นายพงศธร อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการฝ่ายบรรษัทสัมพันธ์ ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด เปิดเผยว่า ผลการสำรวจ Empty Pack Survey ที่เป็นการสำรวจจากซองบุหรี่เปล่าที่ทิ้งแล้ว เมื่อเดือน ต.ค.2560 ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทวิจัยนีลเส็น ได้แสดงผลสัดส่วนบุหรี่ไม่เสียภาษี (บุหรี่ที่ไม่มีแสตมป์สรรพสามิตของไทยติดบนซอง) พุ่งขึ้นเป็น 6.6% ในไตรมาสที่ 4 ปี 2560 จากเดิม 2.9% เทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2559 และพบว่าสัดส่วนบุหรี่ไม่เสียภาษีได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วงเวลาเพียง 1 ปี โดยปัญหามีความรุนแรงที่สุดในภาคใต้ เมื่อเจาะเป็นรายจังหวัดพบว่าสัดส่วนบุหรี่ไม่เสียภาษีในพื้นที่จังหวัดสตูลมีสัดส่วน 76.6% จังหวัดสงขลา 67% จังหวัดพัทลุง 40%
“การสำรวจกลุ่มตัวอย่างซองบุหรี่ทิ้งแล้วทั้งหมด 10,000 ซอง ที่นำมาเก็บผลในการศึกษาพบว่า 669 ซอง (เทียบเท่า 6.6%) ไม่มีแสตมป์สรรพสามิตของไทยติดอยู่ ซึ่งนับเป็นบุหรี่ที่ไม่เสียภาษี หรือบุหรี่ที่มิได้มีไว้เพื่อจำหน่ายตามกฎหมายประเทศไทย โดย 50% ของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจพบประกอบไปด้วย 2 ยี่ห้อ ซึ่งเป็นยี่ห้อที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพสามิต”
นอกจากนี้ หลังการปฏิรูปภาษีสรรพสามิตเดือน ก.ย.2560 บริษัทคาดว่าปริมาณการบริโภคบุหรี่ถูกกฎหมายจะหดตัวลงอย่างมากในปีนี้ โดยผู้สูบที่ไม่มีกำลังซื้ออาจเลิกสูบไปเลยหรือหันไปสูบยาเส้นมวนเอง หรือเลือกซื้อบุหรี่เถื่อน โดยคาดว่าปริมาณการบริโภคบุหรี่ไม่เสียภาษีในไทยอาจสูงถึง 100 ล้านซอง ซึ่งหากคำนวณจากมูลค่าภาษีสรรพสามิต 36 บาทต่อซอง จะเห็นตัวเลขการสูญเสียรายได้ภาษีสรรพสามิต 3,600 ล้านบาทต่อปี
“สถานการณ์อาจเลวร้ายลงได้อีก เนื่องจากภาษีสรรพสามิต มีกำหนดปรับขึ้นอีกครั้งในเดือน ต.ค.ปีหน้า โดยบุหรี่ซิกาแรตทั้งหมดต้องเสียภาษีสรรพสามิตตามปริมาณในอัตราซองละ 24 บาท และตามด้วยภาษีตามมูลค่า (แวต) 40% หากคิดประเมินโดยให้บุหรี่เถื่อนมีสัดส่วนคงที่ 6.6% ขณะที่ปริมาณการบริโภคบุหรี่ถูกกฎหมายหดตัวลงอีก รัฐอาจสูญเสียรายได้ภาษีสรรพสามิต 5,000 ล้านบาท ในปี 2563 ส่วนวิธีแก้ปัญหาในต่างประเทศที่ประสบปัญหาบุหรี่เถื่อน เช่น ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรป รัฐบาลประเทศดังกล่าวเน้นการบังคับใช้กฎหมายป้องกันปราบปรามบุหรี่เถื่อน”.