เปิดเส้นทางดัน "ผลไม้ไทย" ขึ้นแชมป์โลก พาณิชย์ตั้งเป้ารายได้ 4.5 แสนล้านคืนเกษตรกร

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปิดเส้นทางดัน "ผลไม้ไทย" ขึ้นแชมป์โลก พาณิชย์ตั้งเป้ารายได้ 4.5 แสนล้านคืนเกษตรกร

Date Time: 1 พ.ค. 2566 07:00 น.

Summary

  • วิกฤติโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคเศรษฐกิจ และการค้าทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบจากมาตรการ “ล็อกดาวน์” หรือ “ปิดเมือง” จำกัดการเดินทาง การเข้า-ออกเมือง ปิดพรมแดนระหว่างประเทศ

Latest

กำไรไม่พอจ่ายดอกเบี้ย เอสเอ็มอีอ่อนแอ! เสี่ยงเป็นบริษัทซอมบี้

วิกฤติโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคเศรษฐกิจ และการค้าทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบจากมาตรการ “ล็อกดาวน์” หรือ “ปิดเมือง” จำกัดการเดินทาง การเข้า-ออกเมือง ปิดพรมแดนระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

การดำเนินการเช่นนี้ ไม่เพียงแต่กระทบต่อการเดินทางและการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศด้วย

“ผลไม้สดของไทย” ที่ส่งออกไปจีน สร้างรายได้เข้าประเทศปีละนับ 1 แสนล้านบาท เป็นอีกหนึ่งสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการควบคุมที่เข้มข้นของจีน ที่เรียกว่า “Zero Covid” เพราะทำให้เกิดความล่าช้าในการขนส่งอย่างมาก กระทบต่อทั้งปริมาณการส่งออก และฉุดให้ราคาผลผลิตผลไม้ไทยตกต่ำ

ทั้งนี้ การส่งออกผลไม้ไทยไปสู่ตลาดจีน ส่วนใหญ่ส่งออกผ่านทางบก เช่น ผ่านด่านโหยวอี้กว่าน และด่านรถไฟผิงเสียง นครหนานหนิง หรือด่านโม่ฮาน และด่านรถไฟโม่ฮาน เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ฯลฯ แทบผ่านด่านไม่ได้เลย

แม้ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ส่งออกไทยหันไปส่งออกผ่านทางเรือและเครื่องบินแทน แต่มีข้อจำกัดที่ทางเรือใช้เวลาขนส่งเกือบครึ่งเดือน สินค้าเน่าเสียระหว่างทาง ค่าระวางเรือแพง ส่วนทางเครื่องบิน แม้ใช้เวลาสั้นกว่ามาก แต่ต้นทุนค่าขนส่งแพงมาก เช่นเดียวกับทางรถไฟลาว-จีน ที่มีต้นทุนสูงเช่นกัน ทำให้ปี 65 มูลค่าการส่งออกผลไม้สดของไทยไปจีนในภาพรวม ลดลงมาก โดยเฉพาะ 3 ชนิดหลัก คือ ทุเรียน มังคุด และลำไย

แต่ถึงกระนั้น ปี 65 ไทยก็ยังสามารถครองแชมป์ประเทศที่จีนนำเข้าผลไม้มากที่สุดในโลก ด้วยปริมาณ 2.17 ล้านตัน มูลค่า 4,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผลไม้ที่นำเข้ามากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กล้วยหอม มะพร้าวอ่อน ทุเรียน แก้วมังกร และลำไย เฉพาะทุเรียน จีนนำเข้าจากไทย 95% ของการนำเข้าทุเรียนจากโลก และนำเข้ามะพร้าวอ่อน 523,000 ตัน มากที่สุดในโลก

การเร่งแก้ปัญหาการขนส่งที่ติดขัด ไม่คล่องตัว จนกระทบต่อการส่งออก จึงเป็นแนวทางที่กระทรวงพาณิชย์ต้องเร่งดำเนินการ โดย “นายกีรติ รัชโน” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เร่งหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของจีนและเวียดนาม เพื่อให้ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการส่งออกให้กับผลไม้ไทย รองรับผลไม้ในฤดูกาลผลไม้ปีนี้ที่ปริมาณเพิ่มขึ้นมาก

“ทีมเศรษฐกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ถึงเรื่องดังกล่าว ดังนี้

ผลผลิตผลไม้ปี 66 เกือบ 7 ล้านตัน

นายกีรติ เล่าว่า ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด ผลไม้สดของไทยที่ปกติส่งออกไปจีนผ่านเส้นทางทางบกเป็นส่วนใหญ่ มีปัญหาการผ่านด่านของจีนมาก เพราะจีนใช้มาตรการ Zero Covid ควบคุมการระบาดอย่างเข้มข้น โดยตรวจกรดนิวคลีอิก ทั้งคนขับรถและสินค้า ทำให้การขนส่งล่าช้า ผลไม้เน่าเสียหาย และกระทบต่อการส่งออก

ประกอบกับปีนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดการณ์ว่า ผลผลิตผลไม้จะมีปริมาณ 6.78 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3% จากปี 65 โดยทุเรียนเพิ่ม 18% มังคุดเพิ่ม 30% ลำไยเพิ่ม 1% เงาะเพิ่ม 7% ลิ้นจี่ เพิ่ม 10% มะม่วงเพิ่ม 4% สับปะรดเพิ่ม 5%

หากไม่เร่งหาทางอำนวยความสะดวกในการส่งออก ลดปัญหาและอุปสรรคด้านต่างๆ และเร่งรัดการส่งออกให้มากขึ้น อาจมีผลกระทบต่อราคาขายของเกษตรกรได้

แม้ช่วงก่อนหน้านี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เตรียมมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 66 แบบเชิงรุก ทั้งหมด 22 มาตรการ แบ่งเป็น 4 ด้าน คือ การผลิต การตลาดในประเทศ การตลาดต่างประเทศ และด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แล้วก็ตาม

“ตลาดจีน เป็นตลาดใหญ่ และสำคัญของผลไม้ไทย เมื่อฤดูกาลผลไม้มาถึงกระทรวงพาณิชย์ ต้องหาทางเร่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้การส่งออกคล่องตัว ไม่ติดขัด ซึ่งจะมีส่วนทำให้ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นได้”

สำหรับการเคลียร์ทางสะดวกสำหรับการส่งออกนั้น ตนในฐานะประธานคณะทำงานผลักดันการส่งออกผลไม้ ได้นำคณะเดินทางไปเยือนมณฑลยูนนาน จีน เมื่อวันที่ 27-29 มี.ค.ที่ผ่านมา และจังหวัดลางเซิน กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 24-26 เม.ย. เพื่อหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องพร้อมกับสำรวจด่านของจีนที่นำเข้าผลไม้ไทย คือ ด่านทางบกโม่ฮาน และด่านรถไฟโม่ฮาน เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน รวมถึงด่านหูหงิ และด่านรถไฟสากลด่งดัง เมืองลางเซิน กรุงฮานอย เวียดนาม เส้นทางผ่านของผลไม้ไทยเข้าจีนที่ด่านโหยวอี้กว่าน และสถานีรถไฟเมืองผิงเสียง นครหนานหนิง ของจีน

จีนเคลียร์ทางสะดวกรับผลไม้

ด้านการเดินทางไปมณฑลยูนนานนั้น นายกีรติเล่าว่า ได้ประชุมร่วมกับสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ (สพต.) ณ กรุงปักกิ่ง และทูตพาณิชย์ไทยประจำจีน 7 คน รวมถึงทูตพาณิชย์ไทยประจำเวียงจันทน์ ลาว และทูตพาณิชย์ไทยประจำฮานอย เวียดนาม เพื่อติดตามภาวะการค้าผลไม้ไทย พร้อมกำชับให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ส่งออกด้วย

“ถ้ามีปัญหาติดขัด ต้องแก้ไขทันที ถ้าจำเป็นต้องแก้ไขในระดับนโยบาย ก็ให้รายงานเข้าส่วนกลางโดยด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาได้ทันกาล ไม่กระทบต่อการส่งออก โดยจีนเป็นตลาดสำคัญของผลไม้ไทย จึงต้องรักษาส่วนแบ่งตลาด และขยายเพิ่มขึ้นให้ได้”

นอกจากนี้ ยังได้หารือกับ Mr.Xu Chun ผู้อํานวยการคณะกรรมการบริหารเขตความร่วมมือบ่อเต็น-โม่ฮาน ของจีน เพื่อขอให้ช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งออกผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดจีน โดยเฉพาะการตรวจสอบคุณภาพ และโรคพืชให้รวดเร็วขึ้น อีกทั้งยังสำรวจพื้นที่ลานตรวจสอบจำเพาะของสินค้าผลไม้ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการขนส่งผลไม้ไทยผ่านด่านจีน

สำหรับด่านโม่ฮาน เป็นด่านรถบรรทุก เดิมการจราจรติดขัด เพราะเดินรถช่องทางเดียว ในช่วงฤดูกาลผลไม้ มีรถเข้าออกประมาณ 500 คัน/วัน แต่ปัจจุบันจีนเปิดช่องทางเดินรถเพิ่ม ประกอบกับยกเลิก Zero Covid ส่งผลให้การระบายรถดีขึ้น การขนส่งผลไม้ไทยคล่องตัวมากขึ้น และมีการนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น

ส่วนด่านรถไฟโม่ฮาน นำเข้าผลไม้ด้วยตู้สินค้าปรับอากาศได้ มีเที่ยวรถไฟลาว-จีนขนส่งสินค้าเข้าจีน 7 ขบวน/วัน และลานตรวจจำเพาะสินค้า มีช่องตรวจผลไม้ ธัญพืช และสัตว์น้ำแช่เย็น รวม 26 ช่องตรวจ ปัจจุบันเปิดใช้งานเฉพาะลานตรวจผลไม้ คาดว่าจะมีผลไม้ไทยผ่านเข้าจีนทางด่านนี้มากขึ้นเช่นกัน

“หลังจากวันที่ 30 พ.ย.65 ที่จีนประกาศให้ตรวจโรคพืชที่ขนส่งผ่านทางรถไฟได้แล้ว ทำให้การส่งออกผลไม้ไทยคล่องตัวมากขึ้น มีการขนส่งผลไม้ผ่านรถไฟลาว-จีนมากขึ้น ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.65 ถึงเดือน มี.ค.66 มีการขนส่งผลไม้ไทยผ่านเส้นทางนี้กว่า 22 ลอต 157 ตู้ รวมกว่า 3,675 ตัน เป็น ทุเรียน 4 ตู้ ลำไย 90 ตู้ กล้วย 53 ตู้ และผลไม้อื่นๆ 10 ตู้ คาดจะมีผลไม้ไทยผ่านเส้นทางนี้เพิ่มขึ้นแน่นอน”

เวียดนามย้ำดูแลสินค้าไทยอย่างดี

ส่วนการเดินทางเยือนเวียดนาม นายกีรติ กล่าวว่า ได้สำรวจเส้นทางขนส่งผลไม้ไทยผ่านด่านหูหงิ และด่านรถไฟสากลด่งดัง จังหวัดลางเซิน เมืองชายแดนของเวียดนาม-จีน โดยได้หารือกับนางดว่าน ทูห่า รองประธานคณะกรรมการประชาชนจังหวัดลางเซิน เพื่อขอให้ช่วยอำนายความสะดวกให้การขนส่งผลไม้ไทยผ่านด่านหูหงิเข้าสู่ด่านโหยวอี้กว่าน และด่านรถไฟสากลด่งดังไปยังสถานีรถไฟผิงเสียงของจีน ให้คล่องตัวมากขึ้น พร้อมเสนอให้ตั้งคณะทำงานร่วมไทย-เวียดนาม เพื่อแก้ปัญหา อุปสรรคได้ทันท่วงที

“เวียดนาม แจ้งว่า ที่ผ่านมา อำนวยความสะดวกให้กับผลไม้ไทยผ่านไปยังจีนอยู่แล้ว แต่ก็พร้อมจะเพิ่มความสะดวกให้มากขึ้นอีก ส่วนเรื่องตั้งคณะทำงาน มีคณะทำงานร่วมเวียดนาม–จีน แก้ปัญหาการส่งออก นำเข้าอยู่แล้ว แต่จะพิจารณานำไทยเข้ามาอยู่ในคณะทำงานนี้ด้วย”

สำหรับด่านหูหงิ เป็นด่านสำคัญที่รถขนส่งผลไม้จากไทยจะมาใช้บริการก่อนเข้าสู่ด่านโหยวอี้กว่าน นครหนานหนิง มีรถบรรทุกออกจากด่านไปจีนประมาณ 300 คัน/วัน และมีรถจากจีนเข้าด่านนี้ประมาณ 500 คัน/วัน หรือกว่า 80% ของการส่งออก เป็นผลไม้จากไทยไปจีน จากตรวจสอบการขนส่งเป็นปกติ ไม่ติดขัดเหมือนช่วงที่จีนคุมเข้มโควิด-19

ส่วนด่านรถไฟด่งดัง เป็นด่านที่เชื่อมต่อไปยังด่านรถไฟผิงเสียงของจีน ห่างจากด่านหูหงิ 1 กิโลเมตร ผลไม้ไทยที่ผ่านด่านนี้ ส่วนใหญ่เป็นทุเรียน ในแต่ละวัน มีรถไฟ 5 ขบวนที่ส่งออกไปจีน และมี 5 ขบวนที่เข้ามาจากจีน ในช่วงฤดูผลไม้ไทยปี 65 ทุเรียนไทยผ่านด่านนี้ไปจีน 10-20 ตู้ต่อวัน

“ได้กำชับให้ทูตพาณิชย์ฮานอย ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประสานเวียดนามอำนวยความสะดวกให้กับผลไม้ไทยเวลาผ่านด่านชายแดนเวียดนามไปจีน ติดตามการค้าชายแดน การปิด-เปิดด่าน และแจ้งเตือนผู้ประกอบการ รวมถึงประสานด่านศุลกากรเวียดนาม เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการไทย หากมีปัญหา ก็ให้รีบหารือกับผู้บริหารด่านของเวียดนาม เพื่อแก้ไขในทันที”

ด้านนางดว่าน ทู ห่า รองประธานคณะกรรมการประชาชนจังหวัดลางเซิน กล่าวว่า ที่ผ่านมา ลางเซินต้อนรับสินค้าไทยเหมือนกับสินค้าของเวียดนาม ลางเซินมีด่านการค้ากับจีนกว่าสิบด่าน แต่ด่านหูหงิคึกคักที่สุด ในช่วงโควิด ที่จีนเข้มงวดควบคุมการระบาด ด่านต่างๆของลางเซินขยายเวลาทำงาน เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ เพื่อให้การส่งออก นำเข้ารวดเร็วขึ้น

“ถ้าโควิดกลับมาระบาดอีกครั้ง และจีนควบคุมการแพร่ระบาดเข้มงวดอีกครั้ง ไทยไม่ต้องกังวล เพราะเวียดนามได้หารือกับจีน เพื่ออำนวยความสะดวกการนำเข้า ส่งออกระหว่างกันไว้แล้ว ขอให้ไทยไว้ใจลางเซิน และส่งสินค้าเข้าสู่ตลาดจีนโดยผ่านด่านต่างๆของลางเซินได้”

ขยายโอกาสไทยในจีน–เวียดนาม

การเดินทางมาเยือนทั้ง 2 ประเทศ ไม่ได้เพียงหาทางอำนวยความสะดวกสำหรับการส่งออกผลไม้ของไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสในการส่งเสริม และผลักดันการส่งออกสินค้าไทยเขาสู่ทั้ง 2 ประเทศด้วย อย่างที่จีน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ซื้อขายผลไม้ไทย ระหว่างผู้ประกอบการไทย และผู้ซื้อจากจีน 2 ราย โดยตกลงซื้อทุเรียนกว่า 500 ล้านบาท ภายใน 5 ปี

ส่วนที่เวียดนาม ได้หารือนายนิกรเดช พลางกูร เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงฮานอย เพื่อติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า ของเวียดนามตอนเหนือ และติดตามโอกาสขยายการค้า การลงทุน ให้กับผู้ประกอบการไทย

นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมเทศกาลสินค้าไทย Taste of Thailand ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโอจิมินท์ ร่วมกับห้าง MM Mega Market ห้างค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ของเวียดนาม จัดขึ้นที่สาขา An Phu นครโฮจิมินห์ เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าไทย โดยมีสินค้าไทยวางจำหน่ายกว่า 2,400 หน่วยสินค้า (SKU) ทั้งขนมขบเคี้ยว เครื่องปรุงรส เครื่องดื่ม ผลไม้ไทย อย่างมะขามหวาน ขนุน ทุเรียน

จากนั้นสำรวจตลาดการค้าสินค้าไทย ที่ห้าง Tops Market สาขา Thao Dien นครโฮจิมินห์ ซึ่งมีสินค้าจำนวนมากเข้ามาขายที่นี่ พร้อมเป็นสักขีพยานการลงนาม MOU นำเข้าและจัดจำหน่ายไวน์เขาใหญ่ “GranMonte” ไวน์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) คาดจะมีมูลค่าสั่งซื้อทันทีลอตแรก 3,000 ขวด มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท และใน 1 ปี คาดจะมีมูลค่าสั่งซื้อไม่ต่ำกว่า 15 ล้านบาท และมอบประกาศนียบัตรร้านอาหาร Thai Select Signature ให้กับร้านอาหารไทย “อำแดงไต้ฝุ่น” ในโฮจิมินห์ด้วย

“การทำงานเชิงรุกของกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับผลไม้ ทั้งการเดินทางเยือนจีนและเวียดนาม เพื่อให้ช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งออก รวมถึงมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 66 เชิงรุก 22 มาตรการ น่าจะทำให้ผลไม้ปีนี้ไม่มีปัญหา และส่งออกได้ตามเป้าหมาย” นายกีรติกล่าว

โดยปีนี้ กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายส่งออกผลไม้สด และแปรรูปไปยังคู่ค้าทั่วโลก 4.44 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 10% จากปี 65 มูลค่า 289,500 ล้านบาท และผลไม้สด 2.02 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 10% มูลค่า 166,700 ล้านบาท หรือรวมเป็นมูลค่า 456,200 ล้านบาท.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ