สถานการณ์โควิด-19 รุนแรงขึ้นเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในฝั่งยุโรปและอเมริกา มาตรการการป้องกันส่วนบุคคลที่ส่งผลถึงส่วนรวม ชุมชน และสังคม เพื่อลดการระบาดของโรค ที่ถูกนำมาใช้มาตรการหนึ่งก็คือ การกักกัน หรือการกักตัวเอง ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Quarantine ซึ่งเป็นเรื่องง่าย แต่ก็ยังทำยาก เพราะมีทั้งคนที่ไม่เข้าใจและฝ่าฝืน

ทำไมต้อง 14 วัน...ใครบ้างต้องกักตัวเอง...การกักตัวต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

สารพัดความสงสัยที่ต้องหาคำตอบ...

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า การกักกันหรือกักตัวก็เพื่อสังเกตการเริ่มป่วย ไม่ใช่เพราะเป็นคนป่วย อาจจะเป็นคนที่มีสุขภาพดี แต่มีความเสี่ยงที่อาจจะมีการสัมผัส ที่เรียกว่า Expose กับคนที่ป่วยในช่วงที่มีการแพร่เชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อถ้าบุคคลที่มีสุขภาพดีคนนั้นเกิดมีการติดเชื้อขึ้นมา

เหตุผลที่ต้อง 14 วัน คุณหมอสุวรรณชัย บอกว่า เหตุผลที่ต้อง 14 วัน เพราะเป็นระยะของการสังเกตอาการ ซึ่งในกรณีของโคโรนา ไวรัส 2019 หรือ โควิด-19 มีระยะฟักตัวของโรคตั้งแต่ 2-14 วัน ดังนั้น การเฝ้าสังเกตอาการก็จะอยู่ในช่วงระยะฟักตัวของโรค คือ 14 วัน

...

“จุดประสงค์จริงๆของการกักตัว ก็เพื่อดูแลและควบคุมผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือผู้เดินทางกลับจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง ที่อยู่ในข่ายต้องกักตัวเพื่อสังเกตการเริ่มป่วยและถ้ามีอาการป่วย ก็จะต้องแยกตัวออกจาก คนอื่นทันที ที่เรียกว่า isolation เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ”

อธิบดีกรมควบคุมโรคให้รายละเอียดของคนที่จำเป็นต้องกักตัว ว่า คนที่ต้องกักตัว คือผู้ที่เข้าเกณฑ์การเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หลักๆ มีอยู่ 2 กลุ่มคือ 1.ผู้ที่มีความใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อหรือผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงสูง และ 2.ผู้เดินทางมาจากเขตติดโรคติดต่ออันตรายทุกคน

สำหรับพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคอย่างต่อเนื่องหรือพื้นที่พบผู้ป่วยตามรายงานขององค์การอนามัยโลก ที่ใครก็ตามซึ่งเดินทางมาจากประเทศเหล่านี้ จำเป็นต้องกักตัวเอง มีทั้งหมด 29 ประเทศ คือ ออสเตรีย เบลเยียม มาเลเซีย แคนาดา โปรตุเกส บราซิล เช็ก อิสราเอล ออส-เตรเลีย เกาะไอร์แลนด์ ปากีสถาน ฟินแลนด์ ตุรกี กรีซ ชิลี ลักเซมเบิร์ก โปแลนด์ เอกวา-ดอร์ ฝรั่งเศส สเปน อเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ สวีเดน อังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น (บางเมือง)

นพ.สุวรรณชัย บอกว่า กรมควบคุมโรคได้จัดทำข้อมูล “How to...คุมไว้สังเกต ณ ที่พักอาศัยและแนวทางปฏิบัติ” สำหรับผู้ที่ต้อง “กักตัวเอง” จะได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เริ่มจาก...

1.หลีกเลี่ยงใกล้ชิดผู้อื่นโดยเฉพาะผู้ป่วยและผู้สูงอายุ

2.หยุดเรียนหรือทำงาน อาจใช้วิธีทำงานที่บ้าน หรือที่เรียกว่า WFH รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ

3.ปิดปากและจมูกด้วยกระดาษทิชชูทุกครั้งที่ไอ จาม หากไม่มีกระดาษทิชชู ให้ใช้ต้นแขนด้านในหรือข้อศอกตัวเองแทน สิ่งสำคัญคือห้ามไอจามใส่ฝ่ามือตัวเอง

...

4.ห้ามกินอาหารและใช้ภาชนะร่วมกับผู้อื่น ควรแยกของใช้ส่วนตัว ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว หมอน ผ้าห่ม แก้วน้ำ เป็นต้น

5.สวมหน้ากากอนามัยและอยู่ห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตร

6.แยกห้องนอน

7.ทำความสะอาดที่พักและของใช้

8.ล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ และสุดท้าย

9.ทิ้งหน้ากากอนามัยหรือกระดาษทิชชูที่ใช้แล้วให้ถูกวิธี โดยทิ้งในถุงพลาสติก ปิดถุงให้สนิทมิดชิดก่อนทิ้งลงถังขยะที่ปิดมิดชิดและล้างมือด้วยสบู่และน้ำนานประมาณ 15-20 วินาที หรือแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไปทันที

อธิบดีกรมควบคุมโรคบอกว่า เรื่องสำคัญที่ผู้ “กักตัวเอง” ต้องทำ คือ การสังเกตอาการ โดยการวัดอุณหภูมิร่างกายของตัวเองและจดบันทึกไว้เป็นประจำทุกวัน หากมีไข้เกิน 37.5 องศาเซลเซียส ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ หรือมีอาการป่วยอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรพบแพทย์ทันทีและแจ้งให้เจ้าหน้าที่พนักงานควบคุมโรคติดต่อหรือหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ทราบ

“ขอย้ำครับว่าการกักตัวเองเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยลดและยับยั้งการแพร่กระจายของ “โรคโควิด-19” ได้ ประชาชนทุกท่านที่เข้าข่ายต้อง “กักตัวเอง” ควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อจะได้ไม่เป็นทั้งผู้แพร่และผู้รับเชื้อ เพื่อเราทุกคนร่วมกัน! หยุดเชื้อเพื่อชาติ” นพ.สุวรรณชัยทิ้งท้าย.

...