KTBST โชว์ผลการดำเนินงาน รอบ 11 เดือน รายได้เติบโต 1,104 ล้านบาท กำไรสุทธิ 30 ล้านบาท ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ตั้ง KTBST Holding พร้อมตั้งบริษัทลูก ช่วยแก้หนี้ ลดภาระ เพิ่มเงินออม
ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST SEC เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโดยรวมในปี 2562 ค่อนข้างผันผวนตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็น ตลาดการเงิน หรือ ตลาดทุน ซึ่งปัจจัยมีทั้งมาจากต่างประเทศ และในประเทศ จากปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของไทยชะลอตัวลง
โดยผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท KTBST ในปี 62 นี้ เราได้ขยายธุรกิจและบริการเพิ่มเติมจากการซื้อขายหลักทรัพย์ ด้วยการให้บริการซื้อขายกองทุนรวม และกองทุนรีท ทำให้ในรอบ 11 เดือน สิ้นสุดที่ผ่านมา ณ 29 พ.ย.62 กลุ่มบริษัท KTBST ซึ่งรวม 3 บริษัท คือ 1. KTBST SEC 2. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วี จำกัด และ 3. บริษัท เคทีบีเอสที รีท แมเนจเมนท์ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 1,104 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิที่ 30 ล้านบาท
ส่วน KTBST SEC มีรายได้สิ้นสุด ณ 29 พ.ย.62 ที่ 1,092 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิที่ 44 ล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้หลักมาจาก 2 ส่วน คือ ค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และอนุพันธ์ 42% และค่าธรรมเนียมจากธุรกิจบริการอื่นๆ ได้แก่ ตราสารหนี้ กองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล และวาณิชธนกิจ 38% รายได้จากธุรกิจต่างประเทศและธุรกิจ Block Trade 12% ที่เหลือมาจากรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผล ดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์และรายได้อื่นๆ 8%
สำหรับธุรกิจการซื้อขายในตลาด TFEX บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 5.15% ติดอันดับ 7 ของอุตสาหกรรม ส่วนธุรกิจอื่นๆ (ณ สิ้นเดือน พ.ย.) ของ KTBST ยังคงการเติบโตต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล (Private Wealth Management) และธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุน (Investment Advisory) มีสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำ (AUA) 80,000 ล้านบาท ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลเติบโตขึ้น มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) อยู่ที่ 2,500 ล้านบาท
ส่วนธุรกิจตัวแทนซื้อขายหน่วยลงทุน (Selling Agent) ปัจจุบัน มี AUA เติบโตอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท ด้านธุรกิจวาณิชธนกิจด้านการออกตราสารหนี้ หรือ Corporate finance solution ในปีนี้บริษัทออกตราสารหนี้ทั้งตั๋วแลกเงิน และหุ้นกู้ เพื่อระดมทุนให้บริษัทชั้นนำต่างๆ กว่า 30 บริษัท มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท
ปรับโครงสร้างรับ Digital Disruption
ดร.วิน กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบด้านเทคโนโลยี (Digital Disruption) และคู่แข่งใหม่ๆ ตลอดทั้งการสร้างโอกาสในการยกระดับมาตรฐานของบริษัทเข้าสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้น และกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของบริษัท ด้วยการตั้ง บริษัท เคทีบีเอสที โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST Holding ขึ้น เพื่อขยายธุรกิจ ให้เป็นสถาบันการเงินครบวงจรมากยิ่งขึ้น
ช่วยคนอยากลดหนี้ เพิ่มเงินออม
ดร.วิน เปิดเผยอีกว่า ในปี 63 เราเตรียมจัดตั้งบริษัท KTBST LEND เพื่อเข้ามาดูแลแก้ปัญหาหนี้ส่วนบุคคล หรือ Presonal Lonan คล้ายๆ การแก้หนี้ การรีไฟแนนซ์หนี้ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้คนมีหนี้ได้มีเงินมากขึ้น ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ การลดหนี้ เพื่อเพิ่มเงินออม โดยบริษัทจะเข้ามาดูแลและให้คำปรึกษาเรื่องการแก้หนี้ และการหาช่องทางการออมเงินที่เหมาะสมของแต่ละคนอีกด้วย
"ปัจจุบันเราจะพบว่า คนไทยมีหนี้ค่อนข้างเยอะ ยกตัอย่างเช่น เงิน 100 บาท เราต้องเอาไปจ่ายหนี้ 80 บาท เหลืออีก 20 บาท คือ เอาใว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ส่วนที่เหลือ คือ เงินออม ซึ่งคอนเซปต์ของเราก็คือ การรวมหนี้ หรือ การลดหนี้เพื่อเพิ่มเงินออม เช่นจากหนี้ 80 บาท อาจจะเหลือแค่ 50 บาท เมื่อมีเงินมากขึ้นก็เท่ากับมีเงินออมเพิ่มขึ้น เราก็จะให้คำปรึกษาด้านการออมเงิน ด้านการลงทุน ที่เหมาะกับแต่ละคนเพื่อให้ลูกค้าได้มีเงินมากขึ้นนั่นเอง".