สนธิรัตน์ เผย นายกฯ สั่งทุกหน่วยงานกลางที่ประชุม ครม.เร่งช่วยคนจน พร้อมรับลูกเดินหน้าสร้างอาชีพผ่านแฟรนไชส์ และใช้เน็ตประชารัฐ เชื่อมการค้าชุมชน สร้างช่องทางการสินค้าเกษตรและสินค้าชุมชน...
เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2561 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงาน ช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยอย่างใกล้ชิด ทั้งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ได้ลงทะเบียนรับความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณ 11.6 ล้านคน และกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ยังไมได้ลงทะเบียนดังกล่าว
สำหรับในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ รูปแบบการช่วยเหลือ จะเน้นเรื่องการสร้างงานและสร้างอาชีพให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะการผลักดันให้นำระบบแฟรนไชส์มาใช้ประโยชน์ในการสร้างอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งการผลักดันให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร รวมถึงการนำอินเทอร์เน็ตประชารัฐมาเชื่อมโยงกับการค้าขาย โดยเฉพาะการพัฒนาให้ร้านโชห่วย ร้านค้าชุมชน สามารถทำการค้าขายผ่านระบบออนไลน์ (อี-คอมเมิร์ซ) ได้ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้สินค้าเกษตร และสินค้าชุมชนได้มีช่องทางการขายมากขึ้น
รมว.พาณิชย์ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่สหรัฐฯ ต่ออายุโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ที่ให้กับประเทศด้อยพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา 3,500 สินค้า ซึ่งรวมถึงไทย ไม่ทันภายในวันที่ 31 ธ.ค.60 จนส่งผลให้สินค้าไทย 3,400 รายการ ที่ได้รับสิทธิจีเอสพีจากสหรัฐฯ จะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราปกติตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.61 นั้น ขณะนี้ได้รับรายงานจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ถึงสาเหตุที่สหรัฐฯ ต่ออายุโครงการจีเอสพีไม่ทัน เนื่องจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา สภาคองเกรสสหรัฐฯ มีเรื่องพิจารณาจำนวนมาก โดยเฉพาะการพิจารณากฎหมายปฏิรูปภาษี แต่เชื่อว่าในเร็วๆ นี้ รัฐบาลสหรัฐฯ จะเสนอเรื่องการต่ออายุโครงการจีเอสพีเข้าสู่การพิจารณาสภาคองเกรส
นายสนธิรัตน์ กล่าวด้วยว่า ขณะที่อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) ประจำสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ได้รายงานว่า สภาคองเกรสของสหรัฐฯ มีหลายเรื่องให้ต้องพิจารณา ทำให้เสนอการต่ออายุโครงการจีเอสพีไม่ทันภายในสิ้นปีที่ผ่านมา ซึ่งผลกระทบไม่ได้เกิดกับไทยเพียงประเทศเดียว ยังมี 120 ประเทศที่ได้รับสิทธิจากสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบด้วย แต่ไม่อยากให้ผู้ส่งออกไทยกังวล เพราะในท้ายที่สุดเชื่อว่า สหรัฐฯ จะต่ออายุจีเอสพีใหม่ และผู้ส่งออกไทยสามารถขอคืนภาษีย้อนหลังได้ ซึ่งได้สั่งการให้สำนักงานพาณิชย์ ณ วอชิงตัน ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด.