นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในช่วงหน้าฝนมีน้ำท่วมขังมักจะมีปัญหาสุขภาพตามมา เช่น โรคพยาธิไชเท้า โรคฉี่หนู ผื่นผิวหนังอักเสบ แมลงหรือสัตว์มีพิษกัดต่อย รวมถึงโรคผิวหนังบางโรคที่เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้ในช่วงหน้าฝน คือโรคน้ำกัดเท้า ซึ่งถือเป็นโรคที่ประชาชนไม่ควรละเลย และควรมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลตนเองอย่างถูกวิธี เพื่อลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่างๆ เพราะอาจเกิดอันตรายได้
พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยโรคน้ำกัดเท้าขอให้ปฏิบัติตัวคือ
1.เลี่ยงการแช่เท้าในน้ำนานๆ และเมื่อขึ้นจากน้ำ ให้ล้างเท้าด้วยน้ำสบู่ เช็ดเท้า ง่ามนิ้วเท้าให้แห้งอยู่เสมอ
2.ถ้ามีผื่นแดงเล็กน้อย คัน, แสบ ควรทายากลุ่มสเตียรอยด์วันละสองครั้งจนผื่นหาย
3.ถ้ามีผื่นและมีรอยเปื่อยฉีกขาดของผิว มีอาการบวมแดง ปวดเจ็บ หรือมีหนอง ซึ่งเป็นอาการติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรงขึ้นควรรีบพบแพทย์
4.ถ้าเท้าแช่น้ำนานหลายสัปดาห์ต่อเนื่องอาจจะทำให้ผิวหนังติดเชื้อราที่ง่าม นิ้วเท้าเกิดเป็นผื่นขุยเปียกขาว ควรใช้ยาทารักษาเชื้อรา
5.ถ้ามีบาดแผลควรทำแผลและทายาฆ่าเชื้อโรค
6.ควรระวังการตัดเล็บเท้าเพราะอาจทำให้เกิดบาดแผล ซึ่งจะเป็นทางเข้าของเชื้อโรคได้.