'ส.อ.ท.-พาณิชย์' หามาตรการรับมือ สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ป่วนส่งออก-ลงทุน

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

'ส.อ.ท.-พาณิชย์' หามาตรการรับมือ สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ป่วนส่งออก-ลงทุน

Date Time: 20 มิ.ย. 2561 09:45 น.

Summary

  • “สงครามการค้า” จีน-สหรัฐฯ รอบใหม่ จัดหนักป่วนหนักทั้งการค้า การลงทุน ส.อ.ท.แสดงความกังวล หวั่นกระทบส่งออก สั่งทุกอุตสาหกรรมเร่งประเมินผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

Latest

เปิดขุมทรัพย์ AOT ปล่อยเช่าที่ดิน 2,512 ไร่ ทำเลทอง 46 แปลง รอบ 6 สนามบิน ปั้นฮับการบิน - อสังหาฯ

“สงครามการค้า” จีน-สหรัฐฯ รอบใหม่ จัดหนักป่วนหนักทั้งการค้า การลงทุน ส.อ.ท.แสดงความกังวล หวั่นกระทบส่งออก สั่งทุกอุตสาหกรรมเร่งประเมินผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ขณะที่ “พาณิชย์” คาดความตึงเครียดจะยังต่อเนื่องอีก 2-3 เดือน แต่ไทยจะรับส้มหล่นขายสินค้าได้เพิ่มพันล้านเหรียญ ขณะที่ยังไม่พบสินค้าทะลักเข้าไทย หวัง 2 คู่สงครามหันมาประนี-ประนอมเพื่อกู้โลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีความปั่นป่วนที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดเงิน ตลาดทุนโลก รวมทั้งความกังวลต่อระบบการค้าการลงทุนของโลก จากสถานการณ์การออกมาตรการตอบโต้กันทางภาษี และทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องในขณะนี้นั้น น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ประเมินสถานการณ์การตอบโต้ทางการค้าดังกล่าว ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าบางประเภทไปขายทดแทนสินค้าที่สหรัฐฯและจีนปรับขึ้นภาษีระหว่างกัน ทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นอีก 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 0.42% ของมูลค่าปี 60

โดยจนถึงขณะนี้ สหรัฐฯ ได้ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีน 1,102 รายการ มุ่งสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับนโยบาย Made in China 2025 และจีนตอบโต้มาตรการดังกล่าวในทันทีด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ 649 รายการ พุ่งเป้าสินค้าสำคัญที่มีนัยทางการเมือง กลุ่มการเกษตร ยานยนต์ และสินค้าประมง โดยมาตรการของทั้ง 2 ประเทศมีมูลค่าการค้าใกล้เคียงกันประมาณ 50,000 ล้านเหรียญ แบ่งเป็นสินค้า 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1 ที่ทำไปแล้ว ฝั่งสหรัฐฯ 818 รายการ และฝั่งจีน 545 รายการ เก็บภาษีเพิ่ม 25% คิดเป็นมูลค่า 34,000 ล้านเหรียญ มีผลบังคับใช้พร้อมกันวันที่ 6 ก.ค.61 และกลุ่ม 2 สหรัฐฯ 284 รายการ และจีน 114 รายการ คิดเป็นมูลค่า 16,000 ล้านเหรียญ โดยสหรัฐฯยังอยู่ในกระบวนการทำประชาพิจารณ์ก่อนที่จะประกาศรายการสินค้าและมาตรการที่จะใช้ต่อไป

ทั้งนี้ ผลจากการตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ 2 อันดับแรกของโลกย่อมส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการค้าโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และบั่นทอนบรรยากาศการค้าการลงทุนโลก โดยในระยะสั้นตลาด เงินและตลาดทุนมีแนวโน้มผันผวนจากความกังวลต่อสถานการณ์และความไม่แน่นอนด้านนโยบาย ของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งอาจส่งผลต่อการค้าการลงทุนด้วย โดยอาจทำให้เกิดการชะงักงันในการสั่งซื้อสินค้าและผู้ส่งออกในจีนและสหรัฐฯ อาจเริ่มมองหาตลาดอื่นทดแทน

“แม้ว่าสถานการณ์อาจยังคงตึงเครียดในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า แต่ในที่สุดทั้ง 2 ฝ่ายอาจมีท่าทีผ่อนคลายข้อกีดกันทางการค้าลง หากประชาชน เกษตรกร หรือภาคธุรกิจ โดยเฉพาะสหรัฐฯได้รับผลกระทบจากสินค้าขึ้นราคา หรือต้นทุนสูงขึ้นเพราะจีนได้คัดเลือกกลุ่มสินค้าเป้าหมายที่เป็นฐานเสียงโดยตรงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จึงอาจถูกกดดันให้ทบทวนมาตรการขึ้นภาษีก็เป็นได้”

อย่างไรก็ตาม สนค.ยังไม่พบการส่งออกสินค้าที่เข้าข่ายถูกขึ้นภาษีระหว่างกันทะลักเข้ามาไทยสูงขึ้นกว่าปกติ หากมีสัญญาณผิดปกติกระทรวง พาณิชย์มีมาตรการต่างๆที่ดำเนินการได้ทันทีเตรียมไว้อยู่แล้ว ซึ่ง สนค.จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ และเตรียมแผนรับมือในเร็วๆนี้ รวมทั้งจะผลักดันให้ไทยกำหนดยุทธศาสตร์ทางการค้าใหม่ โดยจะต้องเร่งสร้างพันธมิตรทางการค้าการลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงในการส่งออก

ขณะเดียวกัน นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้หารือกับสมาชิกเพื่อที่จะรวบรวมและประเมินสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างชัดเจน เพื่อรับมือเร่งด่วนแล้วโดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน เดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งยอมรับว่าเป็นประเด็นที่ต้องติดตามใกล้ชิด เนื่องจากประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

“ผมขอให้สมาชิกทั้งหมดประเมินผลกระทบ ว่ามีอะไรบ้างและแนวโน้มจะเป็นอย่างไร ซึ่งขณะนี้อาจจะยังไม่เห็นผลกระทบชัดเจนนักในแง่ของภาคอุตสาหกรรม แต่ล่าสุดการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก หรือจี 7 สหรัฐฯกลับขัดแย้งกับชาติสมาชิกที่เหลือทำให้เห็นชัดเจนว่าสงครามการค้าจะรุนแรงขึ้นทุกภาคส่วนจำเป็นต้อง ติดตามใกล้ชิดเพื่อปรับตัวให้รับกับสถานการณ์ที่อาจขยายวงกว้างมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.คาด หวังและมองในแง่ดีว่าทั้งสองประเทศจะมีการเปิดโอกาสในการเจรจา ซึ่งจะลดผลกระทบได้มาก”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ