Prada ตกลงเข้าซื้อกิจการ Versace เสริมพอร์ตโฟลิโอ ด้วยมูลค่า 1.25 พันล้านยูโรหรือประมาณ 1.41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก Capri Holdings กลุ่มแฟชั่นหรูระดับไฮเอนด์ที่มีแบรนด์ยอดนิยมในเครืออย่าง Jimmy Choo และ Michael Kors
ซึ่งก่อนหน้านี้เคยซื้อแบรนด์ Versace ไว้ในปี 2018 ด้วยมูลค่า 1.8 พันล้านยูโรหรือประมาณ 2.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าขาดทุนราว 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากราคาที่ซื้อมาเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามราคาสุดท้ายอาจมีการปรับตามเงื่อนไขของดีล
การตกลงซื้อกิจการในครั้งนี้นับเป็นดีลที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ 112 ปีของ Prada ที่เสริมแกร่งสถานะกลุ่มแฟชั่นรายใหญ่ที่สุดของอิตาลีในขณะนี้ และยังนับเป็นก้าวสำคัญที่วงการแฟชั่นจับจ้อง
เพราะเป็นการนำ Versace ในฐานะแบรนด์อิตาเลียนสุดไอคอนิกด้วยดีไซน์จัดจ้านและลายพริ้นท์บาโรก “Barocco” อันโดดเด่น กลับสู่เจ้าของชาวอิตาลีอีกครั้ง พร้อมเปิดโอกาสให้แบรนด์ได้ฟื้นฟูภาพลักษณ์และยอดขาย หลังจาก Capri ไม่สามารถพลิกฟื้นธุรกิจได้ตามเป้า
แม้ Versace ยังคงเป็นชื่อที่โด่งดังระดับโลก แต่แบรนด์ก็ห่างไกลจากช่วงรุ่งเรืองในยุค 1980s และ 1990s และความพยายามของ Capri ที่จะเพิ่มรายได้ของแบรนด์เป็นสองเท่าก็ล้มเหลว โดยสไตล์ที่เคยได้รับความนิยมกลับเสื่อมความนิยมลง และการปรับขึ้นราคาสินค้าทำให้แบรนด์เสียฐานลูกค้าระดับกลางไป
ย้อนกลับไปในปี 2018 Michael Kors Holdings ซื้อกิจการ Versace ไปในราคา 1.8 พันล้านยูโรหรือประมาณ 2.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และรีแบรนด์ใหม่เป็น Capri Holdings Limited โดยมีเป้าหมายสร้างกลุ่มแฟชั่นหรูระดับโลกที่รวมทั้ง Michael Kors, Jimmy Choo และ Versace เข้าด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม Versace ภายใต้การบริหารของ Capri กลับไม่สามารถกลับคืนสู่จุดสูงสุดได้ รายงานการเงินล่าสุดของบริษัทชี้ว่า รายได้ของ Versace ลดลง 15% เมื่อเทียบปีต่อปี ในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2025 โดยเฉพาะตลาดเอเชียที่ลดลงถึง 11%
ช่วงปลายปี 2024 ข่าวลือเริ่มแพร่สะพัดว่า Capri ต้องการขายแบรนด์นี้ออกไป และนั่นทำให้การเข้าซื้อของ Prada เป็นการเคลื่อนไหวที่ทันเวลาและมีกลยุทธ์สูง เพราะไม่เพียงแต่ช่วยปลุก Versace ขึ้นมาใหม่ แต่ยังเสริมพอร์ตโฟลิโอของ Prada Group ให้แข็งแกร่งขึ้นในมิติใหม่ และจะช่วยให้ Prada มีศักยภาพในการแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมแฟชั่นหรูอย่าง LVMH และ Kering ได้ดีขึ้นอีกด้วย
ในฝั่งของ Capri Holding ระบุว่า การขาย Versace จะช่วยเสริมสถานะทางการเงินของบริษัท เพิ่มความสามารถในการซื้อหุ้นคืน และเปิดทางให้บริษัทสามารถลงทุนเพิ่มเติมในแบรนด์หลักอย่าง Michael Kors ได้
โดยหลังการประกาศขาย หุ้นของ Capri ในตลาดนิวยอร์กตกลงถึง 13% และตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นลดลงไปกว่า 66%
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า Prada มีศักยภาพในการฟื้นคืนความหรูหราให้ Versace ได้ โดยอ้างอิงจากความสำเร็จของแบรนด์ Prada หลังรุกขยายกิจการที่ทำให้บริษัทมีผลประกอบการสูงเป็นประวัติการณ์ในปี 2024 โดยมี Miu Miu ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันรายได้ และช่วยให้บริษัทรับมือกับภาวะชะลอตัวของตลาดแฟชั่นหรูทั่วโลก สร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งของกลุ่ม โดยรายได้ของกลุ่ม Prada ซึ่งรวมถึงแบรนด์ Miu Miu เติบโตถึง 17% ในปี 2024
ด้าน Andrea Guerra ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Prada กล่าวว่า “การเข้าซื้อ Versace ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนากลุ่มธุรกิจ โดยเพิ่มมิติใหม่ที่แตกต่างและเสริมกัน” อย่างไรก็ตาม ราคาสุดท้ายของการซื้อกิจการนี้อาจมีการปรับเปลี่ยนเมื่อปิดดีลหรือหลังจากนั้น โดยจะพิจารณาจากทุนหมุนเวียนและหนี้สุทธิของ Versace ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2025
ดีลนี้ถือเป็นการสวนกระแสในวงการแฟชั่นอิตาลีที่มักเห็นแบรนด์ท้องถิ่นถูกซื้อโดยกลุ่มทุนต่างชาติ อาทิ LVMH ของฝรั่งเศสซึ่งเป็นเจ้าของ Louis Vuitton, Christian Dior รวมถึงแบรนด์อิตาเลียนอย่าง Fendi และ Loro Piana ขณะที่ Kering เป็นเจ้าของ Gucci และถือหุ้นใน Valentino
แม้ Prada จะขึ้นชื่อเรื่องความมินิมัล เนี้ยบ ไอเดียเฉียบ ส่วน Miu Miu ก็มีกลิ่นอายขบถและวัยรุ่น แต่ยังไม่มีแบรนด์ในเครือไหนที่นำเสนอความเซ็กซี่อย่างชัดเจน และ Versace ก็เข้ามาเติมช่องว่างนี้ได้อย่างลงตัว การเข้ามาของ Versace จะช่วยเพิ่มความหลากหลายให้แก่ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม โดยสิ่งที่น่าจับตาคือ Prada จะปั้น Versace แบบเดียวกับที่เคยทำกับ Miu Miu ได้หรือไม่
ทั้งนี้ Versace ได้แต่งตั้ง Dario Vitale อดีตผู้บริหารจาก Miu Miu เพื่อเข้ารับตำแหน่งประธานฝ่ายสร้างสรรค์คนใหม่แทน Donatella Versace ที่ครองตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 1997 ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม Miuccia Prada ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ซึ่งมีชื่อเสียงจากสไตล์ “ugly chic” และทำให้หลายคนคาดหวังเรื่องอิทธิพลด้านดีไซน์ จะไม่เข้ามามีบทบาทด้านความคิดสร้างสรรค์ของ Versace โดย Lorenzo Bertelli บุตรชายคนโตของ Miuccia ที่เข้ามารับช่วงต่อและมีบทบาทด้านการบริหารฝ่ายการตลาดและความยั่งยืน อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันดีลซื้อกิจการ Versace ครั้งนี้ ระบุว่า “ Miuccia Prada จะเกี่ยวข้องเฉพาะในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของบริษัทเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องในแง่ของครีเอทีฟใดๆ”
อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 11 เมษายน 2025
อ้างอิงข้อมูลจาก Bloomberg
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney