สำนักงาน กสทช. จ่อเชิญดีแทคและไลน์ พลัส คอร์ปอเรชั่น ชี้แจงข้อเท็จจริงการให้บริการ LINE mobile ว่าเข้าข่ายเป็น MVNO ที่ต้องขอใบอนุญาต หรือเป็นเพียงบริการเสริมภายใต้แพ็กเกจ...
เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2560 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช. ได้มีหนังสือเชิญบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด และบริษัท ไลน์ พลัส คอร์ปอเรชั่น จำกัด เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเปิดตัว ซิมการ์ดของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหม่ในประเทศไทย ที่ชื่อว่า LINE mobile ซึ่งมีลักษณะเป็นการให้บริการร่วมกับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ในวันพฤหัสบดีที่ 15 มิ.ย. 2560 ตามที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามา โดยเรื่องนี้เป็นกระบวนการดำเนินงานของสำนักงาน กสทช. ที่ต้องตรวจสอบว่าการให้บริการดังกล่าวเข้าลักษณะการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ไม่มีโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นของตนเอง (MVNO) ที่ต้องมีใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 จาก กสทช. หรือเป็นเพียงการให้บริการเสริม ซึ่งหากเป็น MVNO ทางบริษัทต้องมายื่นขอใบอนุญาต แต่หากเป็นแค่บริการเสริมภายใต้แพ็กเกจต่างๆ ก็ไม่ต้องขออนุญาตจากสำนักงาน กสทช. ดังนั้นจึงได้มีหนังสือเชิญทั้งสองบริษัทเข้าชี้แจงเพื่อที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงในการพิจารณาเรื่องนี้
นายฐากร เปิดเผยว่า ในวันนี้ สำนักงาน กสทช. ได้เชิญผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือ ISP เข้าประชุมเพื่อติดตามการดำเนินการปิดเว็บไซต์ที่นำเสนอเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย โดย ISP ได้รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-12 มิ.ย. 2560 ได้รับคำสั่งศาลจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จำนวน 23 คำสั่ง โดยมี URL ที่ผิดกฎหมาย 965 URL เป็นของเฟซบุ๊ก 569 URL เป็นของยูทูบ 373 URL และอื่นๆ 23 URL ซึ่งขณะนี้ได้มีการปิดกั้นไปเกือบ 100% แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กสทช. ได้มีการกำชับให้ ISP เฝ้าตรวจสอบการดำเนินงานในเรื่องนี้ตลอดเวลา และรายงานให้สำนักงาน กสทช. ได้ทราบว่าภายหลังจากได้รับคำสั่งศาลแล้วได้มีการดำเนินการอย่างไร
เลขาธิการ กสทช.กล่าวด้วยว่า สำหรับขั้นตอนในการดำเนินการกับเว็บไซต์ที่นำเสนอเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย ขณะนี้ กระทรวงดีอี เป็นผู้รับผิดชอบตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 และเป็นผู้ดำเนินการขอออกหมายศาล จากนั้นดำเนินการส่งหมายศาลตรงไปยังเฟซบุ๊ก หรือยูทูบ หรือผู้ที่กระทำผิดต่อกฎหมายโดยตรง โดยจะมีสำเนาส่งมาที่สำนักงาน กสทช. เพื่อให้สำนักงานฯ ได้ติดตามตรวจสอบกับทาง ISP อีกทางหนึ่ง.