“จุรินทร์” สั่งทำเอฟทีเอรายมณฑล เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าและบริการในเชิงลึก

Business & Marketing

Marketing & Trends

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“จุรินทร์” สั่งทำเอฟทีเอรายมณฑล เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าและบริการในเชิงลึก

Date Time: 10 ธ.ค. 2562 05:05 น.

Summary

  • นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ เพื่อกำหนดแผนงานปี 63 ว่า ปี 63 จะเป็นหัวหน้าคณะนำภาคเอกชน

Latest

 รู้จัก “De Minimis” กฎหมายที่ควรเอื้อการค้าแต่กลับถูกใช้เป็นช่องโหว่ให้แอปช้อปจีนไม่ต้องเสียภาษี

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ เพื่อกำหนดแผนงานปี 63 ว่า ปี 63 จะเป็นหัวหน้าคณะนำภาคเอกชน เดินทางไปเจรจาขายสินค้าไทยในกว่า 16 ประเทศทั่วโลก เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น แอฟริกาใต้ ฮ่องกง จีน เวียดนาม ฝรั่งเศส อังกฤษ ตะวันออกกลาง รัสเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ติมอร์เลสเต เกาหลี บังกลาเทศ มัลดีฟส์ เป็นต้น เพื่อช่วยเพิ่มยอดส่งออก

ขณะเดียวกัน ได้มอบให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และทูตพาณิชย์ ศึกษาความเป็นไปได้จัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) รูปแบบใหม่ ที่จะลงลึกเป็นรายมณฑล หรือรายรัฐในประเทศที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าและบริการในเชิงลึก หากทำสำเร็จจะช่วยเพิ่มยอดการค้าของไทยได้เช่นกัน รวมถึงมอบให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เดินหน้าเจรจาเอฟทีเอที่ยังค้างท่อให้เสร็จ เช่น ไทย-ตุรกี ที่ตั้งเป้าหมายจะเสร็จในปีนี้ และเริ่มต้นเจรจาเอฟทีเอใหม่ เช่น ไทย-สหภาพยุโรป (อียู), ไทย-อังกฤษ, ไทย-ฮ่องกง เป็นต้น

“การทำเอฟทีเอลงลึกเป็นรายมณฑล หรือรายรัฐ หรือจะเรียกเป็นข้อตกลงพิเศษอะไรก็แล้วแต่ กับบางมณฑลของจีน หรือบางรัฐของอินเดีย รวมถึงประเทศอื่นๆ ที่ยังเก็บภาษีนำเข้าสินค้าไทยในอัตราสูงนั้น คงต้องดูว่ามณฑลใดมีความพร้อม หรือรัฐใดมีอำนาจเต็มในการลงนาม ก็เจรจาได้ทันที ถ้าเจรจาให้เขาลดภาษี จะช่วยผลักดันยอดการค้าขายของไทยอีกทางหนึ่ง”

นอกจากนี้ ในปี 63 จะเดินหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกพืชเกษตร 5 รายการต่อเนื่อง ทั้งน้ำมันปาล์ม ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยางพารา โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 11 ธ.ค.นี้ พิจารณาเห็นชอบโครงการ และจะเริ่มจ่ายเงินส่วนต่างงวดแรกได้วันที่ 20 ธ.ค.นี้ และเห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวด้วย

ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกวันละ 5-6 บาทตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 นั้น จากการวิเคราะห์ของกรมการค้าภายใน พบว่า จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น 0.006-0.6% โดยสินค้าที่ต้นทุนเพิ่มขึ้นสูงสุด คือ ชุดนักเรียน และต่ำสุดคือ ของใช้ในครัวเรือน เช่น ยาสีฟัน ซึ่งกระทบต้นทุนน้อยมาก และไม่มีผลทำให้ต้องขึ้นราคาขาย หากมีผู้ประกอบการทำเรื่องขอปรับขึ้นราคาเข้ามา จะไม่อนุมัติให้ปรับขึ้นแน่นอน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ