ทั้งนี้จากข้อมูลเดอะ คอฟฟี่ คลับ ประเทศไทย ระบุว่าทั้งปี 2566 ตลาดเครื่องดื่มเฉพาะชาและกาแฟในประเทศไทยคาดว่าจะมีการเติบโตสูงสุดที่ 9.5% ส่งผลให้มูลค่าตลาดรวมทั้งหมดอยู่ที่ 32,280.9 ล้านบาท
ดังนั้นหากจะให้พูดถึงยุครุ่งเรืองที่แทร่จริงของ “ชาไทย” นั้นก็คงหนีไม่พ้นการที่แบรนด์ต่างๆ ลุกขึ้นมาโปรโมตเมนู ไม่ว่าจะเป็น ชาตรามือ, แอมะซอน, True Coffee, อินทนิล, กาแฟพันธุ์ไทย หรือแม้กระทั่ง ร้านกูโรตี ที่เมนูเด็ดของทางร้านก็จะต้องมี “เจ้าชาสีส้ม” นี้ติดท็อปอยู่ด้วยแน่นอน
ทำให้กระแส “ชาไทยฟีเวอร์” ไม่เคยแผ่วไปจากตลาด ผู้บริโภคต่างเสาะหาที่จะลิ้มลอง ชาไทย จากผู้เล่นใหม่ๆ อยู่เสมอ จนกลายเป็นจุดพลิกผันให้มีร้านขาย “ชาไทย” ผุดขึ้นเป็นจำนวนมาก อย่างเช่น Karun (การัน), Chongdee (ชงดี), ฉันจะกินชาเย็นทุกวัน นั่นจึงทำให้ ชาเย็น หรือ ชาไทย ฮอตปรอทแตกยิ่งกว่าเดิม
แต่ทั้งนี้ร้านที่ขาย “ชาไทย” ส่วนใหญ่จะยังไม่ค่อยมีการเปิดขาย “แฟรนไชส์” มากนัก ซึ่งมักจะเป็นการขยายสาขาเองของทางแบรนด์ ดังนั้นสำหรับคนที่อยากลงทุนเปิดแฟรนไชส์ขาย เครื่องดื่มแบรนด์ที่มี “ชาไทย หรือ ชาเย็น” จะต้องใช้เงินลงทุนเท่าไร #ThairathMoney ชวนมาหาคำตอบกัน
แฟรนไชส์เครื่องดื่มกาแฟพันธุ์ไทย เป็นแฟรนไชส์ของบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ที่มีความโดดเด่นคือ ใช้เมล็ดกาแฟอาราบิก้าในท้องถิ่น ที่เนรมิตขึ้นมาเป็น เครื่องดื่มหลากหลายเมนู รวมทั้งเมนูชาไทยเข้มข้นด้วย และยังมีอาหารให้เลือกสรรอย่างหลากหลาย เบเกอรี่ก็เช่นเดียวกัน โดยราคาก็ถือได้ว่าอยู่ในระดับกลางๆ ส่วนงบการทำแฟรนไชส์เริ่มต้นอยู่ที่ 1,250,000 บาท มีทีมให้คำปรึกษาเพื่อจัดหน้าร้านแบบ Kiosk, Food Truck, Trailer, Build-in และ Stand Alone ตามความเหมาะสม
Inthanin Coffee ร้านกาแฟที่มีภาพจำคือ แลนด์มาร์กอยู่ในปั๊มน้ำมันบางจาก โดยมีรูปแบบการตกแต่งร้านเรียบง่าย ทันสมัย เน้นสีเขียว โทนอบอุ่น ดึงดูดใจผู้บริโภคด้วยรสชาติกาแฟที่เข้มข้นและมีเอกลักษณ์ พร้อมกับชูแนวคิดรักษ์โลกเป็นแคมเปญหลักๆ รวมทั้งยังมีเมนูใหม่ๆ ออกมาอยู่เสมอ อย่างเช่น ปังชาไทย ซึ่งรูปแบบร้านมีทั้งหมด 3 ขนาด ส่วนงบแฟรนไชส์เริ่มต้นที่ 9.1 แสนบาท ที่จะเป็นค่าใช้จ่ายของ ค่าธรรมเนียมแรกเข้า ค่าดำเนินการ เงินค้ำประกันบริหารร้าน ค่าระบบ POS ค่าอุปกรณ์ ค่าออกแบบและจัดทำก่อสร้าง ฯลฯ
จากเดิมที่มีเป้าหมายคือ อยากช่วยเหลือข้าราชการทหารเรือ จนนำมาสู่แฟรนไชส์ยอดฮิต ที่มีสาขากว่า 100 สาขาทั่วประเทศทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด โดยมีจุดเด่นคือ ชาที่มีความกลมกล่อม ซึ่งเป็นการนำเข้าชามาจากต่างประเทศและนำมามิกซ์ จนออกมาเป็น “ชา” ที่ลงตัว มีความหอม อร่อย กลิ่นแตกต่างจากชาทั่วไป และสีสวยโดยเฉพาะ รสชาติเข้มข้นไม่เหมือนใคร ทำให้โลดแล่นอยู่ในตลาดมานานกว่า 17 ปี
โดยในร้านจะมีเครื่องดื่มที่เด่น คือ ชาชัก รวมทั้ง โรตี กาแฟสด (เหมือนมี 3 กิจการในร้านเดียว) ทั้งนี้ค่าแฟรนไชส์ วัตถุดิบ และอุปกรณ์ เริ่มต้นที่ 300,000 บาท ส่วนการตกแต่งร้านอยู่ที่แต่ละสาขาจะเลือก
ขณะที่การตั้งร้านหากอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ จะต้องมีระยะห่างประมาณ 2 กิโลเมตร ส่วนปริมณฑลจะต้องมีระยะห่างประมาณ 5 กิโลเมตร, ต่างจังหวัดจะต้องเป็นแต่ละอำเภอ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถค้าขายได้
ชาพะยอม “Chapayom” เป็นแฟรนไชส์ชื่อดังจากจังหวัดพัทลุง ที่ปัจจุบันมีสาขากว่า 1,500 สาขาเกือบทั่วทั้งประเทศในเวลาอันรวดเร็ว นอกจากเรื่องรสชาติที่เป็นชาต้นตำรับแท้ 100% แล้ว การถ่ายทอดสูตรแบบละเอียดด้วยตัวเจ้าของแบรนด์เอง ก็ทำให้ “ชาพะยอม” ยังคงรสชาติแบบดั้งเดิมทุกสาขา จนกลายมาเป็นแบรนด์เครื่องดื่มยอดฮิตของคนภาคใต้เลยก็ว่าได้ ส่วนงบแฟรนไชส์ราคาเริ่มต้นที่ 65,000 บาท
KAMU (คามุ) ร้านชานมไข่มุกสัญชาติไทย เป็นหนึ่งในแบรนด์ชายอดฮิตที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนมาก เปิดมานานกว่า 12 ปี มีสาขาทั่วกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ภายใต้คอนเซปต์ “ชาเคี้ยวได้” เจาะกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มวัยรุ่นและคนวัยทำงาน ย่านออฟฟิศ ซึ่งล่าสุดก็มีเมนูชาไทยสีส้ม รสชาติเข้มข้นด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าคามุมักจะมีเมนูเครื่องดื่มออกมาใหม่เสมอ เพื่อล้อไปกับเทรนด์ความนิยมในโซเชียล จนทำให้กลายเป็นอีกหนึ่งแฟรนไชส์ที่ไปสะดุดตาจนบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง OR เข้าซื้อกิจการ ทั้งนี้เฉพาะค่าสิทธิ์แฟรนไชส์เริ่มต้น 1.5 ล้านบาท
ดังนั้นหากใครกำลังมองหา “แฟรนไชส์ร้านน้ำ” หรือ “แฟรนไชส์เครื่องดื่ม” “ชาไทย ชานม หรือ ชาเย็น” คงจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะนอกจากจะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคคนไทยแล้ว ยังกลายเป็นอีกหนึ่งเมนูยอดฮิตที่นักท่องเที่ยวต่างชาติต่างก็อยากมาลิ้มลอง
จนกลายเป็นอีกหนึ่ง “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่ไทยกำลังผลักดัน เพื่อสร้างการยอมรับให้เหมือน 'มวยไทย' หรือ ซอฟต์พาวเวอร์อื่นๆ จึงไม่แปลกที่จะยกให้ปีนี้เป็น “ปีทอง” ของ ชาไทย เลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากยอดขายจะพุ่งสูงมาโดยตลอดแล้วนั้น เอนเกจเมนต์ก็ยังคึกคัก จนกลายเป็นว่ามีแบรนด์ใหม่ๆ ผุดขึ้นมาอย่างไม่ขาดสาย ส่วนแบรนด์เดิม ก็ประกาศศักดา เดินหน้าต่อยอดสู่โปรดักต์ใหม่ เพื่อมัดใจผู้บริโภคอย่างไม่ลดละนั่นเอง