“พาณิชย์” คาดหลายประเทศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ สินค้าเกษตรไทยรับอานิสงส์เต็มๆ ทั้งข้าว ผลไม้สดและแห้ง ส่งออกไปจีนเพิ่ม แต่ระวังถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ ทะลักเข้าไทยเพิ่ม...
เมื่อวันที่ 14 ส.ค. น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายประเทศได้ตอบโต้สหรัฐฯ ที่ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าหลายรายการจากหลายประเทศ โดยได้ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าหลายรายการจากสหรัฐฯ เช่นกัน ได้แก่ จีนขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ หลายรายการในอัตรา 25% เช่น ข้าว, ถั่วเหลือง, ข้าวสาลีและเมสลิน, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, เมล็ดซอร์กัม, แป้งข้าวโพด, แป้งธัญพืช, ถั่ว, ผักและผลไม้ และกากเหลือจากการผลิตแป้ง (สตาร์ช) ส่วนสหภาพยุโรป (อียู) ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ 25% เช่น ข้าว, ข้าวโพดหวาน, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วแดง ขณะที่ตุรกีขึ้นภาษีนำเข้าข้าวและถั่วประเภทต่างๆ จากสหรัฐฯ 20% และ 5% ตามลำดับ และแคนาดา ขึ้นภาษีนำเข้ากาแฟคั่วจากสหรัฐฯ 10%
ทั้งนี้ ได้ศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบต่อไทย พบว่าสินค้าที่ไทยมีโอกาสส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนสินค้าของสหรัฐฯ เช่น กากเหลือจากการผลิตแป้ง, ข้าว, ผลไม้สดและแห้ง โดยเฉพาะส้ม และกากเหลือจากการผลิตแป้ง เศษที่ได้จากการต้มกลั่น มีโอกาสทำตลาดมากที่สุด เพราะเป็นสินค้าที่จีนนำเข้าจากสหรัฐฯ เกือบทั้งหมด โดยในปี 60 จีนนำเข้า 66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ไทยส่งออก 3 ล้านเหรียญฯ โดยส่งออกไปลาวเกือบทั้งหมด ดังนั้น ไทยน่าจะกระจายสินค้าไปตลาดจีนมากขึ้นได้
นอกจากนี้ การที่จีนขึ้นภาษีผลไม้นำเข้าจากสหรัฐฯ เช่น เชอร์รี่ ส้ม องุ่น แอปเปิ้ล และพลัม ทำให้ผลไม้จากสหรัฐฯ มีราคาสูงขึ้น ดังนั้นผู้บริโภคจีนอาจหันมาเลือกบริโภคผลไม้ชนิดอื่นที่มีราคาถูกกว่าแทน จึงเป็นโอกาสของผลไม้ไทยที่จะส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้น เช่น มังคุด มะม่วง และสับปะรด เป็นต้น
สำหรับสินค้าที่มีโอกาสส่งออกไปอียูเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวโพดหวาน โดยปี 60 อียูนำเข้าข้าวโพดหวาน 148 ล้านเหรียญฯ เป็นการนำเข้าจากประเทศอียู 136 ล้านเหรียญฯ สัดส่วน 95% นำเข้าจากสหรัฐฯ 234,000 เหรียญฯ และไทย 84,000 เหรียญฯ ขณะที่ไทยส่งออกไปโลก 25 ล้านเหรียญฯ จึงยังมีศักยภาพส่งออกไปอียูได้มากขึ้น แต่ไทยต้องแข่งขันกับสินค้าจากอียูด้วย
อย่างไรก็ตาม ไทยต้องระวังสินค้าจากสหรัฐฯ ที่อาจไหลเข้าไทย ได้แก่ ถั่วเหลือง, ข้าวสาลีและเมสลิน, แอปเปิ้ล และลูกแพร์ โดยเฉพาะถั่วเหลือง ซึ่งในปี 60 จีนนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ 14,000 ล้านเหรียญฯ การขึ้นภาษีของจีนอาจทำให้สหรัฐฯ ต้องส่งออกถั่วเหลืองไปประเทศต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะไทย ที่แต่ละปีมีความต้องการนำเข้าถั่วเหลืองสูงมาก โดยปี 60 ไทยนำเข้า 2.7 ล้านตัน
“ภาพรวม สนค. คาดการณ์ว่า สงครามการค้าจะทำให้เกิดการปรับรูปแบบโครงสร้าง และความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศ เกิดการแสวงหาพันธมิตรทางการค้าใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงและรักษาเสถียรภาพทางการค้าในระยะยาว แต่กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและเกษตรกรภายในประเทศ” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว