สศค.ปิ๊งแนวคิดล้างหนี้นอกระบบ ชงรัฐชดเชยเอ็นพีแอล 40% ล้างปัญหาเบ็ดเสร็จ

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สศค.ปิ๊งแนวคิดล้างหนี้นอกระบบ ชงรัฐชดเชยเอ็นพีแอล 40% ล้างปัญหาเบ็ดเสร็จ

Date Time: 15 ก.ย. 2560 08:14 น.

Summary

  • สศค.มั่นใจครั้งนี้หนี้นอกระบบจะหมดไปจากประเทศไทย เสนอรัฐบาลชดเชยเอ็นพีแอลให้ในสัดส่วน 40% มูลหนี้ของลูกหนี้นอกระบบทั้งหมด 60,000 ล้านบาท

Latest

เศรษฐกิจไทยยังลูกผีลูกคน 2 เม.ย.นี้ผวาไทยไม่รอด! ถูกสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้า

สศค.มั่นใจครั้งนี้หนี้นอกระบบจะหมดไปจากประเทศไทย เสนอรัฐบาลชดเชยเอ็นพีแอลให้ในสัดส่วน 40% มูลหนี้ของลูกหนี้นอกระบบทั้งหมด 60,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นของคนจนที่ลงทะเบียนกับรัฐ 1.2 ล้านคน มั่นใจคนจนไม่เบี้ยวหนี้ เพราะภาระเงินต้นและดอกเบี้ยลดลงมาก “สนธิรัตน์” เซ็งติดตั้งเครื่องรูดบัตรคนจนในร้านธงฟ้าประชารัฐ ได้แค่ 2,000 แห่ง ส่งรถขายสินค้าธงฟ้าเคลื่อนที่ทดแทนไปก่อน

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. เปิดเผยว่า ประชาชนที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเพื่อขอรับสวัสดิการจากรัฐบาลจำนวน 11.43 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ มีประชาชนเป็นหนี้นอกระบบจำนวนกว่า 1.2 ล้านคน คิดรวมเป็นมูลหนี้กว่า 60,000 ล้านบาทนั้น ล่าสุด สศค.ได้เสนอแนวคิดที่จะให้รัฐบาลช่วยประชาชนให้ออกจากหนี้นอกระบบ โดยให้ส่งรายชื่อทั้งหมดไปให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ คือ ธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการแก้ไขหนี้โดยให้เปลี่ยนเงินกู้นอกระบบมาเป็นเงินกู้ในระบบที่มีอัตราถูกกว่าแทน เบื้องต้นให้มีการศึกษาถึงหลักเกณฑ์ใหม่ๆมาผ่อนปรน ซึ่งแนวทางจะให้ภาครัฐเข้ามารับผิดชอบรับหนี้เอ็นพีแอลในสัดส่วน 40%

สำหรับมูลหนี้ 60,000 ล้านบาท หากใช้ไปในการแก้หนี้นอกระบบทั้งหมด โดยส่วนตัวถือว่าเป็นจำนวนเงินไม่มาก แต่ต้องศึกษาด้วยว่า เมื่อปล่อยกู้ไปแล้วจะเป็นหนี้เสียเท่าไหร่ ซึ่ง สศค.คาดว่า ไม่น่าจะมากนัก เนื่องจากภาระการผ่อนส่งต้นเงินงวดกับดอกเบี้ยแตกต่างกันอย่างมาก

“สมมติฐานว่าหนี้นอกระบบคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 20% ต่อเดือน จากวงเงินกู้ 50,000 บาท ผู้กู้ต้องจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย 2,500-3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่รู้ว่าอีกกี่ปีถึงจะผ่อนหมด เพราะเมื่อชาวบ้านไม่มีเงินก็จะไปกู้เงินจากเจ้าหนี้นอกระบบรายใหม่หมุนเวียนไปเรื่อยๆ แต่หากมาเข้ามาเป็นลูกหนี้ในระบบแล้ว ต้นเงินและดอกเบี้ยที่ผ่อนส่งจะลดลงเหลือเดือนละ 1,259 บาท หรือลดลง 60-70% ทำให้ภาระหนี้ต่อเดือนลดลงและยังสามารถผ่อนชำระได้หมดอีกด้วย”

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการแก้หนี้นอกระบบให้มาเป็นหนี้ในระบบผ่านโครงการ “สินเชื่อรายย่อย เพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน” วงเงินกู้ไม่เกินรายละ 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0.85% ต่อเดือนหรือ 10.25% ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 5 ปี ซึ่งล่าสุด ณ วันที่ 31 ส.ค.2560 ธนาคารทั้ง 2 แห่งได้ปล่อยกู้ไปแล้ว 4,796 ล้านบาทหรือ 106,123 ราย ซึ่งมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่ยอดสินเชื่ออาจจะไม่มากมายนัก โดยรัฐบาลตั้งเป้าวงเงินสินเชื่อไว้ 10,000 ล้านบาท

“ส่วนวงเงินหนี้นอกระบบก้อนใหม่ 60,000 ล้านบาท หากนำเข้ามาอยู่ในระบบแล้วเกิดเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ทาง สศค.จึงมีแนวคิดที่จะเสนอให้คลังพิจารณาให้รัฐบาลจะชดเชยเอ็นพีแอลให้ในสัดส่วน 40% มูลหนี้ของลูกหนี้นอกระบบทั้งหมด 60,000 ล้านบาท หากรัฐบาลพร้อมรับหนี้เอ็นพีแอลในสัดส่วน 40% เหมือนกับโครงการแรก พร้อมๆ กับผ่อนปรนเรื่องไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันด้วย ทำให้หนี้นอกระบบจะหมดไปจากประเทศไทยอย่างแน่นอน”

ทั้งนี้ ทาง สศค.จะนำข้อเสนอดังกล่าวหารือกับ รมว.คลัง เพื่อดำเนินการแก้ไขหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้วางแผนการแก้หนี้นอกระบบโดยมีธนาคารเฉพาะกิจสนับสนุน และยังมีพิโคไฟแนนซ์ และนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการปล่อยสินเชื่อที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังแล้ว โดยขณะนี้ กระทรวงการคลังอนุมัติผู้ประกอบการพิโคไฟแนนซ์ไปแล้ว 121 ราย ในพื้นที่ 40 จังหวัดทั่วประเทศ โดยได้เริ่มปล่อยกู้แล้ว 63 รายใน 32 จังหวัด รวมเป็นยอดปล่อยกู้แล้วกว่า 42 ล้านบาท ส่วนนาโนไฟแนนซ์ มีบริษัทประกอบกิจการแล้ว 23 บริษัท 1 สถาบันการเงิน อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 2,509 ล้านบาท

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับกรมบัญชีกลาง ธนาคารกรุงไทย กรมการค้าภายใน และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ถึงความคืบหน้าการจัดทำโครงการร้านธงฟ้าประชารัฐ เพื่อรองรับการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยว่า การติดตั้งเครื่องรูดบัตร (อีดีซี) ภายในร้านธงฟ้าประชารัฐ อาจติดตั้งได้เพียง 2,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งน้อยกว่าเป้าหมายที่ต้องการติดตั้งให้ครอบคลุมร้านธงฟ้าประชารัฐในทุกตำบลทั่วประเทศ 8,000 แห่ง ภายในวันที่ 1 ต.ค.2560 ที่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะสามารถใช้ได้อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐไม่ได้ตามเป้าหมาย 8,000 แห่งภายในวันที่ 1 ต.ค.นี้ กระทรวงฯจะนำรถขายสินค้าธงฟ้าเคลื่อนที่ (โมบาย ยูนิต) มาจัดทำเป็นรถธงฟ้าประชารัฐโมบาย ยูนิต โดยติดตั้งเครื่องรูดบัตรภายในรถ และจำหน่ายสินค้าธงฟ้าประชารัฐเท่านั้น เพื่อให้มีครอบคลุมทั่วประเทศ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ