โดนัลด์ ทรัมป์ กลับเข้าสู่ทำเนียบขาวอีกครั้งด้วยความมุ่งมั่นที่ไม่เหมือนเดิม และในระยะเวลาเพียง 100 วันแรก ก็ได้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ นานาให้ทุกคนได้ติดตามข่าวกันต่อเนื่อง ทั้งการเขย่ารัฐบาลกลาง ป่วนเศรษฐกิจ สร้างผลกระทบด้านสังคม และเวทีโลกอย่างรุนแรง พร้อมส่งสัญญาณว่า สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของเขาจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
การกลับมาสู่อำนาจในครั้งที่ 2 นี้ Times รายงานว่า เปรียบเสมือนการกลับคืนสู่กระบวนการทำงานที่จะมาทำต่อจากที่สมัยแรกได้ลองสอดส่องและวางหมากไว้เรียบร้อยแล้ว ทำให้ในช่วง 3 เดือนแรกของการทำหน้าที่ประธานาธิบดีจึงเห็นการลงนามใน Executive Order กว่าร้อยฉบับ และเร่งนโยบายต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นในทันที
อย่างไรก็ตาม คะแนนนิยมของ โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังลดลงอย่างน่ากังวลในครบ 100 วันของการกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยผลโพลล่าสุดจาก CNN, Washington Post-ABC News-Ipsos และ NBC News พบว่า คะแนนนิยมของทรัมป์อยู่ระหว่าง 39%-45% ซึ่งถือเป็นคะแนนต่ำที่สุดสำหรับประธานาธิบดีที่เพิ่งรับตำแหน่งในรอบกว่า 70 ปี ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นในตัวเขาด้านเศรษฐกิจก็ลดลงเช่นกัน โดยโพล CNN/SSRS ชี้ว่า ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการบริหารเศรษฐกิจของทรัมป์ลดลงถึง 13 จุด เหลือเพียง 52% และ 72% ของคนอเมริกันเชื่อว่านโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์จะทำให้เกิดภาวะถดถอยในระยะสั้น
นอกจากนี้ คนอเมริกันยังไม่พอใจการจัดการปัญหาการค้าและภาษี (61% ไม่เห็นด้วย) และการรับมือเงินเฟ้อและค่าครองชีพ (60% ไม่เห็นด้วย) ขณะที่คะแนนนิยมด้านนโยบายคนเข้าเมืองของทรัมป์ก็ร่วงลงจาก 60% เหลือ 45% ในเวลาเพียง 3 เดือน สะท้อนว่าทรัมป์กำลังเผชิญแรงต้านจากประชาชนอย่างรุนแรงที่ไม่เห็นด้วยกับการบริหารงานของเขาในขณะนี้
ในบทความนี้ Thairath Money จะมาสรุปให้ว่า 100 วันที่ผ่านมาทรัมป์ทำอะไรไปแล้วบ้าง และแต่ละเรื่องส่งผลสะเทือนขนาดไหน
แค่ในระยะเวลา 3 เดือนแรกของการเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 โดนัลด์ ทรัมป์ได้สร้างความสั่นสะเทือนหลายอย่างให้กับเศรษฐกิจโลก จนส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคดิ่งลง ตลาดหุ้นสั่นสะเทือน นักลงทุนเริ่มไม่เชื่อมั่นในเสถียรภาพนโยบาย
หนึ่งในนั้น คือ มาตรการขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ประเทศคู่ค้า ที่จะมีผลในวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ ซึ่งทรัมป์มองว่าจะเป็นผลดีต่อสหรัฐอเมริกาในระยะยาว แต่ในช่วงเริ่มต้น 100 วันแรกนี้สถานการณ์กลับตรงกันข้าม
ด้วยอำนาจฝ่ายบริหาร ทรัมป์สามารถพลิกโฉมเศรษฐกิจได้โดยแทบไม่ต้องพึ่งเสียงสนับสนุนจากสภาคองเกรสที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก เดินหน้าแผนขึ้นภาษีสินค้านำเข้าเป็นมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงการตั้งกำแพงภาษีต่อคู่ค้าอันดับ 1 และ 2 ของสหรัฐฯ อย่างเม็กซิโกและแคนาดา ขณะเดียวกัน สินค้านำเข้าจากจีนก็ถูกเก็บภาษีรวมสูงถึง 145%
มาตรการกีดกันการค้าเหล่านี้ ส่งผลให้ความตึงเครียดกับสหภาพยุโรป (EU) รุนแรงขึ้น และยังผลักดันให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้วิ่งเข้าหาโต๊ะเจรจาอย่างเร่งด่วน แม้สหรัฐฯ จะมีหลักฐานชัดเจนถึงความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจโลก แต่ทรัมป์ยังคงยืนกรานว่าสหรัฐฯ “ถูกเอาเปรียบ” ในเวทีการค้าระหว่างประเทศ
ทรัมป์อ้างว่า มาตรการภาษีนี้จะช่วยสร้างงานในภาคโรงงานในประเทศ และยังช่วยหาทุนสำหรับแผนการลดภาษีเงินได้ที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 10 ปีข้างหน้า รวมถึงนำไปใช้ในการชำระหนี้สาธารณะของประเทศซึ่งสูงถึง 36 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นเครื่องมือกดดันเพื่อเจรจาการค้าใหม่ให้เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม งานศึกษาจาก The Budget Lab ของ Yale University ระบุว่า มาตรการภาษีดังกล่าว อาจทำให้รายได้ที่สามารถใช้จ่ายได้ของครัวเรือนเฉลี่ยลดลงถึง 4,900 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี
ตลอดช่วงที่ผ่านมา ทรัมป์พยายามใช้ตำแหน่งประธานาธิบดีประกาศโครงการลงทุนหลายโครงการ แม้ว่ายังไม่เห็นผลกระทบเชิงเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม เช่น การพูดถึงการลงทุนมูลค่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐใน AI ร่วมกับ OpenAI, Oracle และ SoftBank หรือการเชิญผู้บริหาร Hyundai มาแถลงข่าวเปิดโรงงานเหล็กใหม่ ทว่าข้อมูลล่าสุดชี้ว่า การก่อสร้างโรงงานกลับลดลงในเดือนกุมภาพันธ์ และนักวิเคราะห์เอกชนหลายสำนักต่างพากันปรับเพิ่มโอกาสที่สหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้
Howard Lutnick รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ กล่าวว่า ทรัมป์จะเข้ามารับผิดชอบอย่างเต็มตัวต่อในการดูแลสภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่นโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลเริ่มเห็นผลเต็มรูปแบบ
โดนัลด์ ทรัมป์ เคยให้คำมั่นว่าจะจัดการกับ “การทุจริต และการใช้งบประมาณอย่างไร้ประสิทธิภาพ” ในรัฐบาลสหรัฐฯ โดยมอบหมายให้ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีนักเทคโนโลยีเข้ามาเป็นผู้นำภารกิจนี้
มัสก์ เริ่มต้นแผนก่อตั้งกระทรวงเพิ่มประสิทธิภาพรัฐบาลหรือ DOGE (Department of Government Efficiency) ขึ้นมา ส่งผลให้กลายเป็นหนึ่งในนโยบายที่ทั้งขัดแย้งและส่งผลกระทบมากที่สุดในช่วง 100 วันแรกของรัฐบาลทรัมป์
ด้วยแนวคิดแบบสตาร์ทอัพสายเทคโนโลยี มัสก์ลงมือปฏิรูปด้วยแนวทาง “พังสิ่งเดิมให้ได้ก่อน แล้วค่อยคิดว่าจะซ่อมอะไร” การปลดคนออกจากงานเป็นไปอย่างกว้างขวางและไร้ข้อจำกัด โปรแกรมโครงการต่าง ๆ ถูกยกเลิกโดยแทบไม่มีการวิเคราะห์ผลกระทบเชิงลึก ขณะที่ผลกระทบต่อชีวิตประชาชน ถูกปล่อยให้เป็นปัญหาให้คนอื่นจัดการ
ทีมงานของมัสก์สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลสำคัญ ๆ และเจาะลึกเข้าไปในหน่วยงานเล็ก ๆ ที่รับผิดชอบการบริหารบุคลากรของรัฐบาลกลางและทรัพย์สินของรัฐบาล
ต้องบอกก่อนว่า การลดขนาดระบบราชการลงคือหนึ่งในความใฝ่ฝันของพรรครีพับลิกัน แต่แม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญที่คร่ำหวอดในศึกงบประมาณของวอชิงตัน ก็ยังตกตะลึงกับความเร็วและความดุดันของผลงานจากทีมของมัสก์
อย่างไรก็ตาม DOGE ก็มีจุดผิดพลาดเช่นกัน โดยเฉพาะการกล่าวอ้างว่าสามารถประหยัดงบประมาณได้มหาศาล ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง โดยมัสก์ได้ประเมินตัวเลขการทุจริตเกินจริง และการโจมตีโครงการประกันสังคม (Social Security) ที่เขาเรียกว่าเป็น “แชร์ลูกโซ่” (Ponzi scheme) จนทำให้กลุ่มผู้เกษียณอายุทั่วประเทศวิตกกังวลอย่างหนัก
โครงการใหญ่ของมัสก์ดูเหมือนจะไม่บรรลุเป้าหมายตามแผนที่วางไว้ เดิมทีเขาตั้งเป้าลดงบประมาณรัฐบาลลง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในที่สุดต้องลดเป้าเหลือเพียง 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และแม้ว่าจะมีอุปสรรค แต่ทั้งทรัมป์และมัสก์ต่างก็ชื่นชมซึ่งกันและกันอย่างออกนอกหน้า
โดนัลด์ ทรัมป์ เดินเกมนโยบายที่ทั้งโลกรุมจับตา ด้วยการพลิกแนวทางทางการทูตและผู้อพยพอย่างสุดโต่ง สั่นคลอนเสถียรภาพของระเบียบโลกที่ยืนยาว สิ่งที่เราทราบกันดีคือ โดนัลด์ ทรัมป์ คือบุคคลที่ปฏิเสธระเบียบโลกที่ถูกร่างขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของเสถียรภาพและความมั่นคงระดับโลกมายาวนานกว่า 70 ปี
ทรัมป์แสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่ยึดติดกับพันธมิตรแบบเดิม และยังส่งสัญญาณถอยห่างจากพันธมิตรดั้งเดิม เช่น เยอรมนีและฝรั่งเศส พร้อมพิจารณาลดการประจำการของทหารสหรัฐฯ ในยุโรป สร้างความไม่มั่นใจให้กับพันธมิตรหลายประเทศที่เคยพึ่งพาสหรัฐฯ มายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นแคนาดา ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้
พร้อมกับมีนโยบายจะถอนสหรัฐฯ ออกจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ยกเลิกข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาคมโลก
แม้จะให้คำมั่นว่าจะยุติสงครามในยูเครนและกาซาอย่างเร่งด่วน แต่สถานการณ์กลับยังคงยืดเยื้อ ขณะที่การต้อนรับผู้นำยูเครนอย่างเปิดเผยด้วยการตำหนิต่อหน้าสื่อมวลชน และการกล่าวอ้างซ้ำ ๆ อย่างผิดพลาดว่า “ยูเครนเป็นฝ่ายเริ่มสงคราม” ก็ยิ่งทำให้พันธมิตรในยุโรปสั่นคลอนความเชื่อมั่นในตัวผู้นำสหรัฐฯ คนนี้มากขึ้น
ด้านในประเทศ ทรัมป์เดินหน้าเต็มสูบในแคมเปญกวาดล้างผู้อพยพผิดกฎหมาย ซึ่งถือเป็นจุดแข็งทางการเมืองของเขา ด้วยการรื้อฟื้น Alien Enemies Act ที่มีมาตั้งแต่ปี 1798 เพื่อเนรเทศผู้อพยพโดยแทบไม่มีขั้นตอนการพิจารณาคดี และใช้กฎหมายดังกล่าวส่งผู้ต้องสงสัยเป็นแก๊งอาชญากรรมชาวเวเนซุเอลาไปยังเรือนจำในเอลซัลวาดอร์ แม้จะขัดคำสั่งศาล
รัฐบาลของทรัมป์ยังทำการส่งทหารไปคุมชายแดน ใช้เครื่องบินทหารเนรเทศผู้อพยพในบางกรณี สั่งห้ามผู้อพยพที่เดินทางผ่านพรมแดนทางใต้ยื่นขอลี้ภัย และเปลี่ยนแอป CBP One ที่เคยใช้ขอนัดเข้าสหรัฐฯ อย่างถูกกฎหมาย ให้กลายเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้ผู้อพยพยอมกลับประเทศโดยสมัครใจ
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังเสนอแนวคิดยกเลิกสิทธิการเป็นพลเมืองโดยกำเนิด (Birthright Citizenship) และเสนอขายบัตรทอง มูลค่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้ชาวต่างชาติแลกกับสัญชาติอเมริกัน พร้อมกับยังมีการพยายามยกเลิกสถานะผู้อพยพชั่วคราว และนำหมายเลขประกันสังคมของผู้อพยพที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายไปขึ้นบัญชีผู้เสียชีวิตอีกด้วย
และก็ถือว่าเห็นผลตามหวังของทรัมป์เกินคาด เพราะมาตรการทั้งหมดส่งผลให้การลักลอบเข้าเมืองลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตัวเลขการจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองลดลงถึง 95% เทียบกับปี 2024
และยิ่งไปกว่านั้น ทรัมป์ยังพยายามที่จะเปลี่ยนชื่อ “Gulf of Mexico” เป็น “Gulf of America” เพื่ออ้างสิทธิเป็นของอเมริกา พร้อมกับแขวนภาพแผนที่ใหม่ไว้ในห้องทำงานในทำเนียบขาว และนอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องของการโจมตีนโยบายด้านความหลากหลายและความเท่าเทียม (DEI) ปลดทหารหญิงยศสี่ดาวเพียงคนเดียวออก พร้อมกับห้ามไม่ให้บุคคลข้ามเพศสมัครเข้าเป็นทหาร
โดนัลด์ ทรัมป์ พลิกแนวนโยบายของสหรัฐฯ จากยุคไบเดนอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่เน้นลดโลกร้อน มาเป็นการผลักดันเป้าหมายที่เขาเรียกว่า “ครองความเป็นเจ้าแห่งพลังงานโลก” ของสหรัฐฯ
ทรัมป์ได้จัดตั้งสภาครองความเป็นเจ้าแห่งพลังงานแห่งชาติ (National Energy Dominance Council) โดยแต่งตั้ง Doug Burgum รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ Chris Wright รัฐมนตรีพลังงาน เป็นหัวเรือใหญ่ พร้อมสั่งการให้เร่งเดินหน้าเพิ่มการผลิตพลังงานของสหรัฐฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่แล้ว โดยเฉพาะการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ พร้อมทั้งล้มกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวในภาคพลังงาน
แม้ก่อนหน้านี้ ทรัมป์จะนำสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว แต่ในวาระที่สองของเขา ทรัมป์ยิ่งเดินหน้ารื้อถอนกฎสิ่งแวดล้อมเชิงลึกอย่างดุเดือดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกฎควบคุมมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน, รถยนต์ หรือภาคอุตสาหกรรมการผลิต ตามแผนล้ม “ศาสนาโลกร้อน” (Climate-Change Religion) ที่ทรัมป์มองว่าเป็นแนวคิดสุดโต่ง
Lee Zeldin ผู้ดูแลสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (EPA) ประกาศดำเนินมาตรการถอดถอนกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมฉบับสำคัญหลายฉบับ รวมถึงแผนล้มล้างผลการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ปี 2009 ของ EPA ที่เคยเป็นพื้นฐานทางกฎหมายสำคัญในการดำเนินนโยบายต้านโลกร้อนของสหรัฐฯ มาตลอดหลายทศวรรษ
เมื่อกลับคืนสู่ทำเนียบขาว ทรัมป์ได้ปลดผู้นำองค์กรวัฒนธรรมหลายแห่ง สั่งพักงานเจ้าหน้าที่ และตัดงบประมาณสนับสนุนศิลปิน ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ โรงละคร และชุมชนวัฒนธรรมอื่น ๆ เป็นมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดำเนินการโดยไม่ผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรส
ทรัมป์ประกาศว่า สถาบันต่าง ๆ เช่น ศูนย์ศิลปะการแสดงจอห์น เอฟ. เคนเนดี (Kennedy Center), กองทุนสนับสนุนศิลปะแห่งชาติ (NEA) และกองทุนสนับสนุนมนุษยศาสตร์แห่งชาติ (NEH) กลายเป็นแนวหน้าของวาระการเมืองสาย “Woke” ซึ่งเขามองว่าเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งที่เขาเรียกว่า วิสัยทัศน์แห่งยุคทองของศิลปะและวัฒนธรรมของสหรัฐฯ
องค์กรเหล่านี้ส่วนใหญ่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 1960 ภายใต้โครงการ Great Society ของประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สังคมอเมริกันมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลสูง และการส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมถือเป็นวาระแห่งชาติ ด้วยการสนับสนุนร่วมกันจากทั้งสองพรรคการเมือง
ด้าน NEA จึงออกมากางผลงานวิจัย เปิดเผยผลการศึกษาโดยรัฐบาลล่าสุดว่า ศิลปะมีส่วนเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 และในช่วงที่ทรัมป์ได้ตั้งกำแพงภาษีกับหลายประเทศ ศิลปะยังกลายเป็นภาคเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยมูลค่าส่งออกสินค้าและบริการด้านศิลปะของสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงกว่าการนำเข้าถึงเกือบ 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว
ตั้งแต่ช่วงหาเสียง มีหลายสำนักข่าวคาดการณ์ว่า วาระที่สองของโดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นความท้าทายครั้งใหญ่สำหรับวงการสื่อ แต่ก็ไม่คาดคิดว่า ความตึงเครียดจะทวีความรุนแรงถึงเพียงนี้
รัฐบาลชุดใหม่ของโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเกมรุกกับสื่อมวลชนอย่างแข็งกร้าวและแปลกใหม่ นับตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง ทั้งการดำเนินคดีฟ้องร้อง CBS News และสำนักข่าว Associated Press, ความพยายามรื้อถอน Voice of America (VOA) สื่อภาครัฐที่ทำหน้าที่กระจายข่าวสารในระดับโลก และการส่งสำนักงานคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของรัฐบาลกลาง (FCC) ไปกดดันคู่แข่งในวงการสื่อที่มองว่าอยู่ฝ่ายตรงข้าม
ด้านทำเนียบขาวก็ยังได้ตั้งช่องโซเชียลมีเดียสายตอบโต้ฉับไว เพื่อโพสต์เนื้อหาโต้แย้งและจับผิดข่าวปลอมอย่างต่อเนื่องทุกวัน
ศาสตราจารย์ Bill Grueskin จาก Columbia University ให้ความเห็นว่า “รัฐบาลทรัมป์กำลังทำทุกวิถีทางเพื่อลดบทบาทและขัดขวางการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในสหรัฐฯ”
การกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ในวาระที่สองนี้ ไม่ได้เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงนโยบายบางด้าน แต่เป็นการเขย่าระบบเดิมในแทบทุกมิติ ตั้งแต่การพลิกระเบียบโลก, รื้อกฎเกณฑ์สิ่งแวดล้อม, ปฏิรูปนโยบายคนเข้าเมืองอย่างแข็งกร้าว, กวาดล้างการสนับสนุนศิลปะวัฒนธรรม ไปจนถึงการเปิดศึกเต็มรูปแบบกับสื่อมวลชน
นโยบายที่ทรัมป์ผลักดัน ยังก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมอย่างหนักทั้งภายในประเทศและบนเวทีโลก จนแนวทางที่เรียกได้ว่าเผชิญหน้าแทบทุกด้านของเขา ได้สร้างทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
เพราะฉะนั้น หลังจากนี้ โลกก็ยังคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า “ยุคทอง” ที่ทรัมป์ประกาศว่าจะสร้างขึ้นใหม่ จะเป็นจริงดังที่เขาตั้งเป้าหมายไว้ หรือจะกลายเป็นอีกหนึ่งบททดสอบใหญ่ที่ทิ้งร่องรอยแห่งความเปลี่ยนแปลงเอาไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ อีกครั้ง
ที่มา: AP, Times, Nikkei Asia, CNBC
ติดตามเพจ Facebook: Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney