สศช.เปิดผลการดำเนินการภายใต้แผนพัฒนาฯฉบับที่ 12 ในช่วง 2 ปีแรกดันเศรษฐกิจโตเฉลี่ย 4.1% ใกล้ถึงเป้าหมายที่ 5% เสถียรภาพเศรษฐกิจแข็งแกร่ง รายได้เกษตรกรสูงขึ้น เห็นทิศทางชัดปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับแผนฯฉบับที่ 10 ที่ขยายตัวเฉลี่ย 3% และฉบับที่ 11 ขยายตัว 3.5%
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (แผนฯ 12) ซึ่งเป็นแผนพัฒนาประเทศระยะปานกลางภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ช่วงที่ 1 ที่ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่วิสัยทัศน์การเป็น “ประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยในช่วง 2 ปีแรก (ตามปีงบประมาณ) ที่เริ่มใช้แผนฯดังกล่าวส่งผลเศรษฐกิจไทยมีอัตราขยายตัวเฉลี่ย 4.1% ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวเฉลี่ย 3% และ 3.5% ในช่วงแผนฯ 10 และแผนฯ 11 ตามลำดับ ซึ่งเข้าใกล้เป้าหมายที่กำหนดไว้ 5% มากขึ้น
ส่วนด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ยังอยู่ในฐานะที่แข็งแกร่ง โดยหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) สิ้นปี 2561 อยู่ที่ 41.9% ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ไม่เกิน 55% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 0.9% ใกล้เคียงกับขอบล่างของนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขณะที่เศรษฐกิจรายสาขา การผลิตภาคเกษตรขยายตัวเฉลี่ย 4.4% สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 3% ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงเฉลี่ย 0.9% ในช่วงแผนฯ 11 สอดคล้องกับรายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตรของเกษตรกร
ในปี 2560/61 ซึ่งอยู่ที่ 74,483 บาทต่อครัวเรือน สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 59,460 บาทต่อครัวเรือน การผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวเฉลี่ย 3% สูงกว่าการขยายตัวเฉลี่ย 2.5% ในช่วงแผนฯ 11 แม้ว่าจะต่ำกว่าเป้าหมายการขยายตัวที่กำหนดไว้ 4.5% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกและมาตรการกีดกันทางการค้าก็ตาม
ส่วนการผลิตสาขาบริการขยายตัวเฉลี่ย 4.7% เท่ากับการขยายตัวเฉลี่ยในช่วงแผนฯ 11 และเทียบกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ 6% ในช่วงแผนฯ 12 และสัดส่วนของอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ต่อจีดีพีในปี 2560 เป็น 42.4% สูงขึ้นจาก 42.1% ณ สิ้นแผนฯ 11 และใกล้เคียงกับเป้าหมาย ณ สิ้นแผนฯ 12 ที่กำหนดไว้ 45% ด้านขีดความสามารถในการ
แข่งขัน ดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทยจากสถาบันการจัดอันดับดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขัน (IMD) ในปี 2561 อยู่ในอันดับที่ 30 จากทั้งหมด 63 ประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเทียบกับเป้าหมาย ณ สิ้นแผนฯ 12 ที่กำหนดให้ดัชนีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ใน 25 ลำดับแรกของประเทศที่ได้รับการจัดอันดับทั้งหมด
ส่วนการบริหารจัดการในภาครัฐ ป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบและธรรมาภิบาลในสังคมไทย มีการดำเนินการเพื่อลดสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการให้บริการของภาครัฐ รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งผลให้สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรของรัฐต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีลดลงจาก 23.4% ในปี 2559 เหลือ 23.1% ในปีแรกของแผนฯ 12 อันดับประสิทธิภาพภาครัฐของไทยจากการจัดอันดับประสิทธิภาพภาครัฐของสถาบันการจัดการนานาชาติ ปรับตัวสูงขึ้นจากอันดับที่ 23 ในปี 2559 เป็นอันดับที่ 22 ในปีแรกของแผนฯ 12 อันดับความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจ (Ease of doing Business) ในปี 2562 ไทยมีอันดับดีขึ้น 22 อันดับ จากอันดับที่ 49 ในปี 2559 มาอยู่อันดับที่ 27 จาก 190 ประเทศ ขณะที่การทุจริตคอร์รัปชันยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างต่อเนื่อง โดยคะแนนของดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) เพิ่มขึ้นจาก 35 คะแนน ในปี 2559 เป็น 36 คะแนน ในปี 2561 แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมายของแผนฯ 12 ที่ตั้งไว้ 50 คะแนน
นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ยังมีการพัฒนาภาคเมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ ได้แก่ พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่มีศักยภาพ (SEZs) พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ขณะที่การพัฒนาพื้นที่ EEC มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเรียบร้อยแล้ว ยังมีการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินอู่ตะเภา-สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกในปี 2561 โครงการที่ได้รับอนุมัติการลงทุนใน EEC มีมูลค่าประมาณ 310,000 ล้านบาท และมีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) 675,300 ล้านบาท ขณะที่ SEC มีการจัดทำกรอบการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่และทางออกทางทะเลของภาคใต้ตอนบนเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศเอเชียใต้ และการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับนานาชาติ โดยคาดว่าจะมีการลงทุนภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 200,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปี.