“จะเป็นอย่างไรถ้าอิเกียจับมือกับเซเว่นอีเลฟเว่น จะเป็นอย่างไรถ้าคุณสามารถแวะซื้ออาหารและเครื่องดื่ม และมากกว่านั้นคุณอาจบังเอิญเจอโซฟาที่ชื่นชอบและตัดสินใจซื้อโซฟาตัวนั้นกลับมานั่งทานเครื่องดื่มที่บ้านต่อก็เป็นได้”
ลีโอนี่ ฮอสกิ้น ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจค้าปลีก อิเกีย ประจำไทยและเวียดนาม เล่าถึงที่มาของการปรับโมเดลสโตร์ที่มีขนาดเล็กลง พร้อมแผนขยายตลาดออกนอกกรุงเทพมหานครว่า
จากการสังเกตพฤติกรรมการซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันของคนเอเชียในช่วงสิบปีที่ผ่านมา พบว่านิยมซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกใกล้ละแวกที่อยู่อาศัยของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทยที่มักจะซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันที่ร้านสะดวกซื้ออย่าง ‘ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น’ ซึ่งได้กลายเป็นแรงบันดาลใจและที่มาของแนวคิดการพัฒนาสโตร์แบบใหม่ ผ่านความร่วมมือกับ กลุ่ม CPFC หรือ บริษัท ซีพี ฟิวเจอร์ ซิตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมกับ บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี กรุ๊ป) ได้แก่ ซีพี แอ็กซ์ตร้า (CP AXTRA), ซีพี ออลล์ (CP ALL) และ ทรู (TRUE) และ DECATHLON ต่อเนื่องจาก “IKEA สุขุมวิท” ภายใต้คอนเซปต์ City-Centre Store ที่เน้นตอบโจทย์คนเมืองเมื่อปีที่ผ่านมา
อ่านเพิ่มเติม
ลีโอนี่ เปิดเผยว่า ระยะเวลากว่าหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา อิเกีย ร่วมกับพาร์ทเนอร์ค้าปลีกทั้งกลุ่ม CP, DECATHLON และ MAKRO ได้ผ่านการทำเวิร์คช็อปและหารือร่วมกันเพื่อออกแบบหน้าตาของ “Future Convenience Store” (FCS) ร้านสะดวกซื้อนิยามใหม่ ภายใต้แนวคิดที่ต้องการให้ความสำคัญกับชุมชน พร้อมทั้งตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคหลากหลายกลุ่มที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยจะรวบรวมพาร์ทเนอร์แบรนด์ชั้นนำที่สามารถตอบสนองความต้องการการใช้ชีวิตประจำวันของลูกค้าทุกกลุ่ม
การพัฒนา “IKEA Chiangmai Order Point” ครั้งนี้สอดคล้องไปกับทิศทางการขยายตลาดของอิเกียที่ต้องการขยายบริการในประเทศไทยให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงให้กับลูกค้านอกกรุงเทพมหานคร ซึ่งนับเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง โดยเชียงใหม่เองนับเป็นพื้นที่ที่มียอดการซื้อสินค้าอิเกียผ่านช่องทางออนไลน์สูงมาก นอกเหนือจากกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของอิเกียในการพัฒนาพื้นที่ที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์หรือกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งแทนที่การหาพื้นที่ใหม่
โดย ลีโอนี่ เปิดเผยว่า “IKEA Chiangmai Order Point” เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานล่าสุดเพื่อเพิ่มการเข้าถึงแก่ลูกค้า โดยถูกนำเสนอภายใต้แนวคิด "เล็ก แต่ครบทุกอย่าง" (Small, But Everything) ผ่านการออกแบบและจัดวางพื้นที่กะทัดรัดขนาด 708 ตารางเมตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด มากไปกว่านั้นยังเป็นสาขาแรกที่ใช้ต้นทุนในการสร้างน้อยที่สุดโดยมีมูลค่าลงทุนเพียง 15 ล้านบาท ซึ่งลดลงมาจากเดิม 30-35% จากสาขาที่มีอยู่ในประเทศไทย ตามเป้าหมายที่ต้องการคงความเป็นร้านค้าปลีกต้นทุนต่ำเพื่อให้การนำเสนอสินค้าที่ลดลงไปด้วย
ภายในสโตร์มีสินค้ากว่า 300 รายการที่สามารถซื้อกลับได้ทันที นอกจากนี้ยังเน้นการนำเสนอโซลูชันการจัดเก็บที่ตอบโจทย์ทุกพื้นที่ในบ้าน บริการ Click & Collect สั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และมารับสินค้าที่หน้าร้านได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และยังเป็นสาขาแรกที่จะเป็น Cashless Store เต็มรูปแบบอีกด้วย
ปัจจุบัน อิเกีย เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยกว่า 13 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 4 สาขา โดยสามารถแบ่งรูปแบบร้าน (Format Store) ออกเป็น Megastore บริเวณชานเมืองกรุงเทพฯ ได้แก่ “IKEA บางนา” ขนาดพื้นที่ 44,000 ตารางเมตร ซึ่งอยู่โซนกรุงเทพฯ ตะวันออก “IKEA บางใหญ่” ขนาดพื้นที่ 50,278 ตารางเมตร โซนกรุงเทพฯ ตะวันตก รูปแบบ Pick-up Point ได้แก่ “IKEA ภูเก็ต” ขนาดพื้นที่ 2,193 ตารางเมตร และรูปแบบ City Store ที่ชั้น 3 ศูนย์การค้า ดิ เอ็มสเฟียร์ ขนาดพื้นที่ 12,000 ตารางเมตร
ลีโอนี่ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากคอนเซปต์ดังกล่าวประสบความสำเร็จจะพิจารณาการขยายสาขาไปยังเมืองรองในภูมิภาคอื่น ๆ ที่มีฐานลูกค้าและยอดการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์เติบโตสูง อาทิ โคราช ขอนแก่น ระยอง หาดใหญ่ และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น อย่างไรก็ตามยังอยู่ในช่วงประเมินตลาด
ทั้งนี้ในปี 2568 นอกเหนือจากการให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การขยายธุรกิจด้วยรูปแบบสโตร์ใหม่ ๆ ที่ตอบสนองกับไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของคนไทยในแต่ละภูมิภาค อิเกีย ประเทศไทย ยังได้วางแผนเชื่อมโยงแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อเพื่อพัฒนาประสบการณ์แบบออมนิแชนนอล (Omnichannel) พร้อมทั้งพัฒนาระบบการจัดส่งและบริการทั่วประเทศเพื่อความสะดวกสบายยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าชาวไทยที่ต้องการสัมผัสสินค้าจริง
และยังมุ่งมั่นที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในราคาที่เข้าถึงได้ สานต่อแคมเปญ New Lower Price เพื่อทำให้การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องง่ายและสามารถทำได้สำหรับทุกครัวเรือน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมช่วยลูกค้าให้ผ่านช่วงเวลาที่มีความท้าทายทางเศรษฐกิจ โดยการปรับลดราคาสินค้ากว่า 1,000 ชิ้น โดยเฉลี่ย 25–30% เพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าจากอิเกียที่ทั้งคุณภาพสูงและคุ้มค่ากับราคา ลีโอนี่ กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -