“อียู” ยืนหยัดสถานะไทยใบเหลือง
ผู้สื่อข่าวรายจากทำเนียบรัฐบาล ว่า จากที่เจ้าหน้าที่สหภาพยุโรป (อียู) ได้เดินทางมาตรวจการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุมหรือไอยูยู ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 1-16 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น อียูมีท่าทางที่ดีต่อประเทศไทย คาดว่าอียูจะคงสถานะของไทยไว้ที่ใบเหลืองต่อไป ถึงแม้อียู จะพอใจในการแก้ไขปัญหาของไทยในหลายด้านก็ตาม ซึ่งปีนี้ไทยได้เร่งรัดออกกฎหมาย ให้ครอบคลุมการทำประมงมากขึ้น ล่าสุด ได้แก้ไข พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 ฉบับที่ 2 แล้ว ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีสาระสำคัญเพื่อควบคุมการทำประมงพื้นบ้านกว่า 32,000 ลำ และส่วนใหญ่เป็นเรือไร้สัญชาติได้รับผลกระทบ ซึ่งปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้อเสนอแนะของอียู แต่รัฐบาลไทยพยายามดำเนินการ เพื่อให้เห็นว่าไทยให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมประมงทั้งระบบ
ด้าน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ไทยทำดีกว่าที่คิดไว้มาก เหลือเพียงเรื่องบุคลากรที่ยังไม่มีความชำนาญในการตรวจสอบเรือที่คาดว่าทำผิดกฎหมาย ดังนั้นจะหารือกับอียู เพื่อขอให้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาสอนเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน และการตรวจสอบ หรือหากจำเป็นก็ต้องหาผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบการแก้ปัญหาไอยูยู จากประเทศที่แก้ปัญหาไอยูยูได้แล้วเข้ามาช่วยเหลือ
“อียูพอใจการทำงานของไทย เพราะเห็นความชัดเจนและข้อแตกต่าง และรัฐบาลมีความตั้งใจ ที่กำหนดกฎระเบียบ กติกาที่เป็นสากลได้มาตรฐานตามที่อียูกำหนด และยังบังคับใช้กฎหมายดีขึ้นมาก มีการลงโทษทางปกครองมากกว่า 1,000 ราย และอียูยังได้ทำหนังสือส่งไปถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลการแก้ปัญหาไอยูยู พร้อมคำแนะนำให้ไทยต้องดำเนินการต่อจากนี้ไป”
นายสะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยและเครือข่ายชุมชนชายฝั่งทะเล กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานนั้น ได้เห็นชอบให้ยกเลิกมาตรา 34 ใน พ.ร.ก.ประมง พ.ศ.2558 ที่ห้ามมิให้ผู้ได้รับอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่งนั้นเกิน 3 ไมล์ทะเล แต่ใน พ.ร.ก.ประมงฉบับล่าสุด ยังคงมีเนื้อหาดังกล่าวอยู่ จึงต้องการให้ รมว.เกษตรฯ ยกเลิกมาตรา 34 และเร่งออกประกาศกระทรวง กำหนดขนาดและสัดส่วนสัตว์น้ำขนาดเล็กที่ห้ามนำขึ้นเรือประมง อาทิ ปลาทูต้องจับได้ขนาดต่ำกว่า 35 ตัวต่อ 1 กิโลกรัมและจับได้โดยบังเอิญได้ไม่เกินอัตรา 10% ของน้ำหนักปริมาณสัตว์น้ำทั้งหมด เป็นต้น.