แจ็ค หม่า จีนบุกไทย สมรภูมิทุเรียนจันทบุรี

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

แจ็ค หม่า จีนบุกไทย สมรภูมิทุเรียนจันทบุรี

Date Time: 10 พ.ค. 2561 05:01 น.

Summary

  • “อีคอมเมิร์ซ แรงไม่ตก ดันโลจิสติกส์โต” ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่คาดการณ์เอาไว้ว่าในปี 2561 จะเติบโตเพิ่มขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้บริการ ตอบสนองความต้องการ ลดต้นทุนให้มี...

Latest

เปิดภาพภาคผลิต-ส่งออก-ท่องเที่ยว-อสังหาฯ เศรษฐกิจไทยเดือดหลังสงกรานต์

“อีคอมเมิร์ซ แรงไม่ตก ดันโลจิสติกส์โต” ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่คาดการณ์เอาไว้ว่าในปี 2561 จะเติบโตเพิ่มขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้บริการ ตอบสนองความต้องการ ลดต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ สอดรับกับกระแสการปรับเปลี่ยนสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล

ต่างมุ่งหมายแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด “การค้าออนไลน์” ที่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด แน่นอนว่าความต้องการบริการโลจิสติกส์จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะ 4 ธุรกิจที่จะขยายตัวดี นั่นก็คือ ขนส่งสินค้าทางบก, คลังสินค้า, จัดส่งสินค้าระหว่างประเทศ, ไปรษณียภัณฑ์และรับส่งสินค้า

สังคมยุคดิจิทัลที่เลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าจะซื้อขาย ชำระเงินผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ง่ายและสะดวก แต่ทว่ากระบวนการส่งมอบสินค้าจากผู้ขายไปยังผู้รับนั้นยังคงต้องอาศัยวิธีการขนส่ง...ยิ่ง “แจ็ค หม่า” เจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซจีนอาลีบาบามาเยือนไทยพุ่งเป้าลงทุนพื้นที่อีอีซี...ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกก็ยิ่งเหมือนเร่งวัฏจักร ด้วยเล็งพื้นที่เป้าหมายขนาด 1 แสนตารางเมตร ตั้ง “ศูนย์ดิจิทัลฮับ” และเอาไว้เชื่อมต่อโครงข่ายโลจิสติกส์

เรียกได้ว่าใครไม่รู้ตัว ไม่ขยับ...หรือขยับตามไม่ทัน “ธุรกิจ”...ก็มีสิทธิ์ตกขบวนได้เร็วปานคลิกเม้าส์ก็ปานนั้น

สมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) บอกว่า ปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีการเติบโตสูงอย่างรวดเร็ว ในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวจากปีที่แล้ว 20-25% ไปรษณีย์ไทยในฐานะผู้ให้บริการขนส่งไปรษณีย์อันดับหนึ่งของประเทศ จึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณงานที่จะเพิ่มขึ้น

นโยบาย “ไปรษณีย์ไทย 4.0” ติดตั้งเครื่องคัดแยกพัสดุและเครื่องคัดแยกจดหมายประสิทธิภาพสูงภายในศูนย์ไปรษณีย์ นำร่องที่ศูนย์ไปรษณีย์ศรีราชาและศูนย์ไปรษณีย์นครราชสีมา ซึ่งจะทำให้สามารถคัดแยกสิ่งของที่ฝากส่งทางไปรษณีย์ที่มีมากถึง 8 ล้านชิ้นต่อวันได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

เครื่องคัดแยกพัสดุแบบ Cross Belt Sorter จำนวน 1 เครื่อง สำหรับคัดแยกพัสดุประเภทกล่องด้วยสมรรถนะ 9,000 ชิ้นต่อชั่วโมง มีช่องคัดแยกได้ถึง 77 ปลายทาง ติดตั้ง ณ ศูนย์ไปรษณีย์ศรีราชา และเครื่องคัดแยกจดหมายแบบ Mixed Mail Sorter จำนวน 2 เครื่อง มีคุณสมบัติคัดแยกซองขนาดใหญ่ได้ประมาณ 8,000 ชิ้นต่อชั่วโมง มีช่องคัดแยกเครื่องละ 90 ปลายทาง ติดตั้ง ณ ศูนย์ไปรษณีย์ศรีราชาและศูนย์ไปรษณีย์นครราชสีมา

“ด้วยประสิทธิภาพของทั้งสองเครื่องนี้ จะช่วยเพิ่มความรวดเร็วและคุณภาพในกระบวนการคัดแยก ลดปัญหาการชำรุด สูญหาย ส่งผิดปลายทาง โดยใช้ระบบสแกนบาร์โค้ด...การอ่านรหัสไปรษณีย์บนตัวกล่อง ...ซอง รวมทั้งการลำเลียงโดยสายพานอัตโนมัติเพื่อลงสู่ช่องคัดแยกปลายทางก่อนบรรจุลงในอุปกรณ์สำหรับส่งต่อไปยังที่ทำการปลายทางต่อไป โดยเริ่มใช้งานแล้วที่ศูนย์ไปรษณีย์ศรีราชา จังหวัดชลบุรี”

ศูนย์ไปรษณีย์ศรีราชา อยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีปริมาณงานเติบโตมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอยู่ที่ 700,000 ชิ้นต่อวัน มากที่สุดในศูนย์ไปรษณีย์ภูมิภาค

กล่าวได้ว่าหัวใจของ “อีคอมเมิร์ซ” ประการหนึ่งคือ “อีโลจิสติกส์” ที่มีประสิทธิภาพ

ย้อนไปก่อนหน้านี้ เมื่อครั้ง “แจ็ค หม่า” แห่งอาลีบาบากดปุ่มซื้อทุเรียนผ่านเว็บไซต์ 80,000 ลูกใน 1 นาที สร้างกระแสฮือฮาวงการ “ทุเรียนไทย” ไปทุกหย่อมหญ้า เสมือนแขวนบนเส้นด้ายเหมือนเหรียญที่มีสองด้าน

การขายทุเรียนจำนวนมากและเร็วเป็นประวัติการณ์ ในอนาคตจะทำให้ราคาทุเรียนพุ่งสูงขึ้นด้วยสินค้าผลผลิตมีจำกัด แน่นอนว่าผู้ได้รับผลกระทบไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากปรับตัวให้ทันกระแสโลกดิจิทัล

“...บางทีการที่เราคิดถึงส่วนรวมมากเกินไป มันก็เป็นผลเสียกับตัวเองเหมือนกันนะ อยากให้คนไทยที่รักทุเรียนได้กินของดีมีคุณภาพ เราเลยไม่ยอมขายให้ล้งจีนที่มาเหมาสวนรับซื้อ ขณะที่เพื่อนๆผู้คุ้นเคยบอกว่า...พี่ตัดขายล้งจีนไปเหอะ”

“ล้งจีน”...ซื้อทุเรียนเกรด 70% แต่จ่ายเงินดี เราบ้าหรือเปล่าที่ยอมทิ้งเงินหลักล้านมานั่งขายทีละลูกในราคาหลักร้อย…ปีหน้าและปีต่อๆไป เราอาจจะหมดแรงสู้เพื่อคนอื่นแล้วล่ะ

วันก่อนลมกระโชกทีเดียวทุเรียนที่กำลังจะตัดร่วงไปเป็นตัน (ในตำบลตะปอน) สงสารชาวสวนต้องมาต่อสู้กับภัยธรรมชาติแบบไร้ทางสู้

หมายเหตุ...ในภาพคือราคาทุเรียนตามแผงข้างทางที่ผ่านพ่อค้าคนกลางแล้วแบ่งขายราคาตามเกรด...เกรด 3 ความแก่ 80% กก.ละ 250...เกรด 2 ความแก่ 85% กก.ละ 300...เกรด 1 ความแก่ 90% กก.ละ 350

ข้างต้นนี้คือบันทึกความทรงจำ 1 ปีล่วงมาแล้วในเฟซบุ๊กส่วนตัวของผู้ใช้นามว่า “Apple Sarunya” แห่งสวนณรงค์ฟาร์ม จ.จันทบุรี มาถึงวันนี้ ช่วงหลังสงกรานต์ก็มีสถานการณ์ไม่ต่างกัน

ถามจริง! ตื่นเต้นอะไรกับการที่แจ็ค หม่า หรืออาลีบาบาขายทุเรียน คิดว่า...เค้าช่วยเกษตรกรไทยหรือเค้าช่วยพ่อค้าคนจีนกันแน่ เพราะทุกวันนี้ล้งจีนก็เหมาทุเรียนไทยไปหมด แทบจะทุกสวนอยู่แล้ว ในราคาที่ชาวสวนเรียกร้องเองไม่ได้ด้วยซ้ำ

“เมื่อสัปดาห์ก่อนมาเหมาหมอนทองจากสวนข้างๆไปกิโลละ 78 บาท ในขณะที่ตามแผงขายกิโลละ 150-240 บาท...เค้าเรียกว่าการช่วยเหรอ? แค่มีพ่อค้าคนกลางเพิ่มขึ้นอีกคน...ต่อให้อาลีบาบาขายได้เป็นล้านๆลูกชาวสวนก็ต้องตัดขายให้ล้งที่มีนายทุนจีน ในทุเรียนสภาพแก่แค่ 70% เพราะกลัวต้นโทรมกับรีบชิงกันขาย”

ที่สำคัญคือ...ถ้ารอตัดตอนแก่จัด ทุเรียนจะสุกภายในสามสี่วัน ซึ่งเป็นอุปสรรคในการขนส่งทางไกลยังไงสวนเราก็ยืนหยัดไม่ยอมให้ล้งจีนมาเหมาแน่นอน ขายไม่ได้ก็แจกเพื่อนแจกญาติๆไง

แม้ว่าสถานการณ์จะดูไม่ค่อยดีนัก แต่ด้วยตั้งใจเอาไว้แล้วว่า อยากให้คนไทยได้ทานทุเรียนที่ส่งจากสวนโดยตรงจากชาวสวนก็เลยต้องแปลงกายเป็นนักการตลาดออนไลน์ใช้โลกออนไลน์เป็นหน้าร้านขายทุเรียน

เปิดรับออเดอร์ “ทุเรียนหมอนทอง” เนื้อเหลืองอ่อนละเอียด เม็ดลีบ รสชาติหวานมัน อยากให้ทุกท่านได้ลอง...บรรจุกล่องละ 3-4 ผล น้ำหนักรวม 10 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 140 บาท รวม 1,400 บาทต่อกล่อง ค่าจัดส่ง 250 บาทต่อกล่อง...รวมราคากล่องละ 1,650 บาท

#ทุเรียนหมอนทองรับประกันทุกลูก #ทุเรียนหมอนทองแก่จัด #พ่อปลูก แม่บรรจุ ลูกขาย #บริการจัดส่งให้ทุกท่านได้ทาน #ทุเรียนหมอนทองจำนวนจำกัด #ไม่ต้องเสียเวลาออกไปหาซื้อ รอทานอยู่บ้าน

สอบถาม สั่งจองได้ที่ : 08–9462–6629, LINE ID : narongfarm19 หรือ line://ti/p/@txp8085p, fb : “สวนณรงค์ฟาร์ม

เดินสำรวจทุเรียนตามต้น ผลไม้ในสวนอัปเดตทุกวันไม่ใช่เพราะกลัวตกกระแส แต่เพื่อเปิดรับออเดอร์แบบรายวัน อย่างชะนีหมดรุ่นแล้ว จะแก่จัดอีกครั้งปลายเดือน พ.ค. และมีแค่ 30 ลูก ส่วนมังคุดก็หมดรุ่น ...ผลพวงจากลม ฝนกระหน่ำ ทำให้ผลไม้หล่นเสียหายเยอะ และอาลีบาบากับล้งจีนจับมือล้งไทยเหมาไปเกือบหมดจังหวัด

ผลไม้เลยขาดแคลนและราคาสูงขึ้น...“ธรรมชาติคาดเดายากจริงๆ”

กระแสโลกดิจิทัลที่หมุนรวดเร็วปานสายลม...ท่ามกลางวิถีชีวิตเกษตรกรไทยที่ค่อยๆขยับทีละติ๊กๆเหมือนเข็มนาฬิกา คงไม่ทันที่จะวิ่งตาม แค่พยายามอยู่กับโลกนี้ให้ได้ ตามความเป็นไปและควรจะเป็น สร้างภูมิคุ้มกันชีวิตให้เข้มแข็ง ตามกระแสได้อย่างรู้เท่าทัน...ไม่รวย ไม่หรู แต่ก็ไม่อด.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ