นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางการกำหนดรถส่วนบุคคลที่ให้บริการผ่านแอปพลิเคชันให้เป็นรถสาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมายว่า ในการประชุมได้มีการกำหนดขอบเขต หลักเกณฑ์ การดำเนินการ ทั้งคนขับและรถ รวมถึงแนวทางการแก้ไขข้อกฎหมายในการดำเนินการให้รถยนต์ส่วนบุคคล และรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลให้เข้ามาบริการเป็นรถสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันได้ถูกต้องตามกฎหมายได้
โดยขั้นตอนทางคณะทำงานจะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ให้ได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ ก่อนส่งเรื่องไปให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.)ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรงดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ก่อนเสนอกลับมายังกระทรวงคมนาคมภายในเดือน ต.ค. ก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีภายในสิ้นปี 62 หลังจากนั้นขั้นตอนจะเสนอต่อไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจร่างกฎหมาย ก่อนกลับมายังกระทรวงคมนาคมเพื่อประกาศเป็นกฎกระทรวงเพื่อประกาศมีผลบังคับใช้ภายในเดือน มี.ค.63
นายจิรุตม์ กล่าวต่อว่า ทางขนส่งทางบกมีหน้าที่ที่จะต้องไปกำหนดหลักเกณฑ์ตามกรอบที่คณะทำงานชุดนี้ได้กำหนด ทั้งในเรื่องคุณสมบัติของผู้ขับขี่ ขึ้นทะเบียนประวัติ ต้องมีใบขับขี่รถสาธารณะ และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการตรวจสอบบุคคล ที่คนขับรถกับเจ้าของรถต้องเป็นบุคคลเดียวกัน เช่น ระบบสแกนใบหน้า หรือสแกนนิ้ว ซึ่งคนขับหากจะมาดำเนินการผ่านแอปพลิเคชันจะต้องรวมกลุ่มมาในนามนิติบุคคล, ผู้ขับขี่ต้องถือสัญชาติไทย, และต้องเสียภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมายให้กับไทย รวมถึงจะต้องมีการกำหนดมาตรฐานของรถที่จะมาให้บริการทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล และรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รวมถึงกำหนดลักษณะสัญลักษณ์ที่จะทำให้ผู้ใช้บริการรับทราบว่า รถดังกล่าวเป็นรถที่ให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน และจะต้องไม่วิ่งรอ-รับผู้โดยสารตามท้องถนน จะต้องรอเรียกผ่านแอปพลิเคชันเท่านั้น
“ขนส่งทางบกจะต้องไปแก้ไขกฎหมายในส่วนของรถยนต์ส่วนบุคคล ส่วนรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ทาง ขบ.ต้องไปแก้ไข พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 ก่อน ซึ่งการแก้ไขกฎหมายอาจจะมีทั้งการแก้ไขหรือออกเป็นกฎหมายลูกรองรับ เพื่อให้เกิดการควบคุมมาตรฐานคนขับและรถโดยตรง อย่างไรก็ตาม หากแอปพลิเคชันตั้งขึ้นมาไม่มีการเคลื่อนไหวภายใน 6 เดือน-1 ปี จะถูกปิดแอปฯ ทันที และหากผู้ขับขี่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็จะมีการเพิกถอนใบอนุญาตทันที”.