“สมคิด” ลั่นแจ้งเกิด 5 จี ภายใน 2 ปี ยันไม่ต้องการให้ไทยตกขบวนกลายเป็นผู้ตาม ต้องไปแบบก้าวกระโดด สั่ง กสทช.-ดีอี หารือภาคเอกชน รับไอทียูประกาศมาตรฐาน 5 จี ปลายปีนี้ ยอมรับเศรษฐกิจฐานรากยังไม่ดีเหตุจากราคาพืชผลตกต่ำ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวในงานหัวเว่ย เอเชีย-แปซิฟิก อินโนเวชั่นเดย์ ครั้งที่ 4 “สร้างสรรค์นวัตกรรมนำเอเชียแปซิฟิกก้าวสู่ยุคดิจิทัล” ว่า ต้องการตั้งเป้าหมายปักหมุดให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยี 5 จีใช้ภายใน 2 ปีคือปี 2020 หรือปี 2563 โดยได้มอบหมายให้นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจาย เสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ไปหารือกับภาคเอกชนเพื่อให้ 5 จีเกิดขึ้นให้ได้ เพราะทุกคนต่างก็วิ่งไปตรงจุดนี้ เพราะในช่วง ปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) จะประกาศมาตรฐาน 5 จีออกมา ซึ่งประเทศจีนก็ประกาศแล้วว่าจะออก 5 จีในปีหน้า
“ถ้าประเทศไทยเดินหน้า 5 จี ได้เร็วจะทำให้ประเทศไทยก้าวกระโดดได้ ถ้าช้าจะตกขบวนรถไฟกลายเป็นผู้ตามทันที ดังนั้นจะต้องทุ่มเทในเรื่องนี้ เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นได้ทันทีในโลกดิจิทัล การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 4.8% ไม่ใช่ข้อจำกัดหรือ เพดาน ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามได้ถ้าอยู่บนฐานการดิจิทัล ซึ่งดิจิทัลจะช่วยให้เกิดการกระจายตัวทางเศรษฐกิจ เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสให้คนในชนบทหรือคนที่ด้อยโอกาส”
นายสมคิดกล่าวด้วยว่า ขณะนี้สำนักหรือหน่วยงานคาดการณ์ทางเศรษฐกิจทุกแห่ง รวมถึงธนาคารพาณิชย์ ยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว ซึ่งปีนี้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวสูงกว่า 4% แน่นอน โดยธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) และล่าสุดคือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ยืนยันเช่นกันว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว แต่จะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะส่งผลไปถึงคนระดับล่าง ซึ่งสาเหตุใหญ่ที่เศรษฐกิจระดับฐานรากยังไม่ดี เนื่องมาจากราคาพืชผลเป็นสำคัญ หากจะไม่พึงพิงราคาในตลาดโลกก็จะต้องปฏิรูป โดยจะต้องเน้นการผลิตที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน สร้างมูลค่าให้มากขึ้น ใช้การวิจัยและเทคโนโลยีมาช่วย ซึ่งขณะนี้สัดส่วนงบประมาณเพื่อการวิจัยขยับขึ้นมาอยู่ที่ 0.8% ของจีดีพี จากเดิมไม่ถึง 0.5% และมีเป้าหมายที่จะไปให้ถึง 1%
“เป็นความปรารถนาอันแรงกล้าของผมที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตของประเทศ พยายามจะสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ หรืออองเทอเพรอนัวร์ให้เต็มประเทศเป็นแสนเป็นล้านราย ไม่ใช่แค่รายใหญ่ 400 บริษัท ใครมีความคิดที่จะพัฒนาธุรกิจจะส่งเสริมให้เกิดขึ้นให้ได้ ทำได้แบบนี้จีดีพีเติบโต 5% ถือว่ากระจอก เหมือนกับประเทศ จีนที่สร้างผู้ประกอบการใหม่เกิดขึ้นจำนวนมากเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่แท้จริง”
ส่วนข้อจำกัดของผู้ประกอบการใหม่สามารถขจัดออกไปได้ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาสนับสนุน ช่วยให้ผู้ผลิตสื่อสารโดยตรงกับผู้บริโภคเป็นรายบุคคล ผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของแต่ละคนได้เลย วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) สามารถทำการค้าอีคอมเมิร์ซ ขายสินค้าไปได้ทั่วโลก และยังสร้างห่วงโซ่แห่งคุณค่า หรือ Value Chain ตามที่อีกมาก เช่น ระบบโลจิสติกส์ การผลิตวัตถุดิบป้อน การออกแบบและการค้าปลีกค้าส่ง เป็นต้น
นายสมคิดกล่าวว่า ต้องการให้บริษัทหัวเว่ยมาช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยใน 3 ด้านคือ 1.การเปลี่ยนแปลงภาคชนบทให้เข้มแข็งขึ้น ซึ่งภายในปีนี้ประเทศไทยจะมีอินเตอร์เน็ตใช้ครบ 70,000 หมู่บ้าน 2.ช่วยเอสเอ็มอีที่เสียเปรียบให้เข้มแข็งขึ้น และ 3.การช่วยในเรื่องการศึกษาซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ เช่น การศึกษาผ่านทางอินเตอร์เน็ต ปัจจุบันคนไทยเริ่มตื่นตัวเกี่ยวกับดิจิทัลมากขึ้นมีคนไทยใช้โทรศัพท์มือถือจำนวน 121 ล้านเลขหมาย เข้าถึงอินเตอร์เน็ต 40 ล้านคน มูลค่าอีคอมเมิร์ซอยู่ที่ 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เด็กวัยรุ่นนิยมซื้อของผ่านทางอีคอมเมิร์ซ จะซื้อตามห้างร้านน้อยมาก ขณะที่ภาคธุรกิจปรับตัวขนานใหญ่อีก 2-3 ปีจะเห็นการเปลี่ยนแปลง
ด้านนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ต้องการให้บริษัทหัวเว่ยตั้ง สถาบันวิชาการ หรือหัวเว่ยอะคาเดมี ที่โครงการระเบียง เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นศูนย์กลางในการอบรมพัฒนาบุคลากร การพัฒนาด้านการศึกษา สมาร์ทซิตี้ เป็นต้น.