หลายคนคงเคยได้ยิน คำว่า “ฮุกกะ” (Hygge) ปรัชญาความสุขฉบับเดนมาร์ก ที่ให้ความสำคัญกับการฝึกขอบคุณสิ่งรอบตัว การชื่นชมเรื่องเล็กๆน้อยๆที่ทำให้ชีวิตมีความสุขและมีความหมาย รวมไปถึงความสัมพันธ์ ความพึงพอใจในชีวิต ที่ไม่ได้เน้นเงินทองหรือวัตถุ รวมถึงการตระหนักว่ายังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างรอบตัวที่ควรค่าแก่การรู้สึก และเดนมาร์กก็เป็น 1 ในประเทศที่ผู้คนมีความสุขด้วยปรัชญาดังกล่าว หรือ “ลากอม” (Lagom) ปรัชญาความสุขฉบับสวีเดน ที่เน้นเรื่องความพอดี ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป หรือที่ภาษาอังกฤษบอกว่า “Not too much, not too little, just right” ตามสุภาษิตของชาวสวีเดนว่า “Lagom är bäst” ความพอดี ดีที่สุด

มาถึง ฟินแลนด์ ประเทศที่กลายเป็นนิยามความสุขของโลกไปแล้ว เพราะคว้าแชมป์ประเทศที่มีความสุขที่สุดติดต่อกันถึง 6 ปี จากการจัดอันดับ ของ World Happiness Report

อะไรที่ทำให้คนฟินแลนด์กลายเป็นคนและประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก...

...

เช่นเดียวกับเดนมาร์กและสวีเดน ฟินแลนด์เองก็มีปรัชญาความสุขที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง ชื่อว่า “ซิสุ” (Sisu) ที่แปลว่า “ความกล้าหาญ” หรือ “ความอดทน” ในแบบฉบับของชาวฟินแลนด์

โดยปกติคนทั่วไป มักไม่ยอมรับความรู้สึกอ่อนแอ อ่อนล้า ของตนเอง แม้ในวันที่รู้สึกว่าแย่ แต่ถ้ามีคนถามว่า สบายดีมั้ย เกือบทั้งร้อยจะตอบว่า I am OK แต่สำหรับคนฟินแลนด์ ถ้ารู้สึกว่าไม่ OK เขาจะตอบทันทีว่า วันนี้ไม่ค่อย Ok เท่าไหร่ และนั่นคือ คำอธิบายแบบง่ายๆของคำว่า ซิสุ

แฟรงก์ มาร์เตลา นักปรัชญาชาวฟินแลนด์ อธิบายว่า ชาวฟินแลนด์เป็นพวกที่ยอมรับว่าตัวเองกำลังอยู่ในความรู้สึกด้านลบหรือช่วงเวลาที่ยากลำบากได้แบบปกติธรรมดา เพราะยึดคติที่ว่า “ไม่มีใครผ่านชีวิตมาได้โดยปราศจากโศกนาฏกรรม”

“คนฟินแลนด์ไม่รู้สึกแปลกที่จะบอกเล่าเรื่องราวความอ่อนแอ ความทุกข์ที่พวกเขาต้องเผชิญให้คนรอบๆตัวฟัง เพราะที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะทุกข์แค่ไหน อ่อนแอขนาดไหน ความสามารถในการอดทนต่อความทุกข์ต่างหาก คือ สมดุลที่แท้จริงของชีวิตที่มีความสุข” มาร์เตลาบอก

แม้คนฟินแลนด์จะทำงานหนัก แต่ก็ยึดหลักชั่วโมงทำงานที่เหมาะสม เขายอมรับกราฟแห่งความสุขที่สูงขึ้นมากกว่าเงินหรือรายได้มหาศาล ที่สำคัญคือ คนฟินแลนด์มีโอกาสใกล้ชิดธรรมชาติตามกฎหมาย ด้วยกฎ “Everyman’s Right” ที่อนุญาตให้ชาวฟินแลนด์มีสิทธิ์เข้าถึงป่า ทะเลสาบ ทะเล โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พวกเขาจึงชอบออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น แคมปิ้ง เก็บลูกเบอร์รี เก็บเห็ด ปีนเขา ขี่ม้า เล่นสกี โดยเฉพาะการว่ายน้ำในทะเลบอลติก ฯลฯ เพราะเชื่อว่า การได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติจะช่วยลดระดับความเครียดจากการทำงานและภาระหน้าที่ลงได้

นักปรัชญาชาวฟินแลนด์บอกว่า คนฟินแลนด์มีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาตัวเอง และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การเรียนรู้ที่ว่า ไม่ได้หมายถึงการเรียนรู้ภาษาใหม่หรือการฝึกทักษะที่เกี่ยวกับการทำงานเสมอไป แต่อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆที่ทำให้มีความสุข อย่างหัดทำอาหารเมนูใหม่ แล่นเรือ ที่พวกเขาเชื่อว่าได้ใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่า นอกเหนือไปจากกิจวัตรประจำวันที่น่าเบื่อหน่าย

อีกอย่างที่ทำให้คนฟินแลนด์มีความสุข คือ พวกเขาแทบไม่มีความหวาดระแวง ทำให้เมื่อมีการวัดระดับความไว้เนื้อเชื่อใจของคนฟินแลนด์แล้ว พบว่า อยู่ในระดับสูงมาก อาจเพราะเป็นประเทศเล็กๆที่การเจอคนที่รู้จักเกิดขึ้นง่ายมาก เลยทำให้คนฟินแลนด์ไม่รู้สึกเหงาหรือเดียวดาย มีงานวิจัยที่ชิ้นหนึ่งในปี 2021 ที่ระบุว่า ความเหงาถูกยกให้เป็นหนึ่งในเหตุผลด้านลบที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อความพึงพอใจในชีวิต และการมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับคนอื่นเป็นสิ่งจำเป็นในการเติมเต็มชีวิต

...

มาร์เตลายังให้ข้อมูลด้วยว่า ความจริงแล้วฟินแลนด์เป็นดินแดนแห่งความพึงพอใจอันเงียบสงบ ผู้คนไม่ได้แสดงความดีใจออกนอกหน้าตลอดเวลา หากแต่ต้องสำรวจลึกลงไปในจิตใจจึงจะพบว่าพวกเขากำลังพึงพอใจกับชีวิต อธิบายง่ายๆก็คือ ความสุขของชาวฟินแลนด์ที่แท้จริง คือ ความรู้สึกพึงพอใจในชีวิตที่มีอยู่ต่อเนื่อง เหมือนกับคำถามที่ World Happiness Report ใช้ในการสำรวจความสุขแต่ละประเทศ ที่ไม่มีคำถาม เลยว่า “คุณกำลังมีความสุขอยู่หรือเปล่า” แต่ถามว่า “คุณมีความพึงพอใจในชีวิตหรือเปล่า”

...

บางทีกาแฟแก้วที่อร่อยที่สุด อาจไม่ใช่กาแฟที่ราคาแพงที่สุด แต่เป็นกาแฟที่กลิ่นหอม เข้มกำลังดี หรือรถที่ดีที่สุด อาจไม่ใช่รถที่หรูหรา แต่เป็นรถที่เราสามารถขับไปที่ไหนก็ได้โดยไม่ต้องกังวลถึงปัญหาเล็กๆน้อยๆที่จะเกิดขึ้น และเรื่องเล็กๆแบบนี้ละ...ที่ทำให้ความสุขกลายเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงคนฟินแลนด์จนกลายเป็นคนที่มีความสุขอันดับหนึ่งของโลก

คนฟินแลนด์ไม่ได้สนใจกับการมุ่งสร้างความสำเร็จทางวัตถุหรือความร่ำรวย แต่จะให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ต่อคนรอบตัวมากกว่า พวกเขามีสุภาษิตว่า “Onni ei tule etsien, vaan eläen,” แปลว่า ความสุขไม่ได้มาจากการค้นหา แต่มาจากการมีชีวิตอยู่

มาร์เตลาเคยถูกถามหลายครั้งว่า ความหมายของชีวิตคืออะไร คำตอบของเขามีแค่ประโยคเดียว นั่นก็คือ “ความหมายในชีวิต คือ การทำให้ตัวเองมีความหมายต่อผู้อื่น ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงความหมายต่อชีวิตเท่านั้น แต่ยังเป็นหนทางนำไปสู่ความสุขอีกด้วย”.