บอร์ด PPP ไฟเขียวลงทุนเมกะโปรเจกต์คมนาคมทั้งปี 4 แสนล้านบาท จัดหนัก 4 เดือนสุดท้าย 3 แสนล้านบาท หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมสั่งทบทวนมอเตอร์เวย์ นครปฐม-ชะอำ เหตุรูปแบบโครงการลงทุนเข้าข่ายกฎหมายทางหลวงสัมปทานมากกว่าทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ส่วนโครงการเก็บค่าผ่านทาง-บำรุงรักษามอเตอร์เวย์ บางปะอิน-โคราช, บางใหญ่-กาญจนบุรี ยังติดหล่ม
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการรัฐวิสาหกิจ หรือคณะกรรมการ PPP ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ครึ่งปีแรกมีการอนุมัติโครงการลงทุนพีพีพีแล้ว 20,000 ล้านบาท และ 4 เดือนสุดท้ายจะอนุมัติเพิ่มอีก 300,000 ล้านบาท รวมทั้งปีเป็นวงเงินลงทุนพีพีพี รวม 400,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งนี้ 1.เห็นชอบในหลักการให้เอกชนร่วมลงทุนของโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า ของกรมการขนส่งทางบก 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม มูลค่าเงินลงทุน 1,361 ล้านบาท โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนค่าที่ดิน ค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางและอาคารที่ภาครัฐใช้ประโยชน์ ค่าควบคุมงานก่อสร้าง ส่วนภาคเอกชนลงทุนในค่าก่อสร้างอาคารที่ก่อให้เกิดรายได้และค่าเครื่องมืออุปกรณ์ รวมถึงการบริการและจัดการ หรือ O&M ภายในระยะเวลาดำเนินโครงการ 30 ปี และ 2.โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 2,829 ล้านบาท และงานระบบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารด้านการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ รวมถึง O&M ทั้งหมด โดยทั้ง 2 โครงการมีมูลค่ารวม 4,160 ล้านบาท ซึ่งจะมีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการต่อไป
2.คณะกรรมการ PPP เร่งรัดให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track จำนวน 8 โครงการ ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กระทรวงคมนาคมเสนอ คาดว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-วงแหวนกาญจนาภิเษก และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตกและตะวันออก จะสามารถนำเสนอคณะกรรมการ PPP ได้ภายในปี 2561 ประมาณเงินลงทุนรวม 366,274 ล้านบาท รวมถึงยังเร่งรัดโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ตให้สามารถเสนอกระทรวงเจ้าสังกัดจากปี 2562 เป็นภายในปี 2561 รวมเงินลงทุนทั้งหมด 400,000 ล้านบาท และ 3.คณะกรรมการ PPP รับทราบสถานะของโครงการร่วมลงทุนและเร่งรัดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการร่วมลงทุนที่มีระยะเวลาของสัญญาเหลือน้อยกว่า 5 ปี ภายใต้สัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 ซึ่งมีทั้งหมด 8 โครงการ
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP ยังได้สั่งให้ทบทวนโครงการทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) นครปฐม-ชะอำ วงเงิน 79,000 ล้านบาท เนื่องจากคณะกรรมการฯเห็นว่า รูปแบบของโครงการลงทุนน่าจะเข้าข่ายกฎหมายทางหลวงสัมปทานมากกว่าทางหลวงพิเศษ จึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปพิจารณา และนำกลับมาเสนอให้ได้ในเดือน ก.ย.นี้แทน โดยกฎหมายทั้ง 2 ส่วนมีข้อแตกต่างกัน ถ้าเป็นทางหลวงสัมปทานจะไม่มีข้อจำกัดในเรื่องการคิดค่าผ่านทาง แต่ถ้าเป็นทางหลวงพิเศษจะมีข้อจำกัดในการคิดค่าผ่านทาง แต่ไม่ได้หมาย
ความว่า ราคาค่าผ่านทางจะเพิ่มขึ้นจนแพงผิดปกติ
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรมทางหลวง (ทล.) ว่า ความคืบหน้าการประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่ารวม 61,000 ล้านบาท ขณะนี้คณะกรรมการ ม.35 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2556 ยังไม่เห็นชอบเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) เพื่อจัดหาเอกชนร่วมทุนในโครงการดังกล่าว หลัง ทล.ยกเลิกประกาศเชิญชวนไปเมื่อ 20 เม.ย.2561 เริ่มต้นกระบวนการใหม่ และเปิดขายซองเอกสารประกวดราคาไปเมื่อ ก.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ โครงการมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 สาย เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน ในรูปแบบ PPP Gross Cost (การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน) และถือเป็นการเปิดร่วมทุนบริหารจัดเก็บค่าผ่านทางโครงการแรกของ ทล. ทำให้ต้องพิจารณาร่างทีโออาร์อย่างรอบคอบ ซึ่งตามหลักเกณฑ์การร่วมทุน ทล.จะเป็นฝ่ายลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างโครงการมอเตอร์เวย์ ขณะที่การก่อสร้างด่านเก็บค่าผ่านทาง เป็นการจ้างเอกชนเข้ามาจัดเก็บค่าผ่านทาง โดยรัฐจ่ายค่าจ้างเก็บตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี เอกชนเป็นผู้ลงทุนติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทาง.