สมาคมภัตตาคารไทยยื่นหนังสือ “บิ๊กตู่” ขอผ่อนปรนขายเหล้าในร้านอาหารที่มีมาตรฐานสูง ใน 4 จังหวัดเสี่ยง กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ เปิดพฤติกรรมลูกค้านั่งดื่มวงจำกัดเฉลี่ย 2 ชม. และขอขยับเวลานั่งในร้านเป็น 5 ทุ่ม ปิดร้านเที่ยงคืน จากปัจจุบันให้นั่งถึง 3 ทุ่ม ปิด 5 ทุ่ม เสนอลิสต์ความช่วยเหลืออย่างยาว ขอยกเว้นจ่ายภาษี 1 ปี ยืดเก็บแวต 6 เดือน
นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เพื่อขอเรียกร้องผ่อนคลายมาตรการควบคุมร้านอาหารและมาตรการช่วยเหลือเยียวยา ประกอบด้วย 1.ขยายระยะเวลานั่งรับประทานอาหารในร้านของพื้นที่ 4 จังหวัด เข้มงวดและควบคุมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ถึงเวลา 23.00 น.และให้ปิดร้านในเวลา 00.00 น. จากปัจจุบันให้นั่งถึงเวลา 21.00 น.และสั่งกลับบ้านถึง 23.00 น.
2.เพิ่มจำนวนที่นั่งในร้านของพื้นที่ 4 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยใช้การแบ่งระดับตามมาตรการป้องกันของทางร้าน 50% ของพื้นที่ร้าน สำหรับร้านที่ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขที่ ศบค.กำหนด (Thai Stop Covid) และ 80% สำหรับร้านอาหารที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน Amazing Thailand Safety & Health Administration (SHA) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ World Travel & Tourism Council (WTTC) ให้การยอมรับ
โดยขออนุญาตให้ร้านอาหารที่มีมาตรฐานขั้นสูงสุดดังกล่าว สามารถจำหน่ายและให้บริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านได้ เนื่องจากพฤติกรรมของลูกค้าที่มาใช้บริการร้านอาหาร จะเป็นการนั่งดื่มในวงจำกัดของแต่ละโต๊ะที่มาด้วยกัน และจะใช้เวลาในการรับประทานอาหารอยู่ในร้านเฉลี่ยประมาณ 2 ชั่วโมง
“จนถึงปัจจุบัน ผ่านมามากกว่า 40 วันแล้ว ที่ร้านอาหารในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดให้ความร่วมมือปฏิบัติตามข้อกำหนดและมาตรการของ ศบค.ด้วยดี แต่ร้านอาหารส่วนใหญ่ที่ยังเปิดให้บริการอยู่ ล้วนแต่อยู่ในสภาพขาดทุน ต้องแบกตันทุนต่างๆ อาทิ ต้นทุนการผลิต ต้นทุนแรงงาน ต้นทุนค่าเช่า ต้นทุนค่าน้ำ ค่าไฟ ต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อนำมาหมุนเวียนกิจการ หากไม่ได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วน จะมีร้านอาหารจำนวน 50,000 ราย ต้องปิดกิจการในอีก 2—6 เดือนข้างหน้านี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาเลิกจ้างงาน โดยการห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านเป็นหนึ่งในสาเหตุหลัก ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการ”
นอกจากนี้ ได้ยื่นข้อเสนอเยียวยาเร่งด่วน ได้แก่ 1.จัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพิจารณามาตรการ ช่วยเหลือทางการเงินเป็นการเฉพาะต่อภัตตาคารและร้านอาหาร เนื่องจากที่ผ่านมามาตรการทางการเงินมีข้อจำกัดในการเข้าถึง สำหรับผู้ประกอบการภัตตาคารและร้านอาหารอย่างมาก เพราะมาตรการทางการเงินที่ออกมาเป็นการมองภาพรวมโดยใช้ฐานปัญหาของธุรกิจอื่น และธนาคารพาณิชย์มักจะไม่นำเสนอข้อมูลสินเชื่อตามมาตรการของรัฐให้กับผู้ประกอบการภัตตาคารและร้านอาหาร และใช้เงื่อนไขของธุรกิจอื่นๆมาเป็นเกณฑ์พิจารณา
2. ออกมาตรการให้เจ้าของห้างสรรพสินค้าและผู้ให้เช่าที่ตั้งร้าน ลดค่าเช่าอย่างน้อย 50% เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือน โดยให้เจ้าของที่ดิน อาคาร บุคคลทั่วไป ที่ให้ร้านอาหารเช่าที่ สามารถนำส่วนลดไปลดหย่อนภาษีในรอบบัญชีถัดไป เพื่อจูงใจให้เกิดการลดค่าเช่า โดยรัฐไม่ต้องจ่ายชดเชย 3.งดการจัดเก็บภาษีรอบระยะเวลาบัญชี 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา สำหรับธุรกิจร้านอาหาร 4.ยืดระยะเวลาในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มออกไป 6 เดือน 5.ขอให้รัฐบาลงดจัดเก็บภาษีโรงเรือนจากเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร เป็นเวลา 1 ปี 6.ลดค่าน้ำ ค่าไฟ 30% ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน 7.มีมาตรการจ่ายค่าแรงคนละครึ่ง โดยให้พนักงานสามารถเบิกอีกครึ่งจากประกันสังคม หรืออื่นๆเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน.