Bloomberg จัดอันดับ 20 ตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชีย โดยผู้ที่ครองแชมป์อันดับ 1 คือ ตระกูลอัมบานี เจ้าของอาณาจักรธุรกิจ “รีไลแอนซ์ อินดัสทรีส์ (Reliance Industries)” ที่ดำเนินธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่โรงกลั่นน้ำมันยันธุรกิจเทคโนโลยี ก่อตั้งโดย ธีรุไภย อัมบานี บิดาของมูเกช ลูกชาย ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานและกรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัท นอกจากนี้ตระกูลอัมบานี ยังเป็นผู้นำในการพัฒนา AI หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีขั้นสูงในอินเดีย ด้วยการลงทุนใน Data Center
โดยปัจจุบันธุรกิจในเครืออยู่ภายใต้การบริหารของทายาทรุ่นที่ 3 ทำให้ตระกูลอัมบานี มีความมั่งคั่งสุทธิ 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
รองแชมป์อันดับ 2 ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนไกล เป็นตระกูล “เจียรวนนท์” ที่คนไทยคุ้นหน้าคุ้นตากันดี เจ้าของกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย “เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group)” ซึ่งเป็นเจ้าตลาดครองธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ตั้งแต่ธุรกิจอาหาร ค้าปลีกและโมเดิร์นเทรด และธุรกิจการสื่อสาร ปัจจุบัน CP Group ดำเนินธุรกิจต่อเนื่องมาจนถึงทายาทรุ่นที่ 4 ทำให้ตระกูลมีความมั่งคั่งสุทธิ 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ Bloomberg มองว่า เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่สอง เขาได้สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลกด้วยนโยบายทรัมป์ 2.0 ไม่ว่าจะเป็นการเดินหน้าเจรจาทางการทูต การตอบโต้ทางภาษีกับประเทศที่ทำการค้าไม่เป็นธรรมกับสหรัฐฯ และมาตรการอื่นๆ ที่จะทยอยประกาศออกมา เพื่อสนับสนุนเป้าหมายทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเดินเกมเศรษฐกิจและการเมืองของทรัมป์ยังทรงอิทธิพลและคาดเดาไม่ได้
การกลับมาของทรัมป์ ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก แต่ยังมีอิทธิพลต่อความมั่งคั่งของตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชีย ตลอด 4 ปีข้างหน้า
คำถามที่ค้างคาใจในหมู่มหาเศรษฐีเหล่านี้คือมาตรการกำแพงภาษีของทรัมป์จะกินเวลานานเพียงใด รวมถึงแนวทางตอบโต้มาตรการภาษีสหรัฐฯ ของรัฐบาลประเทศอื่นจะเป็นอย่างไร Bloomberg คาดว่าตระกูลจาง (อันดับ 11) ผู้ก่อตั้ง China Hongqiao Group ผู้ผลิตอะลูมิเนียม และตระกูลลี (อันดับ 10) ของบริษัท Samsung Electronics ของเกาหลีใต้ อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหากมาตรการกำแพงภาษีเหล่านี้ยืดเยื้อ
อย่างไรก็ตาม ทุกความเสี่ยงมีโอกาส Maybank Securities ประเมินว่า การขึ้นภาษีศุลกากรของทรัมป์จะช่วยเร่งกระแส "จีนบวกหนึ่ง (China Plus One)" โดยเปลี่ยนทิศทางการลงทุนจากต่างประเทศมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยธุรกิจอาหารในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสได้ผลประโยชน์มากที่สุด
อันดับ 3 ตระกูลฮาร์โตโน (Hartono) จากอินโดนีเซีย มั่งคั่งสุทธิ 4.22 หมื่นล้านดอลลาร์
อันดับ 4 ตระกูลมิสทรี (Mistry) จากอินเดีย มั่งคั่งสุทธิ 3.75 หมื่นล้านดอลลาร์
อันดับ 5 ตระกูลกว็อก (Kwok) จากฮ่องกง มั่งคั่งสุทธิ 3.56 หมื่นล้านดอลลาร์
อันดับ 6 ตระกูลไช่ (Tsai) จากไต้หวัน มั่งคั่งสุทธิ 3.09 หมื่นล้านดอลลาร์
อันดับ 7 ตระกูลจินดาล (Jindal) จากอินเดีย มั่งคั่งสุทธิ 2.81 หมื่นล้านดอลลาร์
อันดับ 8 ตระกูลอยู่วิทยา (Yoovidhya) จากไทย มั่งคั่งสุทธิ 2.57 หมื่นล้านดอลลาร์
อันดับ 9 ตระกูลบิร์ลา (Birla) จากอินเดีย มั่งคั่งสุทธิ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์
อันดับ 10 ตระกูลลี (Lee) จากเกาหลีใต้ มั่งคั่งสุทธิ 2.27 หมื่นล้านดอลลาร์
อันดับ 11 ตระกูลจาง (Zhang) จากจีน มั่งคั่งสุทธิ 2.19 หมื่นล้านดอลลาร์
อันดับ 12 ตระกูลเจิ้ง (Cheng) จากฮ่องกง มั่งคั่งสุทธิ 2.18 หมื่นล้านดอลลาร์
อันดับ 13 ตระกูลบาจัจ (Bajaj) จากอินเดีย มั่งคั่งสุทธิ 2.01 หมื่นล้านดอลลาร์
อันดับ 14 ตระกูลเปา-วู (Pao/Woo) จากฮ่องกง มั่งคั่งสุทธิ 1.96 หมื่นล้านดอลลาร์
อันดับ 15 ตระกูล Kwek / Quek จากสิงคโปร์/มาเลเซีย มั่งคั่งสุทธิ 1.79 หมื่นล้านดอลลาร์
อันดับ 16 ตระกูลคาดูรี (Kadoorie) จากฮ่องกง มั่งคั่งสุทธิ 1.71 หมื่นล้านดอลลาร์
อันดับ 17 ตระกูลจิราธิวัฒน์ (Chirathivat) จากไทย มั่งคั่งสุทธิ 1.57 หมื่นล้านดอลลาร์
อันดับ 18 ตระกูลฮินดูจา (Hinduja) จากอินเดีย มั่งคั่งสุทธิ 1.52 หมื่นล้านดอลลาร์
อันดับ 19 ตระกูล Sy จากฟิลิปปินส์ มั่งคั่งสุทธิ 1.51 หมื่นล้านดอลลาร์
อันดับ 20 ตระกูลลี (Lee) จากฮ่องกง มั่งคั่งสุทธิ 1.50 หมื่นล้านดอลลาร์
ที่มา
ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney