Thairath OnlineThairath PlusThairath SportThairath TVMIRROR
InvestmentPersonal FinanceEconomicsBusiness & MarketingTech & InnovationSustainabilityExperts PoolVideosPR News
กกร.โยนผ้าขาวสังเวยโควิด ปรับลดจีดีพีปีนี้เหลือ 3.5% ส่งออกเติบโต 3-5%

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

กกร.โยนผ้าขาวสังเวยโควิด ปรับลดจีดีพีปีนี้เหลือ 3.5% ส่งออกเติบโต 3-5%

Date Time: 7 ม.ค. 2564 08:44 น.

Summary

  • กกร.ระส่ำพิษโควิด-19 ปรับลดการเติบโตของจีดีพี และส่งออกปีนี้ลดลงชี้หากควบคุมได้ใน 3 เดือนและรัฐบาลใช้งบกระตุ้น 2 แสนล้านบาท เศรษฐกิจของไทยอาจเติบโต 1.5–3.5% จากเดิม 2-4%

Latest

รอบรั้วการตลาด : Supersports ฉลองครบรอบ 27 ปี เดินหน้าสร้างสังคมไทยให้สุขภาพดี

กกร.ระส่ำพิษโควิด-19 ปรับลดการเติบโตของจีดีพี และส่งออกปีนี้ลดลงชี้หากควบคุมได้ใน 3 เดือนและรัฐบาลใช้งบกระตุ้น 2 แสนล้านบาท เศรษฐกิจของไทยอาจเติบโต 1.5–3.5% จากเดิม 2-4% ขณะที่ส่งออกเหลือเพียง 3-5% จากเดิม 4-6% ยื่นเสนอ 4 เรื่องให้รัฐบาลช่วยดูแล

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วยสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมธนาคารไทย เปิดเผยหลังการประชุม กกร. ว่า กกร.ได้มีการประเมินภาพรวมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยปีนี้ จะล่าช้าไปจากเดิมที่เคยประมาณการไว้เมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา

เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นผลกระทบจากโควิด-19 ระลอก 2 ที่หากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ในเวลา 3 เดือน และมีการใช้งบประมาณเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 200,000 ล้านบาท เพื่อพยุงเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล ก็คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้จะขยายตัวในกรอบ 1.5-3.5% ลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดว่าขยายตัว 2-4% ภาคการส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 3-5% จากเดิมจะขยายตัว 4-6% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบ 0.8-1.0% จากเดิม 0.8-1.2%

“การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยและต่างประเทศ ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภค การท่องเที่ยว ลงทุนลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอตัวช้าลงเนื่องจากหลายๆประเทศมีการระบาดรอบ 2-3 เพิ่มขึ้น จึงต้องดูในเรื่องของวัคซีน โดยของไทยสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องเร่งควบคุมการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุด”

สำหรับข้อเสนอของ กกร.ต่อรัฐบาล ได้แก่ 1.รัฐบาลต้องเร่งควบคุมการแพร่ระบาด และบังคับใช้มาตรการต่างๆที่ประกาศออกมาอย่างเคร่งครัดให้ตรงจุด ควบคุมดูแลที่อยู่ของคนงานต่างด้าวให้เหมาะสมเพื่อระงับการแพร่ระบาด รวมทั้งต้องเร่งจับผู้กระทำผิดทั้งบ่อนการพนัน การนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างผิดกฎหมาย เร่ง สร้างความเชื่อมั่นให้สินค้าของประเทศไทย ว่าปัญหาการแพร่ระบาดส่วนใหญ่ มาจากคนสู่คน ไม่ใช่จากอาหารหรือสินค้าสู่คน

2.ขอให้เร่งดำเนินการเรื่องงบประมาณช่วยเหลือ 200,000 ล้านบาท โดยให้กำหนดวิธีการให้ชัดเจนปฏิบัติได้เร็วและให้ส่งผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถช่วยพยุงเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นการต่ออายุโครงการคนละครึ่งออกไปอีก 3 เดือน, มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน และผู้ประกอบการ เช่น ลดค่าไฟฟ้า 5% และพิจารณาเพิ่มงบประมาณ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชน 5,000 บาท ต่อคนเหมือนการระบาดรอบแรก รวมทั้งการใช้เครื่องมือทางการเงิน อาทิ ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพ

3.เร่งรัดเรื่องวัคซีนให้สามารถได้มาตามกำหนดเวลาและมีปริมาณที่เพียงพอ รวมถึงกำหนดวิธีการและหลักเกณฑ์ในการกระจายการขนส่ง และฉีดวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดลำดับผู้ที่ได้รับวัคซีนก่อนหลังอย่างเหมาะสม 4.เร่งรัดการใช้และการเจรจาการค้าทวิภาคี รวมถึงการให้สัตยาบันลงนามข้อตกลงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคในการประชุมรัฐสภา เพื่อให้ข้อตกลงที่ลงนามไปเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมามีผลบังคับใช้กลางปีนี้ เพื่อให้
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีแรงส่งเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนถึงการเลิกจ้างงานของสมาชิก ส.อ.ท. แต่เป็นห่วงว่าจะมีแนวโน้มการตกงานเพิ่มขึ้น ขึ้นอยู่กับว่าปัญหานี้ จะยืดเยื้อมากน้อยเพียงใด โดยต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเรื่องของสภาพคล่องของธุรกิจให้กับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง และภาคเอกชนยังมีความกังวลเรื่องแรงงานต่างด้าวติดเชื้อในหลายๆ โรงงาน ขณะที่การส่งออกของไทยคาดว่าไตรมาสแรกปีนี้มีโอกาสติดลบ เนื่องจากจีนมีเรื่องวันหยุดตรุษจีนยาวนาน ทำให้การสั่งซื้อสินค้าจากประเทศ ไทยลดลง และปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า รวมถึงการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ที่คาดว่าจะคลี่คลายลงในไตรมาส 2-3

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทยกล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาโควิด-19 ให้ตรงจุด และมาตรการที่จะกำหนดออกมาต้องแก้ไขให้กรณีๆไป ไม่ใช่ออกมาตรการมาแบบเหมาเข่ง เพื่อทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยขับเคลื่อนไปได้ กรณีการทำธุรกิจที่อาจไม่สะดวกจากโควิด-19 ของผู้ประกอบการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ต้องทำให้แผนงานเดินหน้า เพื่อให้แต่ละธนาคารปรับโครงสร้างหนี้ได้ต่อเนื่องในปีนี้.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ