ้น โดยมีการสะสางคดีที่คั่งค้าง รวมทั้งสถิติที่ประชาชนมาร้องเรียนกับ ป.ป.ช.เกี่ยวกับคดีคอร์รัปชันดีขึ้นเป็นเท่าตัว จากอดีตเฉลี่ยปีละ 2,000 เรื่อง เพิ่มเป็น 5,000 เรื่อง จึงทำให้ภาพลักษณ์และดัชนีคอร์รัปชันของไทยดีขึ้น

“หลังจากนี้ หากมีการทุจริตเกิดขึ้นอีก แล้วรัฐไม่เร่งแก้ไข อาจทำให้ภาพลักษณ์และดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทยลดลง โดยค่าดัชนีที่ดีขึ้น ส่วนใหญ่ได้อานิสงส์จากภาพการปราบปรามทุจริตเงินทอนวัด กองทุนพัฒนาเสมาชีวิต โครงการเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง เงินอาหารกลางวันเด็ก” นายมานะ กล่าว

ขณะที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เปอร์เซ็นต์การจ่ายสินบนใต้โต๊ะในโครงการลงทุนต่างๆของภาครัฐ มีแนวโน้มลดลงจากปีก่อน ที่มีการจ่ายในระดับ 25-35% ของวงเงินงบประมาณ แต่จากข้อมูลเบื้องต้นที่เก็บได้พบว่า ส่วนใหญ่มีสัดส่วนการจ่ายสินบนใต้โต๊ะอยู่ที่ 20-25% ถือว่าส่งสัญญาณที่ดีในการแก้ปัญหาการทุจริต และการจ่ายสินบนใต้โต๊ะของประเทศไทย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ