มีเจ้าของและผู้บริหารธุรกิจใหญ่ๆในประเทศเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่วิ่งไล่จับเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกอย่างรวดเร็วได้ทัน
และสามารถใช้เทคโนโลยีนั้นเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างยอดขาย รายได้ และกำไรจนประสบความสำเร็จ
ธุรกิจค่ายเพลงของ “เฮียฮ้อ” นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในธุรกิจไม่กี่รายที่ว่านั้น ที่สามารถเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสสำเร็จได้ ด้วยการขึ้นไปยืนอยู่เหนือขีดจำกัดของการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เริ่มตั้งแต่...
ความกล้าที่จะคิดต่าง ความมีทัศนคติเชิงบวก การตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยว การไม่ยึดติดในความสำเร็จเก่าๆ และการทำความเข้าใจกับความแตกต่างทางความคิดระหว่างคนรุ่นใหม่ กับคนอีกรุ่นหนึ่งที่หลายธุรกิจอาจเรียกว่า ซอมบี้ หรือผู้สูงวัย
ทีมเศรษฐกิจ มีโอกาสจับเข้าคุยกับ เฮียฮ้อ หลังจากที่เขาเปิดใจกับเราว่า เขาสามารถนำพาพนักงานกว่า 1,400 คน กระโดดเกาะรถไฟสายเทคโนโลยีนี้สำเร็จ จนสามารถครองอันดับเรตติ้งในหมู่ธุรกิจทีวีดิจิทัลเป็น 1 ใน 5 ของ 24 ช่อง และมีกำไรจากการ Transform ธุรกิจบันเทิงสู่ธุรกิจใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อนจนมีรายได้สูงถึง 3,500 ล้านบาทไปได้
“อาร์เอส” กับจุดเปลี่ยนธุรกิจ
“เฮียฮ้อ” ย้อนรอยจุดเริ่มต้นของ Rose Sound หรืออาร์เอส เมื่อปี 2524 ว่าเป็นธุรกิจบันเทิงแบบครบวงจรที่มีครบทั้งค่ายเพลง ภาพยนตร์ รายการวิทยุ และรายการโทรทัศน์ โดยมีธุรกิจเพลงเป็น Core Business ที่ทำรายได้หลักภายใต้ บริษัท โรสซาวด์ จำกัด ก่อนจะเปลี่ยนชื่อบริษัทอีกหลายชื่อจนมาเป็น บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน
“จุดเปลี่ยนของอาร์เอส เริ่มขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน หลังธุรกิจต้นน้ำ (ธุรกิจเพลง) ซึ่งเคยเป็นธุรกิจหลักทำรายได้ลดลงเรื่อยๆ อาร์เอสจึงปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจทั้งระบบ และหันไปให้ความสำคัญกับธุรกิจสื่อเป็นหลักเพราะ
ทำรายได้ให้สูงสุดใน 4 กลุ่มธุรกิจ”
จุดเปลี่ยนครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในวันที่โลก “เปลี่ยนผ่าน” และหมุนไปอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญ และส่งผลกระทบต่อธุรกิจจำนวนมากโดยเฉพาะ ธุรกิจเพลง บันเทิง โรงภาพยนตร์ รวมถึงธุรกิจสื่อซึ่งจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทิศทางการดำเนินธุรกิจใหม่ และใช้ “แพลตฟอร์มใหม่” ที่มีอยู่เข้าให้ถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีอยู่หลากหลายเจเนอเรชั่นให้มากที่สุด
เนื่องเพราะธุรกิจเพลงซึ่งเคยเป็นต้นน้ำของอาร์เอส รายได้ปรับลดลงเรื่อยๆในปี 2560 โดยทำรายได้ให้เพียง 250 ล้านบาท มีสัดส่วนเหลือเพียง 7% ของรายได้รวม ไม่ใช่แต่เฉพาะอาร์เอสเท่านั้นที่ยอดรายได้ในธุรกิจเพลงตกวูบ ค่ายเพลงต่างๆทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยเอง ก็บาดเจ็บกันระนาว แล้วแต่ใครจะปรับตัวได้ก่อนกัน
“วันนี้ Business Model ของอาร์เอสเปลี่ยนไปแล้ว และเป็นองค์กรที่ไร้กรอบในการทำธุรกิจ ธุรกิจที่ทำรายได้หลักให้ในวันนี้คือ ธุรกิจสุขภาพ และความงาม ที่ดำเนินงานโดยบริษัทไลฟ์สตาร์ เพราะธุรกิจสื่อกลายเป็นรองไปแล้ว แต่เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเปล่า ทีวีดิจิทัลช่อง 8 ของอาร์เอสจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้เป็น Market Place ช่องทางการขายที่เชื่อมโยงธุรกิจใหม่สู่ผู้ชมและผู้บริโภคได้อย่างสะดวกมากขึ้น...
ช่อง 8 จะเป็นเหมือนห้างสรรพสินค้าที่เจาะตรงถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และในอนาคตเรายังต้องการให้อาร์เอสรุกธุรกิจเชิงพาณิชย์ และค้าปลีกเต็มรูปแบบด้วย”
RS เหนือขีดจำกัด
เฮียฮ้อ กล่าวถึงการ ปรับเปลี่ยน (Transform) ธุรกิจครั้งใหญ่ของค่าย “อาร์เอส” สู่การทำธุรกิจแบบ “ไร้กรอบ” หรือเหนือขีดจำกัด (Beyond the Limit) ที่ไม่หยุดอยู่เฉพาะกรอบของ “ธุรกิจบันเทิง” ที่อาร์เอสมีความถนัด และเชี่ยวชาญมากว่า 36 ปี
เขาเล่าว่า เขาเริ่มมองเห็นสัญญาณอันตรายในธุรกิจ “เอนเตอร์เทนเมนต์” และสื่อมาพักใหญ่แล้วจากการถาโถมเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล ที่เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนไปคนละทิศคนละทาง
“ผมมองเห็นโลกเริ่มเล็กลง แต่เคลื่อนที่เร็วมาก เห็นพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปฉับพลัน ดังนั้นองค์กรจะอยู่รอดได้หรือไม่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ขึ้นอยู่กับการวางแผนรับมือนั้นเร็วเพียงใด และเข้าใจบริบทแห่งความเปลี่ยนแปลงนั้นหรือไม่”
เขากล่าวด้วยว่า “อาร์เอส” โชคดีที่ปรับเปลี่ยนธุรกิจได้เร็ว จนทำให้ทีวีดิจิทัลช่อง 8 แข็งแกร่ง และทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ มีเรตติ้งอยู่อันดับ 5 รองจากช่อง 7, ช่อง 3, เวิร์คพอยท์ และโมโน 29 ได้ โดยมียอดคนดูราว 450,000-460,000 คนต่อนาที สิ้นปีนี้น่าจะมีถึง 500,000 คน โดยตั้งเป้าครึ่งแรกของปี 2561 จะดันเรตติ้งช่อง 8 ขึ้นไปสู่อันดับ 4 ให้ได้
“เฮลท์แอนบิวตี้” สู่ Core Business
ธุรกิจใหม่ข้ามสายพันธุ์ที่หลายคนแปลกใจว่า เหตุใดอาร์เอสถึงกล้ากระโจนลงไปใน “ธุรกิจสุขภาพ และความงาม” ทั้งๆที่ไม่มีความชำนาญ ไม่มีประสบการณ์ และไม่ใช่ธุรกิจบันเทิงใดๆ ที่เคยทำมาก่อน
แต่ เฮียฮ้อ ยืนยันว่า เขารู้ดีว่า กำลังทำอะไร เดินไปทางไหน แม้ช่วงแรกอาจเรียนถูกเรียนผิด “แต่ตอนนี้ ผมพูดได้เต็มปากว่า อาร์เอสเดินมาถูกทางแล้ว” โดยกลุ่มธุรกิจสุขภาพและความงามภายใต้บริษัทไลฟ์สตาร์ เติบโตเร็วมากโดยเฉพาะ 3 แบรนด์หลัก คือ “มาจีค (Magique) ที่ทำตลาดกลุ่มสกินแคร์, รีไวฟ์ (Revive) ทำตลาดกลุ่มแฮร์แคร์ และ S.O.M ทำตลาดกลุ่มอาหารเสริม
โดยปีแรก 2558 ทำยอดขายได้ 280 ล้านบาท ปีที่สอง 2559 ทำได้ 220 ล้านบาท และปีที่สาม 2560 ทำยอดขายแตะ 1,400 ล้านบาท เติบโตถึง 300% ส่วนปีหน้า 2561 ตั้งเป้าเติบโต 600% รายได้แตะ 2,500 ล้านบาท จากกลยุทธ์ Product Champion ที่เตรียมนำสินค้าใหม่อีกกว่า 30 รายการจาก 37 รายการเสิร์ฟลูกค้า
“หลายคนไม่เชื่อว่า ธุรกิจสุขภาพและความงามจะเติบโตสวนทางขนาดนี้ แต่ผมมีความเชื่อ และผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 60 ก็ออกมาใกล้เคียง หรือเกือบเท่ายอดขายของปีที่แล้วทั้งปี ซ้ำยังมีอัตราเติบโตต่อเนื่องทุกเดือน นี่คือดัชนีชี้วัดการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน จนวันนี้กลุ่มธุรกิจเฮลท์แอนบิวตี้กลายเป็นธุรกิจหลัก (Core Business) ของอาร์เอสอย่างสมบูรณ์แบบไปแล้วภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี”
มุ่งสู่ “ธุรกิจพาณิชย์” เต็มตัว
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาร์เอส กล่าวด้วยว่า ความสำเร็จในการเปลี่ยนโหมดธุรกิจครั้งนี้ถือว่า ทำได้เร็วเกินคาดหมาย ดังนั้นเริ่มต้นศักราชปี 2561 บริษัทจะเดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรมุ่งทำธุรกิจใหม่แบบไร้กรอบ ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและแข็งแกร่ง ตามแผนยุทธศาสตร์ของอาร์เอส ที่จะผลักดันธุรกิจให้สามารถพุ่งทะยานสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากยอดรายได้ ณ สิ้นปี 2561 ที่จะแตะ 5,300 ล้านบาทให้สำเร็จ!
ความสำเร็จของเฮียฮ้อนี้ อาจแยกเป็นรายได้จากธุรกิจสุขภาพและความงาม 50% ซึ่งทำรายได้ให้ราว 2,500 ล้านบาท นอกนั้นเป็นรายได้จากธุรกิจสื่อที่มาจากช่อง 8, วิทยุคูลฟาเรนไฮต์ 93, แซทเทิลไลท์ ทีวี 46% หรือราว 2,450 ล้านบาท จากธุรกิจเพลง 5% อีกราว 250 ล้านบาท ธุรกิจรับจ้าง และทำกิจกรรม 2% หรือราว 100 ล้านบาท
“ด้วย Business Model ที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เราเชื่อว่าปีหน้าจะเป็นปีพิเศษที่น่าตื่นเต้น สนุก และท้าทาย ที่สำคัญสังคมจะได้เห็นจุดเปลี่ยน (Turning Point) ของอาร์เอสอีกไม่ต่ำกว่า 2 ธุรกิจใหม่ที่เป็นเทรนด์ของโลก ซึ่งไม่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก คาดว่าจะเห็นภาพชัดเจนในครึ่งปีแรก”
ขณะที่รายได้ในปี 2560 คาดว่าจะแตะ 3,500 ล้านบาท สวนทางกับธุรกิจบันเทิงค่ายอื่นๆ ที่ต่างก็หืดจับหายใจไม่ทั่วท้อง และขาดทุนกันระนาว รายได้ที่คาดว่าจะได้นี้ มาจากธุรกิจสุขภาพและความงาม 40% หรือราว 1,400 ล้านบาท จากธุรกิจสื่อ 49% หรือ 1,700 ล้านบาท ธุรกิจเพลง 7% หรือราว 250 ล้านบาท ธุรกิจรับจ้าง และผลิตกิจกรรม 4% อีกประมาณ 150 ล้านบาท
ทำธุรกิจแบบ “หาวิธีจับปลา”
เฮียฮ้อกล่าวย้ำถึงมุมมองการทำธุรกิจของอาร์เอส ว่า เขามองเทรนด์การเติบโตของธุรกิจเหมือนน้ำไหล...น้ำไหลไปตรงไหน ตรงนั้นต้องมีปลา สิ่งที่เราจะทำก็คือ หาวิธีจับปลาให้ได้
“วันนี้จับไม่ได้ พรุ่งนี้ต้องจับได้แน่นอน เหมือนเทรนด์ของโลกเวลานี้หันเหมาทางธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจสุขภาพ และความงาม รวมถึงการลงทุน เพราะฉะนั้นการตัดสินใจเลือกทำธุรกิจของอาร์เอส จึงไม่จำกัด อยู่แต่ในที่ที่เราคุ้นเคย หรือไปรอจับปลาจำนวนมากในจุดที่น้ำไหลไปถึง”
การตัดสินใจที่จะปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจ เป็นเรื่องที่เฮียฮ้อเจอมาตลอดชีวิตการทำงาน เริ่ม จากตัดสินใจเปลี่ยนธุรกิจค่ายเพลงไปทำโทรทัศน์ ทำทีวีดาวเทียม ทำฟุตบอล
แต่เมื่อโลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน เขาจึงปรับความคิดและมุมมองใหม่เพื่อให้ทันโลก และอยู่รอดอย่างมีนัยสำคัญ
“เท่าที่รู้ บริษัททั่วโลกส่วนใหญ่ที่ล้มเหลว ไม่ใช่เพราะคู่แข่ง แต่เพราะเปลี่ยนตัวเองไม่ทันโลก” เฮียฮ้อให้ข้อคิด
“อายุ” ไม่ใช่ข้อจำกัดของธุรกิจ
ข้อจำกัดของการเปลี่ยนผ่านธุรกิจจากยุคหนึ่งสู่อีกยุคหนึ่ง สำหรับเขากลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของอายุ หรือเจเนอเรชั่นที่แตกต่างกัน ที่ทุกบริษัทต่างก็เจอ แต่เฮียฮ้อมองพนักงานของเขาที่มันสมอง วิสัยทัศน์การทำงาน และความสามารถในการปรับตัว
เพราะทรัพยากรที่อาร์เอสมีอยู่ตั้งแต่ในวันแรก จนถึงวันนี้ก็ยังอยู่เหมือนเดิม
สิ่งที่ทำให้เราต่างกับทุกคนในวันนี้ก็คือ “ทัศนคติในการทำงาน” คนของอาร์เอสไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง และมีความกล้าที่จะลอง ขยันลงมือทำ และเรียนรู้จากความผิดพลาด ที่สำคัญอาร์เอสทำงานเป็นทีม เพราะเชื่อว่า ทุกคนเรียนรู้ได้ถ้าได้รับโอกาส
“เหนือสิ่งอื่นใด คุณต้องเชื่อมั่นในตัวเองก่อน และไม่ยึดติดกับอดีต สิ่งที่ทุกคนเคยทำมาก่อน ก็ไม่เคยการันตีว่ามันจะพาเราไปสู่ความสำเร็จในวันข้างหน้าได้ ความสำเร็จในอดีตมีค่าก็จริง แต่ก็แค่เรื่องเล่าสู่กันฟัง...
วันนี้ ความสำเร็จในอดีตไม่ใช่คำตอบสุดท้ายว่าเราจะทำสำเร็จได้อีกครั้งในอนาคตไหม ฉะนั้นทุกคนจึงต้องคิดทุกอย่างด้วยเหตุผล และไม่ยึดติดกับเรื่องใด แม้แต่ธุรกิจบันเทิงที่คุ้นเคยมาก เมื่อคิดว่าใช่แล้ว ก็ต้องเชื่อที่จะเดินไปข้างหน้า อย่ากลัวเพียงเพราะสิ่งนั้นยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน”
แม้วันนี้หลายๆบริษัทบอกว่า ต้องการคนรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 30 ปี ร่วมทำงาน เพราะเชื่อว่าคนรุ่นใหม่จะมีความคิดแปลกๆใหม่ๆนำสมัย รู้เรื่องเทคโนโลยีมากกว่า
“แต่สำหรับผม ผมกลับไม่มองอย่างนั้น ถ้าเราให้โอกาสคนรุ่นเก่า หรือคนที่อายุ 60 ปี ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆกับคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่าก็สามารถทำอะไรต่ออะไรได้ไม่แพ้คนรุ่นใหม่ ว่ากันตามจริง หลายๆเรื่องที่คนรุ่นเก่าทำได้ คนรุ่นใหม่กลับทำไม่ได้ด้วยซ้ำเพราะขาดประสบการณ์ และไม่มีความอดทน”
การทำธุรกิจในยุคดิจิทัล ถ้ากล้าที่จะเปลี่ยน กล้าที่จะเสี่ยง ก็ประสบความสำเร็จได้
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาร์เอส 1 ใน 5 อันดับแรกที่ขึ้นมาผงาดอยู่บนชาร์ตของทีวีดิจิทัล ให้ข้อคิดอีกข้อทิ้งท้ายกับเรา.
ทีมเศรษฐกิจ