ในปี พ.ศ.2560 มีการค้นพบวัตถุที่เรียกว่า PSR J0952–0607 และขนานนามว่า “แม่ม่ายดำ” ซึ่งเปรียบคล้ายแมงมุมแม่ม่ายดำเพศเมียที่จะกินตัวผู้ที่ตัวเล็กกว่าหลังการผสมพันธุ์ ซึ่งนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ในสหรัฐอเมริกา ที่ศึกษาระบบแม่ม่ายดำมานานมองว่า การตรวจสอบ PSR J0952–0607 ที่เป็นระบบดาวคู่ (binary system) จะไขปริศนาว่า ดาวนิวตรอนหรือพัลซาร์สามารถเติบโตขนาดใหญ่ได้อย่างไร
นักดาราศาสตร์เผยว่าการสอดแนมดู “แม่ม่ายดำ” PSR J0952-0607 ที่ซุ่มซ่อนอยู่ในอวกาศห่างโลก 3,000 ปีแสง โดยใช้กล้องโทรทรรศน์เค็ก ที่มีความละเอียดอ่อนในหอดูดาว ดับเบิลยู.เอ็ม.เคกค์ บนภูเขาไฟเมานาเคอา ในฮาวาย ก็พบว่า PSR J0952-0607 เป็นแม่ม่ายดำที่ทำลายสถิติ ที่กลืนกินดาวคู่หูเกือบทั้งหมด ทำให้มันเป็นดาวนิวตรอนที่หนักที่สุดที่รู้จักจนถึงตอนนี้ โดยมีน้ำหนักมากกว่าดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะของเราถึง 2 เท่า และวัตถุดังกล่าวยังหมุน 707 ครั้งต่อวินาที ทำให้เป็นหนึ่งในดาวนิวตรอนที่หมุนเร็วที่สุดในทางช้างเผือก
ทั้งนี้ สเปกโตรมิเตอร์การถ่ายภาพความละเอียดต่ำของหอดูดาวดังกล่าว บันทึกแสงที่มองเห็นได้จากดาวข้างเคียง ที่ถูกกลืนกินนั้นแตกเป็นเสี่ยง มีการเรืองแสงเพราะความร้อนสูง ซึ่งดาวข้างเคียงนั้นมีขนาดเท่ากับดาวเคราะห์ก๊าซขนาดใหญ่ หรือมีมวลมากกว่าดาวพฤหัสบดีถึง 20 เท่า ทว่าด้านข้างของดาวข้างเคียงที่หันหน้าเข้าหาดาวนิวตรอน ได้รับความร้อนถึง 5,927 องศาเซลเซียส เรียกว่าร้อนและสว่างพอที่จะมองเห็นได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์.