การรักษาผู้ป่วยที่มีเลือดออกในสมอง ประกอบด้วย 2 ขั้นตอนใหญ่ๆ ดังนี้
1. การให้การรักษาในช่วงเร่งด่วน ฉุกเฉิน
เป็นการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีเลือดออกในสมองในระยะเริ่มแรก เป็นการรักษาที่เร่งด่วน สามารถทำได้ทันทีที่เกิดเหตุ โดยอาศัยกลุ่มแพทย์ พยาบาลฉุกเฉิน หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกมาในการช่วยชีวิตเบื้องต้น เฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยที่มีเลือดออกในสมองหมดสติ หรือหยุดหายใจไป หลักการเบื้องต้นคือปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานหรือ CPR หมายถึง ปฏิบัติการเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นและหยุดหายใจกะทันหัน เป็นการช่วยชีวิตเบื้องต้นโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือแพทย์ เพื่อเป็นการกู้ชีพผู้ป่วยในระหว่างรอการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปโรงพยาบาล
สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถให้การช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีเลือดออกในสมองเบื้องต้น โดยการตั้งสติให้ดี อย่าสับสนลนลานจนไม่สามารถควบคุมตนเองได้ หากผู้ป่วยหมดสติและมีอาการชักเกร็งกระตุก ควรจับตัวผู้ป่วยนอนตะแคงกึ่งคว่ำ โดยให้ศีรษะคว่ำหน้าลงกับพื้น เพื่อป้องกันการสำลักเศษอาหารหรือน้ำลาย ลงไปในปอด ห้ามนำวัตถุใดๆ ใส่เข้าไปในปากของผู้ป่วยด้วยเพียงเข้าใจผิดว่าจะป้องกันผู้ป่วยกัดลิ้นของตัวเอง เพราะการนำวัตถุใดๆ ใส่เข้าไปในปากของผู้ป่วยที่หมดสติ และกำลังชักเกร็ง จะเพิ่มโอกาสของการสำลัก ทำให้ผู้ป่วยหยุดหายใจ หรือหายใจลำบากมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะสมองบวมมากยิ่งขึ้น เพราะผู้ป่วยขาดออกซิเจน อาการของผู้ป่วยจะยิ่งเลวร้ายลงไปอีก ก่อนถึงมือแพทย์ จากนั้นรีบขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง หรือโทร.ไปที่ 191 หรือ 1669 ซึ่งเป็นหมายเลขฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง
2. การให้การรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล
การให้การรักษาผู้ป่วยที่มีโรคเลือดออกในสมอง สามารถพิจารณาแยกวิธีการรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดเลือดออกในสมอง
...
2.1 การรักษาโรคเลือดออกในสมองจากการมีเส้นเลือดฝอยในสมองแตกจากความดันโลหิตสูง แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การรักษาด้วยยาและการผ่าตัด
ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีความดันโลหิตสูงในระหว่างที่มีเลือดออกในสมอง ดังนั้นการใช้ยาลดความดันโลหิตโดยการฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ ซึ่งจะต้องลดความดันโลหิตลงอย่างเหมาะสมไม่รวดเร็วจนเกินไป เพราะการลดความดันโลหิตอย่างรวดเร็ว อาจทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือดได้ นอกจากนี้ยาป้องกันชักและยาลดสมองบวม ก็มีความจำเป็นต้องให้ควบคู่กันไปด้วย ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจและข้อบ่งชี้ของแพทย์ผู้ดูแล
การผ่าตัดเพื่อลดความดันในกะโหลกศีรษะก็ยังมีความสำคัญและจำเป็นในกรณีที่ก่อนเลือดมีขนาดใหญ่มากกว่า 30 มิลลิลิตร และอยู่ในตำแหน่งในเนื้อสมองน้อย เพื่อลดความดันในกะโหลกศีรษะ สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้อย่างชัดเจน
2.2 การรักษาโรคเลือดออกในสมองจากการมีเส้นเลือดแดงโป่งพองในสมองแตก แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การผ่าตัดหนีบเส้นเลือดที่โป่งพองด้วยลวดหนีบไทเทเนียมขนาดเล็ก และการรักษาด้วยการอุดภายในหลอดเลือดด้วยขดลวดทองคำขาวผ่านการใส่สายสวนหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบ โรคเลือดออกในสมองจากการมีเส้นเลือดแดงโป่งพองในสมองแตก เป็นโรคที่มีความร้ายแรงทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตสูง การรักษาทั้ง 2 วิธีนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการแตกช้ำของเส้นเลือดแดงที่โป่งพอง เพราะหากมีการแตกซ้ำ โอกาสเสียชีวิตของผู้ป่วยจะสูงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นอาการผิดปกติทางระบบประสาทที่แสดงออกในผู้ป่วยกลุ่มนี้ขึ้นอยู่กับความเสียหายของสมอง ณ วินาทีที่มีเลือดออกจากเส้นเลือดแดงโป่งพองในสมองแตก ปัจจุบันมีการพัฒนาทางเทคโนโลยีและประสบการณ์การผ่าตัดสมองของประสาทศัลยแพทย์ ทำให้โอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มนี้มีเพิ่มขึ้น หลังจากการรักษาไม่ว่าด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งข้างต้น ซึ่งมีข้อบ่งชี้และข้อดีข้อเสียแตกต่างกันขึ้นอยู่กับดุลยพินิจและข้อบ่งชี้ของประสาทศัลยแพทย์ผู้ดูแล ผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังมีความเสี่ยงจากภาวะหลอดเลือดสมองตีบภายหลังเส้นเลือดแดงโป่งพองในสมองแตกด้วย ดังนั้นการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดของประสาทศัลยแพทย์และการเตรียมพร้อมรับภาวะแทรกซ้อนอันเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นจึงมีความสำคัญ
2.3 การรักษาโรคเลือดออกในสมองจากการมีเส้นเลือดขอดหรือปานในสมองแตก แบ่งออกเป็น 4 วิธี คือ การรักษาด้วยการผ่าตัดเอากลุ่มหลอดเลือดที่ผิดปกตินี้ออก การรักษาด้วยการอุดภายในหลอดเลือดด้วยกาวหรือวัสดุอุดอื่นๆ ผ่านการใส่สายสวนหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบ การฉายรังสีเพื่อให้เส้นเลือดฝ่อลง และการรักษาด้วยวิธีผสมผสานทั้ง 3 วิธี ปานหรือเส้นเลือดขอดที่เกิดขึ้นภายในเนื้อสมองนี้จะมีแรงดันเลือดสูงมาก เนื่องจากเกิดการต่อกันของหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำโดยตรง
2.4 การรักษาโรคเลือดออกในสมองจากการมีเลือดออกในสมองแต่ไม่พบสาเหตุในที่สุด ในปัจจุบัน ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะได้รับการวินิจฉัยโดยการฉีดสีผ่านสายสวนหลอดเลือดที่ขาหนีบอย่างน้อย 2 ครั้ง ระยะห่างกัน 2 สัปดาห์ เพื่อเป็นการยืนยันว่าไม่พบสาเหตุที่ทำให้มีเลือดออกในสมอง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจเกิดการแทรกซ้อนจากการมีเลือดออกในสมอง ได้แก่ ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมองเนื่องจากเลือดที่ออกในสมองไปอุดตันทางเดินน้ำในโพรงสมอง การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดโดยการใส่สายระบายน้ำเพื่อลดการคั่งของน้ำในโพรงสมอง เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้
2.5 การรักษาโรคเลือดออกในสมองจากการมีเลือดออกในสมองจากอุบัติเหตุ แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การผ่าตัดและการรักษาด้วยยา ภาวะเลือดออกในสมองจากอุบัติเหตุศีรษะกระแทกจะทำให้เกิดกระบวนการอักเสบของเนื้อสมอง เนื้อสมองบวม เซลล์ประสาทเสียการทำงานไป ผู้ป่วยอาจมีอาการเพียงแค่ปวดศีรษะหรืออาการรุนแรงจนหมดสติไปในที่สุดก็ได้ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองจะช่วยยืนยันการวินิจฉัยและช่วยในการวางแผนการรักษา
การรักษาโดยวิธีประคับประคองในผู้ป่วยกลุ่มนี้คือการรักษาด้วยยา ได้แก่ ยาแก้ปวด ยาลดสองบวม ยาป้องกันชัก ติดตามการรักษาด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง โดยยังไม่มีการผ่าตัดสมอง การรักษาโดยวิธีนี้ต้องอาศัยเวลาและการดูแลอย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีความจำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาลในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก หลังเกิดอุบัติเหตุเพื่อการดูแลอย่างใกล้ชิดและติดตามการรักษาด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง หลังจากนั้นหากประสาทศัลยแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ป่วยมีญาติที่เข้าใจและสามารถดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ก็อาจให้ญาติกลับไปดูแลผู้ป่วยกันต่อที่บ้านได้ ผู้ป่วยที่ได้รับการกระทบกระเทือนที่สมองจนมีเลือดออก แต่ไม่ต้องรับการผ่าตัดมักต้องใช้เวลาในการพักฟื้นนาน 1-3 เดือน และผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีพยากรณ์โรคดี มีโอกาสกลับมาใกล้เคียงปกติ
...
การรักษาด้วยการผ่าตัด จะกระทำด้วยวัตถุประสงค์เพื่อลดโอกาสการเสียชีวิตจากการเพิ่มขึ้นของความดันในกะโหลกศีรษะอย่างทันทีทันใด แต่ไม่อาจแก้ไขความพิการที่ได้เกิดขึ้นแล้วจากการฉีกขาดของเนื้อสมองที่เกิดขึ้นจากก้อนเลือดในสมอง หากผู้ป่วยสามารถรอดชีวิตได้หลังการผ่าตัด การบำบัดฟื้นฟูโดยเฉพาะกระทำโดยญาติหรือผู้ดูแลใกล้ชิดที่บ้านมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการรอดชีวิตของผู้ป่วย
การป้องกัน
หลีกเลี่ยง ลด เลิกสารเสพติดต่างๆ ได้แก่ เหล้า แอลกอฮอล์ และบุหรี่ เพราะสารเหล่านี้มีผลโดยตรงต่อหลอดเลือดในสมอง และมีผลโดยอ้อมต่อการเปลี่ยนแปลงความดันโลหิตในร่างกาย และมีผลต่อความดันในกะโหลกศีรษะต่อไป
การดูแลรักษาโรคประจำตัว ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ โรคเลือดและโรคไต โรคต่างๆ ที่กล่าวมานี้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดทั่วร่างกาย โดยเฉพาะหลอดเลือดในสมอง การควบคุมความดันโลหิตของร่างกายจะสามารถช่วยลดโอกาสเสี่ยงของการเกิดการฉีกขาดของหลอดเลือดในสมองได้อย่างชัดเจน
การสวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่จักรยานยนต์ จะช่วยลดโอกาสของการกระทบกระเทือนของศีรษะเวลาเกิดอุบัติเหตุได้
อ่านเพิ่มเติม
-----------------------------------------------------------
แหล่งข้อมูล
คู่มือความรู้ภาคประชาชน เรื่องเลือดออกในสมอง โดย ผศ.นท. นพ.สรยุทธ ชำนาญเวช