ช่วยเกษตรกร เข็นสารพัดแผนดันราคาพุ่งฉิว
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมการค้าภายในและสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ในพื้นที่ภาคใต้และภาคเหนือ เตรียมความพร้อมรับมือกับผลผลิตผลไม้ที่กำลังจะออกสู่ตลาด เพราะปีนี้ผลไม้ภาคใต้เริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย.นี้ และมีผลผลิต 590,000 ตัน เพิ่มขึ้น 64% แบ่งเป็นทุเรียน 283,000 ตัน เงาะ 86,500 ตัน มังคุด 191,000 ตัน ลองกอง 83,800 ตัน ส่วนผลไม้ภาคเหนือออกสู่ตลาดเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ มีปริมาณ 706,000 ตัน เพิ่มขึ้น 6% อาทิ ลำไย 665,000 ตัน ลิ้นจี่ 41,000 ตัน หรือรวมทั้ง 2 ภาค มีปริมาณรวม 1.2 ล้านตัน โดยขอให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่าให้ผลผลิตตกค้าง และช่วยประสานและเร่งระบายผลผลิตออกจากพื้นที่โดยเร็ว เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคา เชื่อว่าสามารถดูแลราคาให้กับเกษตรกรได้ เพราะมีแผนรับมือรองรับไว้ล่วงหน้าหมดแล้ว
สำหรับมาตรการดูแลผลไม้ กระทรวงได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ซื้อขายผลไม้ระหว่างเกษตรกรกับโรงงานแปรรูปและห้างสรรพสินค้าเป็นการล่วงหน้า ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. มีปริมาณ 330,000 ตัน มูลค่า 22,000 ล้านบาท และยังได้เจรจาเชื่อมโยงการซื้อขายผลไม้ระหว่างสหกรณ์กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกับห้างสรรพสินค้า ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกผลไม้ และโรงงานแปรรูปผลไม้ เป้าหมาย 50,000 ตัน มูลค่า 2,500 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังได้มีมาตรการกระตุ้นการบริโภคผลไม้ ทั้งการจัดแสดงและจำหน่ายผลไม้และผลิตภัณฑ์ โดยร่วมกับห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ และจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ระหว่าง เดือน เม.ย.-ส.ค.นี้ ในการจัดบุฟเฟต์ผลไม้ในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น จันทบุรี เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต และเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้ เพื่อกระตุ้นการบริโภคผลไม้ และยังได้จัดบูธผลไม้ให้นักท่องเที่ยวทดลองชิมที่ท่าอากาศยานนานาชาติ และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และสนามบินในจังหวัดท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต
“ผมได้ประสานไปยังสถานที่ของหน่วยงานราชการ สถานที่เอกชน ได้แก่ สถานีบริการน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า ตลาดสด ตลาดต้องชม ร้านธงฟ้าประชารัฐ ฟาร์มเอาต์เลต (ร้านขายสินค้าเกษตรชุมชน) เพื่อให้เกษตรกรนำผลไม้ไปจำหน่าย และในด้านการส่งออก จะเร่งรัดการส่งออกไปยังตลาดจีน โดยเฉพาะเมืองใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการส่งออกไปตลาดใหม่ เช่น อินเดีย รัสเซีย อิหร่าน เป็นต้น อีกทั้งจะผลักดันให้มีการแปรรูปผลไม้มากขึ้นและผลักดันผลผลิตส่วนเกินไปสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมอาหารสัตว์”.