สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่เริ่มต้นในปี 2561 ยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยล่าสุด สหรัฐฯ เสนอเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 60% ส่งผลให้การส่งออกของจีนไปยังสหรัฐฯ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ความตึงเครียดยังขยายไปสู่การแข่งขันด้านเทคโนโลยีและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทั้งสองประเทศยังคงใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทย
ล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา สองแบรนด์แฟชั่นชื่อดังอย่าง Calvin Klein และ Tommy Hilfiger กำลังเผชิญกับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากกระทรวงการคลังของจีนได้ขึ้นบัญชี PVH ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของสองแบรนด์เสื้อผ้าดังกล่าวจากสหรัฐฯ ไว้ใน "บัญชีรายชื่อหน่วยงานที่ไม่น่าเชื่อถือ" ซึ่งเปรียบเสมือนบัญชีดำของบริษัทต่างชาติที่ถูกคว่ำบาตร
กระทรวงพาณิชย์ของจีน ระบุว่า การตัดสินใจครั้งนี้มีสาเหตุมาจากการที่ PVH ระงับการนำเข้าฝ้ายจากซินเจียง ซึ่งเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ มาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ จีนยังได้ขึ้นบัญชีดำบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของสหรัฐฯ อย่าง Illumina Inc. ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการกีดกันอุตสาหกรรมของจีน โดยมาตรการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายทางเศรษฐกิจชุดใหญ่ที่รัฐบาลจีนประกาศใช้เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ หลังจากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เรียกเก็บภาษี 10% ต่อสินค้านำเข้าทั้งหมดจากจีน ด้วยเหตุผลที่ว่า PVH ได้เลือกปฏิบัติและแทรกแซงการดำเนินงานของบริษัทจีน
การถูกขึ้นบัญชีดำนี้อาจส่งผลให้ PVH ถูกจำกัดการทำธุรกิจในจีน โดยอาจเผชิญกับมาตรการทางเศรษฐกิจ เช่น การถูกห้ามทำธุรกรรมกับบริษัทจีน การจำกัดการเข้าถึงตลาด หรือการถูกเรียกค่าปรับจากรัฐบาลจีน การเคลื่อนไหวครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการที่จีนเริ่มใช้มาตรการตอบโต้บริษัทตะวันตกที่ปฏิบัติตามนโยบายของสหรัฐฯ อย่างเข้มข้นขึ้น
แซม ไอเด (Sam Eide)รองประธานของ Asia Group บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียด้านจีน กล่าวว่า “บัญชีรายชื่อหน่วยงานที่ไม่น่าเชื่อถือของจีนเดิมทีมักใช้กับบริษัทด้านอุตสาหกรรมกลาโหมของสหรัฐฯ หรือบริษัทที่มีบทบาทในด้านเทคโนโลยีความมั่นคง ทำให้กรณีของ PVH เป็นหนึ่งในตัวอย่างแรกที่แบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคต้องเผชิญกับมาตรการนี้
ประเด็นเรื่องฝ้ายซินเจียงเป็นข้อพิพาทที่ส่งผลกระทบต่อแบรนด์แฟชั่นระดับโลกมาอย่างต่อเนื่อง โดยสหรัฐฯ ได้ออกกฎหมายห้ามนำเข้าสินค้าที่ผลิตจากซินเจียง โดยจีนอ้างว่าสถานที่เหล่านี้เป็นเพียง "ศูนย์ฝึกอบรมวิชาชีพ" และในปี 2562 เคยประกาศว่าสถานที่ดังกล่าวถูกปิดไปแล้ว
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่จีนยังคงปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง ซึ่ง PVH เป็นหนึ่งในบริษัทที่ประกาศเลิกใช้ฝ้ายจากภูมิภาคดังกล่าว ส่งผลให้รัฐบาลจีนตอบโต้ด้วยการขึ้นบัญชีดำบริษัท PVH ไม่ใช่แบรนด์แรกที่เผชิญกับมาตรการนี้
ก่อนหน้านี้แบรนด์ระดับโลกอย่าง Nike, Adidas และ H&M ก็เคยถูกคว่ำบาตรจากตลาดจีน หลังจากออกแถลงการณ์เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว จีนเป็นตลาดสำคัญของอุตสาหกรรมแฟชั่นระดับโลก แม้ว่าการขึ้นบัญชีดำครั้งนี้ไม่ได้ทำให้ PVH ต้องถอนตัวจากจีนโดยสิ้นเชิง แต่ก็อาจส่งผลต่อยอดขายและความสามารถในการดำเนินธุรกิจในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ผู้บริโภคชาวจีนให้ความสำคัญกับการสนับสนุนแบรนด์ที่มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับประเทศ
นักเศรษฐศาสตร์จาก Euromonitor ให้ความเห็นว่า “หาก PVH ไม่สามารถสร้างกลยุทธ์รับมือกับการคว่ำบาตรในจีนได้ บริษัทอาจต้องพึ่งพาตลาดอื่นเพื่อชดเชยยอดขายที่ลดลง ซึ่งอาจเป็นความท้าทายที่ยากในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน”
นอกจากนี้ แซม ไอเด ยังระบุเพิ่มเติมว่า แม้ PVH จะมีสถานะที่สำคัญในตลาดจีน แต่ไม่ได้เป็นบริษัทที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนในระดับใหญ่เท่ากับแบรนด์สหรัฐฯ รายอื่น เช่น Nike อย่างไรก็ตาม มาตรการของจีนอาจกระทบต่อธุรกิจของ PVH อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากในปี 2566 จีนมีสัดส่วนรายได้ 6% และกำไร 16% ของบริษัท ด้านสเตฟาน ลาร์สสัน ซีอีโอของ PVH ย้ำว่าจีนยังคงเป็นตลาดสำคัญ และบริษัทจะเดินหน้าสร้างการรับรู้แบรนด์เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจของ Calvin Klein และ Tommy Hilfiger ในภูมิภาคต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก CNN
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -