“อนุทิน” ส่งเทียบเชิญ “กลุ่มซีพีเอช” ผู้ชนะการประมูลรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน ลงนามสัญญา 15 ต.ค.นี้ หลังคว้าชัยมานานเกือบปียังเงียบหาย ยันถ้าไม่มาตามกำหนดถูกริบหลักประกันซอง 2 พันล้านบาท ถูกขึ้นบัญชีดำและหมดสิทธิ์ร่วมประมูลงานภาครัฐ เตรียมเชิญผู้เสนอราย 2 เจรจาต่อ ถ้าพบเสนอราคาสูงขึ้น กลุ่มซีพีเอชต้องรับผิดชอบ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วานนี้ (23 ก.ย.) ได้เชิญนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการรักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน คือดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา มาหารือเพื่อหาข้อสรุปการลงนามสัญญาก่อสร้าง หลังจากกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่มซีพีเอช ชนะประมูลมาเกือบ 1 ปีแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ และยังไม่ได้ลงนามในสัญญาก่อสร้างเลย โดยที่ประชุมมีมติว่า วันที่ 27 ก.ย.นี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯจะส่งหนังสือถึงกลุ่มซีพีเอช เพื่อให้มาลงนามสัญญาในวันที่ 15 ต.ค.62 ก่อนสิ้นสุดวันลงนาม (หมดระยะเวลายืนราคา) ในวันที่ 7 พ.ย.62
“การหารือครั้งนี้ดำเนินการตามดำริของนายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ที่มอบหมายให้ผมเร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยผู้ชนะการประมูลต้องปฏิบัติตามสัญญาที่ระบุไว้ในทีโออาร์ (หลักเกณฑ์การประมูล) ในฐานะยื่นเสนอราคาต่ำสุด โดยรัฐบาลไทยในฐานะคู่สัญญาจะปรับปรุงเงื่อนไขมากกว่าสัญญาไม่ได้ ที่ผ่านมาเจรจากันหลายรอบและปรับปรุงเงื่อนไขที่ทำได้ เช่น การชำระค่าก่อสร้างสามารถจ่ายตรงให้กับอีอีซีไปยังผู้ชนะการประมูล เป็นต้น จะให้แก้สัญญามากกว่านี้ไม่ได้แล้ว เพราะจะมีผู้เสียหายเกิดขึ้น และผู้แก้สัญญาจะมีความผิดมาตรา 157 ละเว้นปฏิบัติหน้าที่”
อย่างไรก็ตาม หากกลุ่มซีพีเอชไม่มาลงนามภายในวันที่กำหนด คณะกรรมการคัดเลือกฯจะเชิญผู้ยื่นข้อเสนอรายที่ 2 มาเจรจาต่อ โดยกลุ่มซีพีเอชจะถูกริบหลักประกันซอง 2,000 ล้านบาท และอาจถูกขึ้นบัญชีดำเป็นผู้ทิ้งงาน ซึ่งจะทำให้กลุ่มซีพีเอชหมดสิทธิ์เข้าร่วมประมูลงานกับภาครัฐ ยิ่งไปกว่านั้น หากผู้เสนอรายที่ 2 มีราคาก่อสร้างสูงกว่าราคาที่กลุ่มซีพีเอชเสนอ กลุ่มซีพีเอชต้องจ่ายส่วนต่าง จึงต้องการให้ผู้ชนะประมูลดำเนินการโครงการต่อไป
ส่วนกรณีที่กลุ่มซีพีเอชต้องการให้รัฐบาลเวนคืนที่ดินทั้งหมดก่อนนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่มีโครงการของรัฐโครงการใดที่เวนคืนที่ดินได้ 100% และไม่มีโครงการใดส่งมอบพื้นที่ได้ครบ 100% แล้วเริ่มก่อสร้าง แต่ผู้รับเหมาจะก่อสร้างไปก่อน และทยอยรอรับการส่งมอบที่ดิน ซึ่งประเด็นนี้ สามารถหารือกันได้ เช่น ขอขยายเวลาก่อสร้าง
ด้านนายศักดิ์สยาม กล่าวว่า โครงการนี้ควรลงนามสัญญานานแล้ว หากไม่มีการลงนาม จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของต่างประเทศ รัฐบาลต้องการให้เรื่องนี้จบ เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อ โดยมีระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี แต่ขยายเวลาได้หากมีเหตุผลเพียงพอ ยืนยันว่าการลงนามสัญญากับ
ซีพี ภาครัฐไม่เอาเปรียบแน่นอน ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่าข้อเสนอของกลุ่มซีพีเอช มีราคา Net Present Value (มูลค่าปัจจุบันสุทธิ) 117,227 ล้านบาท ต่ำกว่าข้อเสนอของรายที่ 2 ที่เสนอ 169,934 ล้านบาท หรือต่ำกว่า 52,707 ล้านบาท อีกทั้งยังต่ำกว่ากรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้รัฐร่วมลงทุนในโครงการวงเงินมูลค่าปัจจุบันไม่เกิน 119,425 ล้านบาท.