นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ที่มีหนี้สินสะสมตั้งแต่ปี 2544 และไม่มีเกณฑ์กำกับที่ชัดเจน พบว่ามีสมาชิกมาแสดงตัวว่ามีหนี้สินที่ต้องการให้ กฟก.แก้ปัญหา 293,000 ราย มูลหนี้กว่า 1,300 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้สินที่ กฟก.สามารถเข้าไปแก้ปัญหาได้ทันทีตามเงื่อนไขที่กำหนด 735 ราย มูลหนี้ 132 ล้านบาทเท่านั้น โดย กฟก.สามารถดำเนินการเจรจาซื้อหนี้กับสถาบันการเงินได้ทันที เหลืออีก 292,265 ราย ต้องเข้าไปดูแล
“
เงื่อนไขของ กฟก. ระบุไว้ว่า หนี้สินที่จะรับดูแลได้มีอยู่ 3 ข้อ คือ 1.ต้องเป็นหนี้สินของเกษตรกร 2.เกษตรกรต้องมียอดหนี้สินสะสมไม่เกิน 2.5 ล้านบาทต่อคน และ 3.ต้องเป็นหนี้จากสถาบันการเงินหรือองค์กรเกษตรกร และเป็นหนี้ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกันเท่านั้น ซึ่งการตรวจสอบหนี้ดังกล่าวกว่า 99% เป็นหนี้บุคคลค้ำประกัน จึงไม่เข้าเงื่อนไข”
สำหรับหนี้สินที่มีบุคคลค้ำประกันกว่า 99% นั้น เป็นกลุ่มที่ กฟก.ต้องเข้ามาดูแล แต่ต้องปรับแก้เงื่อนไขบางข้อ อาทิ ข้อกำหนดที่ 3 ที่ไม่รับหนี้บุคคลค้ำประกัน ถ้าตรวจสอบแล้วเกษตรกรใช้เงินทำการเกษตรก็อาจพิจารณารับหนี้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จะเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาโดยอาจแก้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ระบุว่า หนี้เกษตรกรที่ กฟก.ดูแลต้องเป็นหนี้ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกันเท่านั้น โดยเพิ่มหนี้ที่มีบุคคลค้ำประกันเข้าไปด้วย แต่ต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ากลุ่มนี้นำเงินที่กู้ไปใช้จ่ายอะไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจเหลือเวลาทำงานอีก 130 วัน จากทั้งหมด 180 วัน เมื่อเทียบกับจำนวนเกษตรกรที่ค้างอยู่ คาดว่าจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จได้ทันเวลา ดังนั้น จึงจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยืดระยะเวลาการทำงานของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯออกไปอีก 180 วัน.