อาร์ตทอยไปจนถึงชาไข่มุก ไลฟ์สไตล์ Gen Z กำลังช่วย “จีน” จากภาวะเศรษฐกิจซบเซา ดันรายได้ผู้ประกอบการจีนบางรายพุ่งแรง โดยเฉพาะแบรนด์ขวัญใจคนรุ่นใหม่ที่หุ้นปรับระดับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ขึ้นแท่น “หุ้นดาวรุ่ง” นำโดย Pop Mart International Group ผู้ผลิตของเล่นชื่อดัง, Laopu Gold Co. ผู้ผลิตเครื่องประดับที่ได้รับความนิยมจากไวรัลในโซเชียลมีเดีย และ Mixue Group เชนร้านไอศกรีมชานมที่มีสาขากว่าสี่หมื่นแห่งทั่วโลก
รายงานระบุว่า ความพยายามของจีนในการรับมือกับผลกระทบจากสงครามการค้ากำลังได้รับแรงหนุนจากผู้บริโภครุ่นใหม่อย่าง Gen Z ที่เน้นการ “บริโภคเชิงอารมณ์” และใช้จ่ายมหาศาลในสินค้าตั้งแต่ของเล่นไปจนถึงชานมไข่มุก
การบริโภคในกลุ่ม Gen Z ได้กลายเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ในช่วงที่โมเดลการเติบโตแบบพึ่งพาการส่งออกของจีนถูกกระทบจากความตึงเครียดทางการค้ากับสหรัฐ และขณะเดียวกันที่รัฐบาลปักกิ่งหันมาให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเป็นอันดับหนึ่งในช่วงที่ผ่านมา
“ผู้บริโภคยุคใหม่ชอบตามใจตัวเอง ทุ่มเทให้กับงานอดิเรก ไม่แคร์ราคา และใช้เงินกับสิ่งที่เชื่อมโยงกับอารมณ์หรือให้ความพึงพอใจที่จับต้องได้”
Li Shouqiang ผู้จัดการกองทุนจาก Shenzhen JM Investment กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้จ่ายของ Gen Z ในจีนเป็นเหมือนเหรียญสองด้าน กลุ่มผู้บริโภคกว่า 250 ล้านคนซึ่งเกิดระหว่างปี 1995–2010 มีแนวทางที่ประหยัดกับสิ่งของพื้นฐาน เช่น ชานมหรือบะหมี่ แต่ยอมทุ่มเงินหลายพันหยวนเพื่อสะสมของเล่น สินค้าจากศิลปินและเครื่องประดับสุดฮิต ซึ่งไม่ต่างจากกลุ่ม Gen Z ในสหรัฐฯ ที่มองหาของที่ราคาจับต้องได้ ไม่รีบซื้อบ้าน แต่พร้อมจ่ายให้กับแบรนด์เฉพาะกลุ่มหรือของสะสมที่คนรุ่นพ่อแม่ไม่เข้าใจ
แม้ก่อนหน้านี้จะมีแรงเทขายจากมาตรการตอบโต้ระหว่างจีน-สหรัฐ แต่หุ้นกลุ่มผู้บริโภค Gen Z กลับพุ่งขึ้นล่วงหน้า เช่น กลุ่มผู้ผลิตของเล่น Pop Mart และ Bloks Group กลุ่มชานม Guming Holdings และ Mixue ที่เพิ่มขึ้นเกิน 150% ภายในระยะเวลา 4 เดือน และกลุ่มเครื่องประดับ Laopu Gold ที่มีการเติบโตมากที่สุดในกลุ่ม โดยขึ้นไปแตะจุดสูงสุดกว่า 250% ในช่วงปลายมีนาคม
โดยหุ้นทั้ง 5 บริษัทพุ่งเกิน 100% ในปีนี้ นอกจากนี้ยังมีตัวอื่น ๆ อย่าง Mao Geping Cosmetics ที่ได้แรงหนุนจากผู้ก่อตั้งซึ่งเป็นช่างแต่งหน้าเซเลบ ก็พุ่งเกือบ 80% Auntea Jenny ซึ่งเพิ่งเข้า IPO ในฮ่องกงก็บวกไปแล้ว 13% หลังเปิดตลาด
นอกจากนี้ยังมีหุ้น IPO ใหม่ของบริษัทจีนโดนใจ Gen Z ที่นักลงทุนต่างจับตา ไม่ว่าจะเป็น Kayou Inc. ผู้ผลิตการ์ดสะสมที่ขายแบบสุ่มในกล่องสไตล์ Pop Mart, เครือร้านอาหาร Guangzhou Xiao Noodles และ Miniso ที่เตรียมแยกแบรนด์ของเล่น Top Toy ไปจดทะเบียนในฮ่องกง ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าการเข้าตลาดเหล่านี้น่าจะได้อานิสงส์จากพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะเปลี่ยนแปลงเร็วๆ นี้
ขณะที่หุ้นขวัญใจนักลงทุนยุค Gen X และ Y กลับร่วงสวนทาง เช่น หุ้น Kweichow Moutai ผู้ผลิตเหล้าหรู ซึ่งเคยทำจุดสูงสุดในปี 2021 ปัจจุบันลดลงถึง 30% ส่วนหุ้นเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่าง Haier และ Midea ต่างไม่คึกคัก
อย่างไรก็ตามแม้การใช้จ่ายของ Gen Z จะเป็นแรงผลักสำคัญที่สะท้อนถึงแนวโน้มของกำไรที่น่าดึงดูดสำหรับนักลงทุนในการคว้าได้จากตลาดหุ้นจีน แต่ยังไม่เพียงพอที่จะพลิกเศรษฐกิจจีนภาพรวมให้ฟื้นตัวจากภาวะซบเซาในตลาดอสังหาริมทรัพย์และผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐ แม้ทั้งสองประเทศจะตกลงชะลอการขึ้นภาษี แต่ก็ยังห่างไกลจากข้อตกลงระยะยาว
อ้างอิงข้อมูล Bloomberg1 , Bloomberg2
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้