สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ชี้ดัชนีค้าปลีกเดือนส.ค.ไม่กระเตื้อง ผู้ประกอบการกังวล เงินเฟ้อผลักดันราคาสินค้าสูง และปัญหาด้านแรงงาน
นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า แม้ว่าผู้คนจะกลับมาใช้ชีวิตเหมือนปกติ แต่จากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก หรือ Retail Sentiment Index ประจำเดือนส.ค. 65 เราพบว่า ยอดใช้จ่ายต่อใบเสร็จ หรือ Spending per Bill ลดลง
ขณะที่ความถี่ในการจับจ่าย หรือ Frequency of Shopping เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย รวมทั้งยอดขายสาขาเดิม Same Store Sale Growth (SSSG-MoM) เดือนส.ค.65 ปรับลดลง เมื่อเทียบกับเดือนก.ค.ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย พร้อมทั้งกำลังซื้อที่อ่อนแอทำให้การจับจ่ายโดยรวมไม่เติบโต
ทั้งนี้ เกิดจากความกังวลต่อภาวะหนี้ครัวเรือน และรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ผู้บริโภคจึงมุ่งเน้นซื้อสินค้าเฉพาะที่จำเป็นลดการบริโภคฟุ่มเฟือย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนัก ภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายอย่างเร่งด่วนเพื่อการส่งเสริมการบริโภคในประเทศ
โดยนำโครงการ ช้อปดีมีคืน กลับมา พร้อมเพิ่มวงเงินเป็น 100,000 บาท เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มผู้ที่มีกำลังซื้อสูง และดำเนินโครงการ คนละครึ่ง รวมทั้ง ไทยเที่ยวไทย ไว้อย่างต่อเนื่องยาวถึงสิ้นปี
นอกจากนี้ ยังมีบทสรุปประเด็นสำคัญของ การปรับขึ้นราคาสินค้า และความกังวลต่อการฟื้นตัวธุรกิจ ของผู้ประกอบการ ที่สำรวจระหว่างวันที่ 17-26 ส.ค. 65 ดังนี้
1. การปรับขึ้นราคาสินค้าใน 3 เดือนข้างหน้า
- 26% จะไม่ปรับราคาสินค้าแล้ว
- 40% จะปรับราคาเพิ่มขึ้นไม่เกิน 5%
- 17% จะปรับราคาเพิ่มขึ้น 5-10%
- 5% จะปรับราคาเพิ่มขึ้น 11-15%
- 12% จะปรับราคาเพิ่มขึ้นมากกว่า 15%
2. ปัจจัยที่สร้างความกังวลต่อการฟื้นตัวธุรกิจ
- 70% เงินเฟ้อที่สูงผลักดันราคาสินค้าสูงขึ้น
- 9% แนวโน้มดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
- 7% การขาดแคลนแรงงาน
- 7% นักท่องเที่ยวต่างชาติน้อยกว่าที่คาด
- 7% การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ
สำหรับความกังวลหลักของผู้ประกอบการ คือ การปรับขึ้นของค่าจ้างแรงงาน และปัญหาการขาดแคลนแรงงานตลอดช่วงปีที่ผ่านมา เพราะทำให้ต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มขึ้นราว 1-3% โดยภาคค้าปลีกค้าส่งและบริการมีการจ้างงานทั้งระบบกว่า 13 ล้านคน
บวกกับการที่แรงงานในระบบหายไปจากการจ้างงานถึง 30% เมื่อเทียบกับสถานการณ์ก่อนโควิด ทำให้ผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าจ้างแรงงานในอัตราที่สูงเพื่อจูงใจและทดแทนแรงงานในระบบ ส่งผลให้กำไรของผู้ประกอบการลดลงเฉลี่ย 4-5%
ทั้งนี้ หากสรุปภาพรวมดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการฯ ยังคงน่ากังวลถึงสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นผลกระทบต่อผู้บริโภค เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่มา ขณะที่ค่าใช้จ่ายก็ทยอยปรับราคาเพิ่มขึ้น ทั้งค่าสาธารณูปโภค ค่าแก๊ส และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก
อีกด้านหนึ่งเป็นผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ที่ต้องแบกรับต้นทุนจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้นและแรงงานที่ขาดแคลน ซึ่งช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่ภาครัฐต้องลำดับความสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจทั้งสองด้านไปพร้อมๆ กัน ด้านผู้บริโภคก็มุ่งเน้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยอัดฉีดเม็ดเงินผ่านโครงการต่างๆ ของภาครัฐต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี
ขณะเดียวกัน ด้านผู้ประกอบการภาครัฐก็ต้องมีมาตรการบรรเทาผลกระทบของต้นทุนที่เพิ่มจากการจ้างงาน โดยทดลองประกาศใช้แรงงานขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมง เริ่มจากธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารเป็นการเฉพาะก่อน เพื่อให้เกิดการจ้างงานแบบยืดหยุ่น เติมเต็มแรงงานที่ขาดหายไปในระบบ.