นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่าในปีงบประมาณ 62 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้ดำเนินงานภายใต้นโยบายการตลาด และนวัตกรรมนำการส่งเสริมด้วยงบประมาณรวม 1,280 ล้านบาท เพื่อสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม เสริมสร้างความเข้มแข็ง และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเอสเอ็มอี-วิสาหกิจชุมชน (โอทอป) โดยสามารถพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สถานประกอบการ และวิสาหกิจชุมชน 60,000 รายพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้รวม 3,000 ผลิตภัณฑ์ สร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานได้รวม 35 กลุ่ม คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 15,000 ล้านบาท ซึ่งเกินเป้าที่ตั้งไว้ในแผนงานที่กำหนดไว้เพียง 13,000 ล้านบาท
สำหรับแผนการช่วยเหลือเอสเอ็มอีในกลุ่ม S-Curve หรืออุตสาหกรรมเป้าหมายในปี 63 กสอ.จะส่งเสริมเอสเอ็มอีในกลุ่ม 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. เครื่องมือแพทย์ 2. ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3. ชิ้นส่วนอากาศยาน โดยในกลุ่มเครื่องมือแพทย์ ล่าสุด กสอ.ได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยรังสิต เนื่องจากทั้ง 2 มหาวิทยาลัยนี้มีโรงพยาบาลของตัวเอง ทำให้รู้ถึงความต้องการของผู้ป่วยและแพทย์อย่างแท้จริง
โดยจะพัฒนาเครื่องมือแพทย์ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. เครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในการรักษา เช่น เครื่องมือตรวจชิ้นเนื้อที่ต้องสอดใส่เข้าไปในร่างกายเพื่อเก็บชิ้นเนื้อ 2. เครื่องมือที่ใช้บำบัดผู้ป่วย เช่น เตียงผู้ป่วยที่มีระบบถุงลมช่วยในการพลิกตัว เตียงทันตกรรม เป็นต้น และ 3. เครื่องมือใช้ช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และผู้พิการ เช่น เซ็นเซอร์ที่ออกแบบเพื่อสวมใส่นิ้วของคนตาบอดเพื่ออ่านอักษรเบรลล์แปลออกมาเป็นคำพูด รถเข็นไฟฟ้าที่มีระบบล้อหมุนได้ 360 องศา เป็นต้น ซึ่งจะต้องร่วมมือกับผู้ผลิตชิ้นส่วนที่หลากหลาย โดยตั้งเป้าหมายจะพัฒนาสินค้าให้ได้ 40 ผลิตภัณฑ์ และมีเอสเอ็มอีเข้าร่วม 80 ราย
ขณะที่ในกลุ่มไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ จะส่งเสริมให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ร่วมกับสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (ไทยซับคอน) พัฒนาระบบรถลำเลียงสินค้าอัจฉริยะ (เอจีวี) และหุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรม โดยจะพัฒนาระบบเอจีวีจากเดิมที่รถลำเลียงอัตโนมัติจะเคลื่อนที่ตามเส้นบนพื้นที่กำหนดไว้ มาเป็นระบบอัจฉริยะ โดยการนำระบบหุ่นยนต์ (เอไอ) และระบบจีพีเอส เข้ามาช่วยในการขนส่ง ซึ่งนอกจากจะเป็นระบบอัจฉริยะแล้ว ยังรองรับน้ำหนักได้เพิ่มขึ้น เหมาะที่จะใช้ในท่าอากาศยาน คลังสินค้า และคลังสินค้าห้องเย็นที่ใช้เก็บอาหารโดยตั้งเป้าหมายที่จะผลิตผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 2 ผลิตภัณฑ์ มีเอสเอ็มอีเข้ามาร่วมผลิต 20 กิจการ
ขณะที่กลุ่มชิ้นส่วนอากาศยาน ได้ร่วมมือกับบริษัท เลนโซ่ แอโรสเปซ จำกัด ที่ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินป้อนให้กับโบอิ้ง และแอร์บัส มาช่วยพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีผลิตชิ้นส่วนต่างๆในเครื่องบิน โดยขณะนี้ได้ร่วมกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ 10 ราย ซึ่งต้องใช้เวลาในการพัฒนาพอสมควร เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานสูงมาก “เอสเอ็มอีในกลุ่ม S-Curve ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และภาคกลาง เนื่องจากอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงส่วนมากจะอยู่ในบริเวณนี้ จะช่วยให้อีอีซีร่วมอยู่ในห่วงโซ่การผลิตในอนาคต.