นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้นำเรื่องถนนยางพาราดินซีเมนต์ไปศึกษาต่อในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำถนน เพราะในส่วนของถนนดินซีเมนต์ จะนำยางมาผสมกับกรวด หิน ดินทราย ในส่วนที่รองรับน้ำหนักถนน (ซัพเบต) ซึ่งอยู่ด้านล่างของชั้นถนนไม่ใช่ชั้นผิวถนน และทุกผิวถนนสามารถใช้ยางนี้ไปทำเป็นซัพเบตได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ยางมากขึ้นจากเดิมที่เป็นถนนยางมะตอย (แอสฟัลต์) มีการใช้ยางพาราเพียง 5-8% แต่ถ้าทำเป็นถนนยางพาราดินซีเมนต์ สามารถเพิ่มการใช้ยางได้ถึง 12 ตันต่อกิโลเมตร (กม.)
“ในช่วงปีงบประมาณ 2560 จนถึงเดือน ก.ย. สรุปว่ามีหน่วยงานราชการ 9 หน่วยงาน อาทิ กรมชลประทาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม เป็นต้น ยื่นความจำนงที่จะใช้ยางพาราแน่นอน โดยข้อมูลล่าสุดจะใช้ยางภายในหน่วยงาน แบ่งเป็นน้ำยางข้น 22,321 ตัน และยางแห้ง 2,952 ตัน รวมทั้งสิ้น 25,273 ตัน รวมเป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 16,925 ล้านบาท ซึ่งขั้นตอนต่อไป กยท.จะประสานกับหน่วยงานเจ้าของงบประมาณ โดยจะเร่งดำเนินการภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ทั้งนี้มีรายการพิจารณาผลิตภัณฑ์ที่แต่ละหน่วยงานจะนำมาใช้ ทั้งสิ้น 23 รายการ โดยได้รับการรับรองเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) แล้วทั้งสิ้น 22 รายการ อาทิ แผ่นรองคอสะพาน ยางกันชนท่าเรือ ท่อดูดน้ำและส่งน้ำ เป็นต้น”
ด้านนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล ผู้แทนอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานมีถนนอยู่ในความดูแลประมาณ 7,000 กิโลเมตร (กม.) เป็นถนนลาดยาง 3,074 กม. และได้ถ่ายโอนให้กรมทางหลวงชนบทไว้ประมาณ 4,000 กิโลเมตร โดยในส่วนของถนนลาดยาง หากชำรุดจะต้องมีการซ่อมแซมโดยจะนำยางพาราในโครงการที่ กยท.ดำเนินการรวบรวมไว้ไปใช้ ซึ่งจะเริ่มรับมอบยางตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค. นี้เป็นต้นไป เบื้องต้นจะรับมอบยางจาก กยท. 100 ตัน ส่วนถนนทางลูกรัง 1,800 กม. นั้นขณะนี้กรมชลประทานกำลังศึกษาวิจัยอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยจะทราบผลการวิจัยเดือน ต.ค. ทั้งนี้ หากจะนำผลการวิจัยไปขยายผล โดยการเอาดินลูกรังที่ผสมปูนซีเมนต์และน้ำยางข้นบดอัดลงไป ซึ่งใช้น้ำยางพาราประมาณ 18 ตันต่อ กม. จะเป็นการช่วยเกษตรกรชาวสวนยางได้.