“ฤดูฝนท่องเที่ยว” หมายถึง “โลว์ซีซัน” หรือ...ช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวที่คนเดินทางมักชะลอตัวลงด้วยเพราะไม่สะดวกต่อการผจญฝน แต่สำหรับผู้ประกอบการที่ฝากผีฝากไข้ไว้กับธุรกิจประเภทนี้ ไม่พ้นต้องประสบปัญหาการลงทุน ที่ดอกเบี้ยบานเร็วกว่ารายได้

บนเส้นทางถนนสายการท่องเที่ยว สมฤดี จิตรจง ผอ.ภูมิภาคภาคเหนือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แนะทางออกเอาไว้ว่า ฤดูกาลนี้ต้องผุด “กรีนซีซัน” ขึ้นมาขายตามสถานการณ์ เช่น ขายทัวร์วัดไหว้พระปฏิบัติธรรม หรือทัวร์วัฒนธรรม ท้องถิ่นกลางชุมชนที่พอจะหนีฝนได้

มุมหนึ่งของ “ดินแดนล้านนา” จะมีการประกอบพิธีกรรมสำคัญ คือบูชา “ผีมดผีเม็ง” ของชาวไทยเชื้อสายมอญ ที่บรรพบุรุษเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเข้ามาสู่แผ่นดินล้านนานานกว่า 100 ปี จนเป็นวัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่ ชี้ชวนให้เป็นที่น่าสนใจกับนักท่องเที่ยวกลุ่มแสวงหาประสบการณ์จริง บวกกับตำนานชุมชนที่พร้อมเปิดรับคนมาเที่ยว มาเรียนรู้พิธีกรรมชาวมอญโบราณ

“เม็ง” คือคนมอญรามัญกลุ่มเดียวกันกับพระยาเจ่ง ที่ข้ามรั้วเพื่อนบ้านด้านตะวันตกของไทยเข้ามาเมื่อร้อยกว่าปีก่อน โดยมีกลุ่มหนึ่งแยกขึ้นไปยังแผ่นดินล้านนา ตั้งแต่ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เชียงรายและพะเยา ด้วยเชื่อว่าที่นั่นน้ำท่าสมบูรณ์ อุณหภูมิอากาศเหมาะแก่การขุดดินทำเกษตร จึงเลือกปักหลักทำกินและสืบสกุลกันเรื่อยมาจนถึงวันนี้

...

อนุกูล ศรีพันธ์ วัย 45 ปี ปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนา ประจำจังหวัดลำปาง เล่าให้ฟังอีกว่า “คนเม็ง” หรือ “คนมอญ” กลุ่มนี้มีคติความเชื่อเหมือนคนมอญทั่วไป คือ...นิยม

ยกย่องบูชาผีบรรพบุรุษ ที่ไม่ว่าจะเคลื่อนย้ายแหล่งทำกินไปอยู่ ณ ถิ่นใด ต้องไม่ลืมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่ปู่ย่าตายายสร้างและสะสมไว้ให้แบบรุ่นสู่รุ่นตกทอดกันมาอย่างเหนียวแน่น

โดยเฉพาะ “พิธีบูชาผีมดผีเม็ง” ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ทุกปี ทั่วแผ่นดิน 5 จังหวัดล้านนา

เครือญาติ มิตรสหาย มาร่วมงานกันพร้อมหน้า...ลูกหลานร่วมกันจุดธูปเทียน พร้อมข้าวตอกดอกไม้ไหว้บูชาหอผี ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกหัวนอนบ้าน เสร็จแล้วจะเชิญสตรีอาวุโสสูงสุดประจำตระกูล ที่นุ่งขาวห่มขาวเป็น “ผีผ้าขาว” บนศีรษะประดับด้วยใบเกี๊ยงจากต้นกระดูกไก่ดำ ไม้ประดับพื้นบ้านประจำตระกูล จากนั้นจะให้เครือญาติชวนกันรดน้ำล้างมือล้างเท้าเป็นสิริมงคลแก่คนในวงศ์ตระกูล

ภายในลานบ้านจะมีการสร้างศาลศาลาที่คำเมืองเรียกว่า “ผาม” ภายในมีเครื่องเซ่นบูชาวางเรียงราย ประกอบด้วย ไก่ หมู เนื้อกระบือชำแหละ ข้าวสุกข้าวสาร ไก่ ลาบเมือง แกงอ่อม เหล้า น้ำมะพร้าวสด กล้วย ธูปเทียน ฯลฯ และ...รายรอบ ด้วยผ้าหลากสีพาดเรียงรายไว้บนราว

ส่วนตรงกลางจะมีผ้าขาว หรือผ้าสีผูกไว้กับคานเหนือเครื่องเซ่น โดยห้อยชายลงสู่เบื้องล่าง พ่อหมอแม่หมอจะเป็นผู้เริ่มทำพิธี จุดเทียนปักไว้กับปลายดาบแล้ววนไปรอบๆพานเครื่องเซ่น

นัยว่า...เสริมให้กลิ่นอาหารโชยขึ้นไปถึงผีบรรพบุรุษได้ดื่มกินให้อิ่มหนำ

ไม่นาน...หญิงสูงวัยในตระกูล จะลุกขึ้นมาซบหน้าลงกับผืนผ้าที่ห้อยชายลงมา แล้วโน้มตัวโหนไปมาตามชายผ้า พลางบริกรรมคาถาเชิญผีมดผีเม็งประจำตระกูล ให้วิญญาณได้จุติผ่านชายผ้าเหนือคาน เชื่อมชายผ้าเบื้องล่างลงประทับร่างหญิงสูงวัย เพื่อจะได้สนทนาไถ่ถามความในกับบรรดาลูกๆหลานๆ ถึงสารทุกข์สุกดิบตามมิติแห่งความเชื่อ และความผูกพันด้านจิตวิญญาณ ที่อาจพิสูจน์ความจริงทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้...

หากแต่...พิสูจน์จากบ่อเกิดทางจิตใจให้กับทายาทเหล่านี้ได้

จน...เมื่อร่างทรงสงบนิ่ง หญิงสูงวัยคนเดียวกันก็จะออกนำลูกหลานหยิบผ้าจากราวมาโพกหัวพาดไหล่ห่มทับ แล้วฟ้อนตามจังหวะเครื่องดนตรีปี่เป่า เป็นลีลาท่าฟ้อนการทำเกษตรกรรม “ผีมด” ขณะทอดแห ยิงนกตกปลา ยิงกระรอก...กระแต

...

ไม่นานนัก...กลุ่มชายสูงวัยจะชวนกันหยิบผ้ามาพาดทับประดับร่างออกร่ายรำเพลงดาบให้สมบารมี “ผีเม็ง” ของชนชั้นนักปกครอง เจ้าผู้ครองนครเหล่าลูกหลานผีเม็ง นับเป็นการแสดงมุทิตาจิต เสริมมงคลชีวิตแก่คนในตระกูลที่ยังมีลมหายใจ ได้ใช้วันเวลาอยู่ในโลกอย่างมีความสุข โดยมีผีมดผีเม็ง ซึ่งอยู่บนโลกต่างมิติคอยให้ความคุ้มครองปลอดภัยอยู่ทุกลมหายใจ สะท้อนความเชื่อซึ่งอยู่เหนือคำว่า  “ปาฏิหาริย์”...“อาถรรพณ์” ใดๆ

“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อ โปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.

รัก-ยม