เดินหน้าปิโตรเลียมสู่อนาคต

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เดินหน้าปิโตรเลียมสู่อนาคต

Date Time: 14 พ.ค. 2561 05:02 น.

Summary

  • การเปิดประมูลปิโตรเลียม แหล่งเอราวัณ และบงกช สร้างกระแสความสนใจธุรกิจปิโตรเลียมอย่างคึกคัก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ออกโรงแสดงความคิดเห็น หากการประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจ

Latest

ตัวเต็ง ผู้ว่าฯ รฟม. คนใหม่ จับตาคณะกรรมการสรรหาเคาะชื่อ 25 เม.ย.นี้

การเปิดประมูลปิโตรเลียม แหล่งเอราวัณ และบงกช สร้างกระแสความสนใจธุรกิจปิโตรเลียมอย่างคึกคัก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ออกโรงแสดงความคิดเห็น หากการประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย เอราวัณ และบงกช ไม่เป็นไปตามกรอบเวลา จะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะความมั่นคงด้านพลังงานและจะกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศด้วย

สาเหตุที่เอกชนวิตกว่าการประมูลครั้งนี้อาจไม่ประสบความสำเร็จและเจอกับอุปสรรคขัดขวางการประมูล ได้แก่ การออกมารวมตัวกันของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า ตัวแทนภาคประชาชน ซึ่งมีทัศนคติที่ขัดแย้งกับนโยบายด้านพลังงานของกระทรวงพลังงานทุกเรื่อง อาศัยจุดอ่อนที่รัฐจะต้องทำ ประชาพิจารณ์ จะต้องรับฟังความเห็นจากประชาชน เป็นช่องทางในการคัดค้าน จนทำให้โครงการที่สำคัญต้องชะลอออกไป

การเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียม แหล่งเอราวัณ และแหล่งบงกช ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์พลังงานที่สำคัญของประเทศอย่างยิ่ง เนื่องจากแหล่งก๊าซธรรมชาติทั้งสองแห่งจะครบกำหนดสัมปทานในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าและเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม

จากการชี้แจงของ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน ให้ความมั่นใจต่อการประมูลในรอบนี้ว่ารัฐจะได้ประโยชน์สูงสุด โดยการนำระบบ แบ่งปันผลผลิต หรือ พีเอสซี มาใช้เป็นครั้งแรก และระบบ พีเอสซี ในปัจจุบันได้รับการยอมรับว่า เป็นระบบแบ่งปันผลประโยชน์ที่มีความเป็นธรรมมากที่สุด

ผลตอบแทนที่ประเทศไทยจะได้รับนั้น กระทรวงพลังงานยืนยันว่า รัฐจะได้จากระบบพีเอสซี คือค่าภาคหลวงที่ร้อยละ 10 ส่วนแบ่งปันกำไร ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50 และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม อีกร้อยละ 20

การมีส่วนร่วมในการอนุมัติแผนงาน งบลงทุน ตลอดจนการดำเนินงานต่างๆร่วมกับผู้ได้รับสัญญา ข้อดีก็คือ ภาครัฐสามารถเข้าไปกำกับดูแลเรื่องการลงทุนได้ชัดเจน

ระบบพีเอสซีไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ระบบดังกล่าวได้นำมาใช้กับ แหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือ เจดีเอ และพิสูจน์แล้วว่าประเทศไทยได้รับผลประโยชน์อย่างแน่นอน

จะว่าไปแล้ว ระบบสัมปทาน ระบบพีเอสซี หรือระบบจ้างผลิต ก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน การเปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยครั้งนี้ ที่กระทรวงพลังงานได้นำระบบ พีเอสซี มาใช้กับแหล่ง เอราวัณและบงกช เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ที่สอดคล้องกับพื้นที่และปริมาณสำรองของแหล่งปิโตรเลียม ซึ่งก็น่าจะเหมาะสมที่สุดในเวลานี้

การคัดค้านการประมูลถ้าอยู่บนผลประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัวหรือทัศนคติส่วนตัว ก็ควรจะเปิดกว้างและยอมรับ เหตุผล ข้อเท็จจริง จากทุกฝ่าย ถ้าคิดจะค้านชนิดไม่ลืมหูลืมตา ก็แสดงว่ามีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ ไม่ได้รักษาผลประโยชน์ของประเทศ อย่างที่อ้างเอาไว้กับประชาชน.

หมัดเหล็ก


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ