(ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว) ต้องยอมรับว่าการประกาศใช้แผนพัฒนาประเทศนับตั้งแต่แผนฯฉบับที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2504 เป็นต้นมา ได้นำความเจริญมาสู่ประเทศไทย โดยส่วนรวมอย่างน่าพอใจ
แต่ในขณะเดียวกันก็มีผลกระทบในเชิงลบเกิดขึ้นไม่น้อย แก่บางเมืองหรือบางส่วนของประเทศอันเป็นผลจากแนวทางและนโยบายใหม่ๆของการพัฒนา
โดยเฉพาะการเร่งรัดก่อสร้าง “โครงสร้างพื้นฐาน” ที่เรียกว่า “ถนน” ไปทั่วประเทศไทย นั้นได้เปลี่ยนนโยบายการคมนาคมและการขนส่งของประเทศจาก “ทางน้ำ” ไปสู่ “ทางบก” อย่างสมบูรณ์แบบนับแต่นั้นมา
การคมนาคมขนส่งทางน้ำค่อยๆถดถอยลงและในที่สุดก็ยุติบทบาทอย่างสิ้นเชิง ในหลายๆ จังหวัด รวมทั้งปากน้ำโพ ที่เคยเป็น “ชุมทาง” ของการเดินเรือในลำน้ำเจ้าพระยาสู่ลำน้ำปิงและลำน้ำน่านในภาคเหนือ ก็หนีไม่พ้น
ไม่เพียงแต่การสูญเสียความเป็น “ชุมทาง” ของการขนส่งทางน้ำไปเท่านั้น...จากการที่ในห้วงเวลาต่อมามีการใช้รถยนต์มากขึ้น ทั้งการขนส่งการโดยสาร และรถส่วนตัว...ยังเป็นผลทำให้การจราจรขึ้นสู่ภาคเหนือเริ่มติดขัดอย่างหนัก ขณะเดินทางผ่านตัวเมืองปากน้ำโพนั่นเอง
รัฐบาลจึงต้องตัดสินใจสร้างถนน “อ้อมเมือง” และตัดถนนสายใหม่ๆจากภาคกลางเฉียดผ่านนครสวรรค์ขึ้นสู่พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และสู่ภาคเหนือ เป็นคู่ขนานอีกสายหนึ่งในเวลาต่อมา
ทำให้ “ปากน้ำโพ” ที่เคยเป็น “เมืองเอก” ค่อยๆกลายเป็น “เมืองอับ” เมื่อผู้คนจากต่างถิ่น แวะมาเยี่ยมเยียนน้อยลงและน้อยลง
...
สถานการณ์ค่อยๆปรากฏชัดเจนขึ้นจนคนรักปากน้ำโพกลุ่มหนึ่งสังเกตพบ...และตัดสินใจที่จะต้องหาทางทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อช่วยให้เมืองที่พวกเขาเกิดและรักเมืองนี้ ไม่กลายเป็นเมืองอับอย่างที่กำลังเกิดขึ้น
การระดมสมองของพวกเขาโดยการสนับสนุนของผู้บริหารระดับสูงของเทศบาลนครนครสวรรค์เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 14-15 ปีที่แล้ว และจบลงด้วยความคิดที่ว่า ชาวปากน้ำโพจะต้องทำอะไรเพิ่มเติมสักอย่างหรือสองอย่าง เพื่อสร้างแรงจูงใจและดึงดูดให้คนไทยที่เดินทางขึ้นเหนือ มีความประสงค์จะแวะเข้าเมืองบ้าง
เพราะจะหวังพึ่งเพียง “บึงบอระเพ็ด” “เขากบ” หรือสถานที่ท่องเที่ยวอีก 2-3 แห่งเท่าที่มีอยู่...เห็นจะไม่พอเสียแล้ว
ผลจากการระดมสมองมาลงเอยที่ว่า... จังหวัดนครสวรรค์ของพวกเขามี “จุดเด่น” ที่คนไทยทั้งประเทศรู้จักกันดีอยู่แล้ว เพราะร่ำเรียนมาในวิชาภูมิศาสตร์ตั้งแต่เด็กๆ...นั่นก็คือ “การเป็นต้นกำเนิด” ของแม่น้ำเจ้าพระยา
“ทำไมเราไม่หยิบพื้นที่อันเป็นจุดรวมของแม่น้ำสายเลือดหลักของประเทศไทยสายนี้ขึ้นมาเป็นจุดขายของจังหวัดเราล่ะ?” พวกเขาสรุป
เป็นที่มาของการตัดสินใจจัดทำโครงการพัฒนา “เกาะยม” อันเป็นพื้นที่สามเหลี่ยมบริเวณต้นน้ำเจ้าพระยา ด้วยการเข้าซื้อและขอบริจาคพื้นที่จากผู้เป็นเจ้าของดั้งเดิม ในบริเวณดังกล่าวจนได้อาณาบริเวณครบถ้วนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ประกอบกับได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จำนวน 117 ล้านบาทเศษ มาสมทบกับเงินกองทุนที่ชาวปากน้ำโพร่วมแรงร่วมใจกันบริจาคล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว ทำให้เดินหน้าก่อสร้างได้อย่างจริงจัง ตั้งแต่ พ.ศ.2557 และเริ่มสำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง เปิดให้ประชาชนเข้าชม “สิ่งปลูกสร้างแห่งความฝัน” ได้ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา
ถามว่า ณ ปัจจุบันนี้เมื่อท่านผู้อ่านท่านใดท่านหนึ่งเดินทางไปถึงที่นั่นจะได้พบได้เห็นหรือได้สัมผัสอะไรบ้าง?
คำตอบแรกก็คือ...ท่านจะได้พบและได้เห็นแม่นํ้า 2 สาย 2 สี “ปิง” และ “น่าน” ไหลเอื่อยมาบรรจบกันเป็นแม่นํ้าเจ้าพระยาต่อหน้าท่านอย่างถนัดชัดเจน
นี่คือภาพที่ท่านผู้อ่านจำนวนไม่น้อยเคยฝันเคยจินตนาการไว้ตั้งแต่เด็กๆ เมื่อได้ยินคุณครูภูมิศาสตร์อธิบายถึงกำเนิดแม่นํ้าเจ้าพระยา...และบัดนี้มาปรากฏอยู่ต่อหน้าของท่านแล้ว
และถ้าท่านยืนอยู่ที่นี่ไปจนถึงตอนใกล้ๆคํ่า ท่านก็จะมีโอกาสได้เห็นภาพ “พระอาทิตย์ตก” ที่ต้นนํ้าเจ้าพระยาที่สวยงามไปอีกแบบหนึ่ง
สำหรับตัวอาคารที่ก่อสร้างขึ้นอย่างอลังการเป็นรูปร่างคล้ายๆสายนํ้าที่ลอยอยู่กลางอากาศนั้น ท่านผู้อ่านสามารถเดินขึ้นไปหยุดยืนชมวิวหรือชมทัศนียภาพรอบๆได้แบบ 360 องศา บนสายนํ้าพิเศษสายนี้ได้เลย
ส่วนภายในอาคารก็จะมีห้องนิทรรศการสำหรับเรียนรู้ประวัติความเป็นมาทั้งของจังหวัดนครสวรรค์และแม่นํ้าเจ้าพระยาเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักกับ “จังหวัด” ที่เป็นต้นกำเนิดของแม่นํ้าสายเลือดหลักแห่งสยามมากขึ้น ฯลฯ
ขอยกตัวอย่างไว้เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ
ก็มาถึงคำถามสุดท้ายว่า ทำไมถึงเรียกที่นี่ว่า “พาสาน” ล่ะ?
คำตอบอยู่ที่แผ่นป้ายแผ่นหนึ่งปักอยู่ใกล้ๆ ตัวอาคารแห่งนี้นั่นเอง
“พาสาน มาจาก ผสาน...การรวมตัวกันของแม่นํ้า 4 สาย (ปิง วัง ยม น่าน) ซึ่งค่อยๆ ผสาน จาก 4 เป็น 2 และจาก 2 (ปิงและน่าน) รวมกันเป็นหนึ่งคือแม่นํ้าเจ้าพระยา ซึ่งเป็นที่แห่งการ ผสมผสาน วัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่แตกต่างกันตามบริบทริมแม่นํ้าตลอดสาย”
สรุปก็คือ จากคำว่า ผสาน ชาวปากน้ำโพ แผลงมาเป็น พาสาน ก็เก๋ไปอีกแบบหนึ่ง
...
ในฐานะคนนครสวรรค์รุ่นเก่าคนหนึ่งขอขอบคุณคนนครสวรรค์รุ่นปัจจุบันทุกคนที่ต่อสู้และฝ่าฟันจนเกิด “พาสาน” ขึ้น ณ วันนี้
แน่นอนเราไม่มีทางที่จะย้อนไปสู่ภาพที่เราเคยเป็นในอดีตได้อีกแล้ว แต่เรายังคงสามารถที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างเข้มแข็ง
ขอให้ “พาสาน” แลนด์มาร์กใหม่ของปากนํ้าโพจงประสบความสำเร็จในการเดินหน้า “นำพา” ปากนํ้าโพให้ยังคงเป็นที่ “รู้จัก”, “ที่รัก” และ “ที่ประสงค์” จะไปเยือนสักครั้งหนึ่งในชีวิต ของคนไทยทั้งประเทศ
แค่นี้ก็โอเคแล้วครับ.
“ซูม”