มัมมี่ของราชวงศ์ของอียิปต์ทั้งหมดที่พบในศตวรรษที่ 19 และ 20 ได้เปิดให้ศึกษามายาวนาน ทว่านักอียิปต์วิทยาไม่เคยกล้าพอที่จะเปิดดูมัมมี่ของฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่ 1 ไม่ใช่ติดที่คำสาปในตำนานใดๆ แต่เพราะร่างของฟาโรห์องค์นี้ถูกห่อหุ้มไว้อย่างดี ประดับมาลัยดอกไม้สวยงาม ปกปิดด้วยหน้ากากที่เหมือนจริงอย่างวิจิตรบรรจง และฝังด้วยหินหลากสี
ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ด้านรังสีวิทยาจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยไคโร ได้ตรวจดูมัมมี่ของฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่ 1 เป็นครั้งแรกในรอบ 3,000 ปี โดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 3 มิติ ซึ่งการใช้วิธีทางดิจิทัลครั้งนี้ไม่ใช่แค่เพื่อศึกษาว่าฟาโรห์พระองค์นี้ถูกทำเป็นมัมมี่และฝังพระศพอย่างไรในครั้งแรก แต่หวังจะได้ความกระจ่างเกี่ยวกับวิธีการดูแลรักษา และการถูกฝังอีก 2 ครั้งเมื่อหลายร้อยปีหลังจากการสิ้นพระชนม์ขององค์ฟาโรห์ โดยมหาปุโรหิตแห่งอามุน นักวิทยาศาสตร์เผยว่าการแกะดูมัมมี่แบบดิจิทัล นั่นคือการลอกชั้นหน้ากาก ผ้าพันร่าง และตัวมัมมี่เองในแบบเสมือนจริง
ผลที่ได้เปิดเผยว่าฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่ 1 สิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ทรงสูงประมาณ 169 เซนติเมตร มีคางแคบ จมูกแคบเล็ก ผมหยิก และฟันบนยื่นออกมาเล็กน้อย ทว่าสุขภาพฟันดี มีการทำสุนัต ส่วนร่างกายที่ถูกห่อนั้น ด้านในทรงสวมเครื่องราง 30 ชิ้นและสายคาดสีทองประดับลูกปัดทองคำอันเป็นเอกลักษณ์ ทั้งนี้ ไม่พบบาดแผลหรือการเสียพระโฉมเนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บ เพื่อจะช่วยพิสูจน์สาเหตุการสิ้นพระชนม์ ขณะที่อวัยวะภายในถูกควักออกจากการถูกทำเป็นมัมมี่ครั้งแรก แต่เอาสมองหรือหัวใจออกไปไม่ได้.
...