นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ยอดการแจ้งประสงค์ฝึกอาชีพโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเฟส 2 ซึ่งเปิดลงทะเบียนวันที่ 1 ก.พ. เป็นวันแรก ล่าสุดวันที่ 12 ก.พ. พบว่า มีประชาชนแจ้งความประสงค์กว่า 2 ล้านคน ถือว่าเป็นยอดที่น่าพอใจ โดย 80% เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี ส่วนผู้มีรายได้มากกว่า 30,000 บาทแต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ได้ทยอยลงทะเบียนมากขึ้น โดยวันที่ 28 ก.พ.นี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่เปิดให้ลงทะเบียน คาดว่าจะมีประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 4 ล้านคน ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่กระทรวงการคลังวางไว้
“ถ้าถึงวันที่ 28 ก.พ. กลุ่มผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี ซึ่งมีประมาณ 5.3 ล้านคน ยังไม่มาลงทะเบียน ทีมหมอประชารัฐไปเคาะประตูถึงบ้านเพื่อเชิญชวนให้มาร่วมโครงการ ถ้ายืนยันว่าไม่ต้องการเข้าร่วม ก็จะให้ลงนามไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อแสดงให้เห็นว่ายังอยากจนซ้ำซาก ซึ่งเป้าหมายของกระทรวงการคลังต้องการให้คนที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปีหมดไปภายในปีหน้า ส่วนที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาทแต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จะต้องลดลงให้ต่ำกว่า 10 ล้านคน จากที่มีอยู่ 11.4 ล้านคน”
ทั้งนี้ แนวทางช่วยเหลือเฟส 2 มีทั้งหางานให้ทำ สนับสนุนเงินกู้เพื่อประกอบอาชีพ และเมื่อมีรายได้มากขึ้น ก็สนับสนุนให้มีการออมเงิน รวมถึงมีโครงการสนับสนุนให้มีที่พักอาศัยเป็นของตนเอง ส่วนวัยเรียนมีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ด้านการลงทะเบียนรอบหน้า จะปรับเกณฑ์รายได้เดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีลงมา พร้อมขีดเส้นความยากจนให้สูงกว่า 30,000 บาทต่อปี”
ส่วนการสละสิทธิ์การขอรับเบี้ยยังชีพคนชรา ที่รับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2560 มีคนสละสิทธิ์น้อยมากไม่ถึง 1,000 คน จากเป้าหมาย 500,000 คน จึงประสานไปยังกระทรวงมหาดไทยขอใช้หน่วยงาน เช่น สาขาธนาคารเฉพาะกิจ สำนักงานคลังจังหวัดในการเปิดให้คนชรามาสละสิทธิ์ รวมถึงมีแนวคิดส่งจดมายถึงคนชราเพื่อสอบถามว่าต้องการสละสิทธิ์หรือไม่ เพื่อนำเงินดังกล่าวไปเพิ่มเบี้ยยังชีพให้คนชราที่ยากจน.